
ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2562 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)โดยโครงการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและชุมชนต้นน้ำ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้ชักชวนสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์บนดอยแม่สลอง เพื่อเก็บข้อมูลโรงเรียนต้นแบบที่ส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคและกิจกรรมทางกายให้เกิดรู้เท่าทันสุขภาพสู่นโยบายระดับท้องถิ่น
นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่าระหว่างปี 2558-2559 พชภ.ได้สำรวจสถานการณ์สุขภาวะและพฤติกรรมของเด็กและชาวบ้านต้นน้ำในอำเภอเวียงแก่น แม่จัน แม่ฟ้าหลวงและแม่สรวย พบว่าเด็กๆจำนวนมากนิยมบริโภคขนมกรุบกรอบและหวาน มัน เค็มและมีการเคลื่อนไหวทางกายน้อยลงเพราะนิยมใช้โทรศัพท์มือถือในการเล่นเกมและเสพสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มการใช้ผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนชาติพันธุ์ที่ปนเปื้อนสารเคมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงได้ดำเนินโครงการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและชุมชนคนต้นน้ำขึ้น ด้วยการรณรงค์ลดการบริโภคขนมกรุบกรอบ พร้อมทั้งจัดตั้งแกนนำนักเรียนทำหน้าที่สื่อสารและเฝ้าระวังการบริโภครวมถึงการทำกิจกรรมทางกายภาพที่เหมาะสม รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในชุมชนเพื่อการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ในวันแรก(22 สิงหาคม)สื่อมวลชนกว่า 10 คนได้ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านพนาสวรรค์ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง และโรงเรียนบ้านรวมใจ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน เพื่อเก็บข้อมูลการทำกิจกรรมของเด็กนักเรียนที่สนับสนุนโดยโครงการ เช่น กิจกรรมทางกายที่ประยุกต์จากอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ กิจกรรมการเดินป่าเพื่อเรียนรู้ระบบนิเวศน์ กิจกรรมการทำสวนเกษตรของเด็กนักเรียน

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก สตรีและชนเผ่า มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา บนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง ได้มีการนำเสนอกิจกรรมของโครงการและเวทีเสวนาสรุปผลของโครงการ ซึ่งมีนักเรียนและชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆร่วมจำนวนมาก โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” ที่ปรึกษามูลนิธิพชภ.กล่าวว่าการกินอาหารที่ไม่ปลอดภัยและการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆเพราะมนุษย์ถูกออกแบบให้เคลื่อนไหว แต่การนั่งนิ่งๆหลายชั่วโมงทำให้เกิดปัญหาซึ่งเด็กบนดอยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติสายหมอก หากได้ปลูกผักปลูกข้าวกินเอง จะเป็นประโยชน์มากแทนที่จะเข้าร้านสะดวกซื้อและกินแต่อาหารจากร้านเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี เพื่อให้คนที่เป็นชุมชนต้นน้ำได้รักษาธรรมชาติ
“น่าจะมีการตรวจสอบอาหารที่ขายให้เด็กนักเรียนบริเวณหน้าโรงเรียน ว่ามีผลดีต่อสุขภาพหรือไม่ เพื่อให้เกิดสสุขภาพวะที่ดีของคนบนดอย”ครูแดง กล่าว
นางพณิตพิชา แซ่เติ๋น กล่าวว่าตอนนี้อาหารก็ซื้อเอาจากรถที่มาขายในหมู่บ้าน สมัยก่อนปลูกผักตามไร่ไม่ได้ใช้สารเคมี และพบว่ามีหลายครอบครัวที่ไปตรวจพบมีสารเคมีตกค้างอยู่ในร่างกายสูงมาก เพราะแม้แต่การปลูกข้าวไร่ยังใช้สารเคมีแม้แต่ตอนข้าวตั้งท้องแล้วก็ยังพ่นยากันอยู่ นอกจากนี้การออกกำลังกายก็น้อยลงเพราะมีรถมอเตอร์ไซกันแทบทุกหลัง
นายเอกราช ลือชา ผู้อำนวยการโรงเรียนปอวิทยา อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่าได้ขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยและให้ความรู้เด็กๆเรื่องขขนมกรุบกรอบ จนในที่สุดก็ห้ามขายขนมเหล่านี้โดยพยายามแสวงหาอาหารที่ปลอดภัย โดยซื้อวัตถุดิบจากเกษตรการในโครงการหลวงซึ่งไม่พอใช้ แต่ขณะนี้ได้ประสานกับเครือข่ายเรื่องอาหารปลอดภัยและขยายไปทุกโรงเรียนในอำเภอเวียงแก่น โดยจับมือกับโรงพยาบาล
“เกษตรกรบางคนสะท้อนว่า ปลูกผักปลอดสารพิษแล้วไม่สวยและไม่มีคนซื้อ แถมเหี่ยวง่าย แต่ตอนนี้เราได้รวมกลุ่มกันเพื่อทำเรื่องผักปลอดสารพิษ”นายเอกราช กล่าว
นายวุฒิพงษ์ สวรรค์โชติ นายกสมาคมลาหู่ในประเทศไทย กล่าวว่ารู้สึกกังวลในเรื่องวัฒนธรรมต่างๆของชนเผ่าที่เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในเรื่องอาหารการกินและการละเล่นต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันมีการนิยมใช้สมาร์ทโฟนกันอย่างแพร่หลาย บางครอบครัวเลี้ยงลูกด้วยมือถือแตกต่างจากสมัยก่อนเมื่อตกเย็นผู้เฒ่าผู้แก่นั่งจิบน้ำชาและพูดคุยกับเด็กๆมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านต่างๆ แต่ปัจจุบันแม้แต่โทรทัศน์เด็กๆก็ยังไม่อยากดูและมุ่งแต่จะเล่นมือถือเป็นหลัก บางรายที่ยังไม่เข้าโรงเรียนพ่อแม่ก็ให้เล่นมือถือแล้ว แม้แต่ในวงกินข้าวแทนที่จะได้คุยกันกลับนั่งดูโทรศัพท์กัน ทำให้การพูดคุยลดน้อยลงเรื่อยๆและความอบอุ่นในครอบครัวหายไป
“จริงๆแล้วไม่ใช่แค่ร้านสะดวกซื้อเท่านั้นที่เข้ามามีอิทธิพลในชีวิต แม้แต่อาหารในท้องตลอดซึ่งรับซื้อมาจากที่อื่น เราก็ไม่มั่นใจในความปลอดภัย เพราะไม่รู้ว่าเขาใช้สารเคมีหนักขนาดไหน หากมีการส่งเสริมให้เยาวชนปลูกเองทำเอง ก็จะทำให้พวกเขามั่นใจในความปลอดภัยได้ เด็กๆสามารถเอาไปบอกกับพ่อแม่ได้ว่าพืชผักที่ปลอดภัยเป็นอย่างไร เราต้องยอมรับว่าค่านิยมการใช้สารเคมียอมรับว่าพื้นที่สูงก็เหมือนที่อื่น ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ชุมชนได้ตระหนัก”นายวุฒิพงษ์ กล่าว
นายวุฒิพงษ์กล่าวว่า การสนับสนุนให้เด็กๆปลูกผักกินเอง และใช้กิจกรรมต่างๆของชนเผ่ามาเป็นการละเล่นออกกำลังกายที่โครงการเด็กดอยกินดีกำลังดำเนินการอยู่นี้เป็นเรื่องที่ดีและควรให้การสนับสนุนเพราะสื่อสารโดยเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เราปฎิเสธยาก แต่ควรใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งกรณีชุมชนลาหู่เห็นได้ชัดเจนว่าการละเล่นพื้นบ้านหายไปมาก เมื่อก่อนเราเดินจากบ้านไปทำสวนก็จะเป่าขลุ่ยเป่าแคน แต่เดี๋ยวนี้ใช้วิธีเปิดเพลงจากมือถือ ทำให้จิตวิญญาณของชุมชนหายไป ทำให้ชีวิตพวกเราถูกกลืนไปเรื่อยๆ
/////////////////