Search

เร่งผลักดัน มติ ครม. 3 สิงหา สู่ พรบ.ฟื้นฟูวิถีกะเหรี่ยงและชาวเล-หาทางออกคนอยู่กับป่า

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ที่โรงแรมไมด้า ดอนเมือง กรุงเทพฯ มีการจัดการประชุมเครือข่ายกะเหรี่ยงในประเทศไทยเพื่อผลักดันมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 โดยมีตัวแทนชาวบ้านกะเหรี่ยง ตัวแทนชาวเลอันดามัน ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ และนักวิชาการ รวมถึงภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยในช่วงบ่ายได้มีการจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “นโยบายและกฏหมายที่กระทบต่อวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและชาวเล : พหุนิยมทางกฏหมายกับการคุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าและชาติพันธุ์ในประเทศไทย”

นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า แม้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 จะเกิดขึ้นในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลหลังจากนั้นก็ยังคงมีการทำงานต่อเนื่องจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาล คสช.กลับหยุดนิ่ง ไม่ถูกหยิบยกมาเป็นยุทธศาสตร์หรือผลักดันให้เกิดกฏหมาย เพราะปัจจุบันรัฐบาลมองว่าชุมชนดั้งเดิมเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ป่า ผิดกฏหมาย เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และยังสร้างมายาคติให้สังคมไทยมีความเชื่อมที่ไม่ถูกต้องว่า ชาวบ้านเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและเป็นภัยต่อทรัพยากรป่าไม้ รัฐเอาภาพดอยหัวโล้นที่เป็นไร่ข้าวโพดมากล่าวหาชาวบ้านที่ทำไร่หมุนเวียนว่าเป็นคนทำลายป่าทั้งที่ชาวบ้านช่วยปกป้องผืนป่า และต่อสู้กับวาทกรรมว่าไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยมานานกว่า 30 ปี ดังนั้นหากสังคมต้องการก้าวไปสู่สังคมพหุวัฒนธรรม ต้องก้าวข้ามมายาคติเหล่านี้

“คนอยู่กับป่าในความหมายของ พฤ โอ่โดเชาว์ ชาวบ้านกะเหรี่ยง กับนายกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มันเป็นคนละความหมาย เพราะฉะนั้นวาทะกรรมไร่เลื่อนลอยจึงถูกสร้างเพื่อหักร้างความจริงของอีกฝั่งจนสังคมเชื่อ ชาวบ้านจึงกลายเป็นจำเลย แต่เราไม่ได้บอกว่าชุมชนในป่าทั้งหมดอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ข้อมูลวิจัยล่าสุดระบุว่า ชุมชนในป่าอย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นยังผูกพันกับวิถีทำไร่หมุนเวียน ถ้าสามารถฟื้นฟูวิถีกะเหรี่ยงได้ วิถีทำไร่หมุนเวียนก็เป็นระบบเกษตรอีกทางหนึ่งที่เหมาะสมต่อระบบนิเวศวิทยา และไม่ใช่ทำไร่ข้าวอย่างเดียว ต้องเปิดโอกาสให้ทำการเกษตรชนิดต่างๆ ที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและพื้นที่” ประยงค์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ถือเป็นกฏหมายที่มีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน และมีอำนาจบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำตาม หากเจ้าหน้าที่ละเว้นไม่ปฏิบัติตามย่อมถือว่าไม่ชอบด้วยกฏหมาย ยกตัวอย่างกรณีปู่คออี้และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินหรือบ้านบางกลอยบน ถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านไล่รื้อ ชาวบ้านได้ร่วมกันยื่นฟ้องกรอมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ชาวบ้านชนะคดี โดยมีคำสั่งชี้ว่า บ้างบางกลอยบนและใจแผ่นดินนั้น เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยไม่ได้บอกว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก อีกทั้งยืนยันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม

“กรณีกะเหรี่ยงบางกลอยจึงชี้ชัดว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 สิงหาคม ในรัฐธรรมนูญก็มีการรับรองสิทธิชุมชน การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย แม้รัฐบาลจะออก พรบ.อุทยานแห่งชาติ หรือ มติ ครม.อื่นตามหลังที่มีความขัดแย้งกับ มติ ครม. 3 สิงหาคม กฏหมายนั้นก็ต้องทิ้งไป ชาวบ้านต้องกล้าพูดยืนยันสิทธิของตัวเองว่าเป็นชุมชนพื้นถิ่นดั้งเดิม” นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แม้ในอนาคตหากผลักดันมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ออกเป็น พรบ.ได้สำเร็จ แต่เป้าหมายสำคัญคือการทำให้สังคมเกิดการยอมรับในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงและชาวเลจะทำได้หรือไม่ เพราะรัฐไทยยังไม่หลุดพ้นจากแนวคิดสมัยสงครามเย็น ที่ยังมองชุมชนบนดอยว่าเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อการถูกชักจูงเหมือนสมัยคอมมินิสต์ในอดีต ดังนั้นนโยบายต่างๆ จึงเป็นการดึงกลุ่มคนชาติพันธุ์ให้เป็นคนไทย และแม้จะเป็นคนไทยแล้วก็ยังอยู่ในสถานะพลเมืองชั้นสองของสังคม คนกรุงเทพฯ ยังมองว่าเขาเป็นคนอื่นในดินแดนตนเอง และแม้ว่าสงครามเย็นจะจบไปแล้ว แต่แนวคิดของรัฐยังมีความชาตินิยมทางทรัพยากรที่ต้องการเปลี่ยนที่ดินให้กลายเป็นป่า หรือทำให้ที่ดินกลายเป็นทุน ดังนั้นการเกษตรแบบพึ่งตนเองที่มีความยั่งยืน หรือชาวเลจับปลาเพื่อเศรษฐกิจชุมชน เป็นวิถีที่รัฐไม่ต้องการส่งเสริม เพราะต้องการให้ทรัพยากรที่ดินหรือป่าไม้กลายเป็นทุน เปลี่ยนประชาชนให้กลายเป็นแรงงานของรัฐ ทำให้ไม่แน่ใจว่าหากผลักดันมติ ครม. 3 สิงหาคม ออกเป็น พรบ.ได้สำเร็จแล้ว จะสามารถผลักดันให้ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือกระจายอำนาจให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการหรือหนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น และให้สังคมยอมรับวิถีของชาวบ้านได้มากน้อยแค่ไน

พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการตามมติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและชาวเล กล่าวว่า ในอดีตชาวกะเหรี่ยงและชาวเลคือคนสองกลุ่มหลักที่ยืนยันการกำหนดหลักเขตประเทศไทยด้านทิศตะวันตก ตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงทะเลอันดามัน ถ้าไม่มีชาวบ้านเหล่านี้ ประเทศไทยจะไม่เหลือแผ่นดินเท่าวันนี้ การรับรองวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านจึงมีความชอบด้วยกฎหมาย เพราะกลุ่มชาติพันธุ์จึงอยู่ก่อนกฎหมาย และมีกฎหมายรับรองอยู่แล้ว นอกจากนี้ในบันทึกของชาวตะวันตกในปี ค.ศ.1669 ระบุว่าชาวเลบนเกาะภูเก็ตมีการทำนา และวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงก็มีส่วนช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ จนประเทศไทยสามารถทำสัมปทานป่าไม้ได้ถึง 3 รอบ

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หากผลักดัน พรบ.ฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและชาวเลได้สำเร็จ กฏหมายฉบับนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับ 6 กระทรวง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดังนั้นกระทรวงใดจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนกฏหมายให้มีผลบังคับใช้ในทุกมิติ ซึ่งตนมองว่าในส่วนชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ก็ต้องร่วมขับเคลื่อนกับรัฐบาลด้วย สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน หากมีฏหมายฉบับอื่นที่ขัดแย้งกับ พรบ.นี้ก็ต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขด้วย หรือต้องเชิดชูชาวบ้านที่มีวิถีอนุรักษ์ป่า เพื่อเปลี่ยนแนวคิดรัฐบาล เปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมและแบ่งปันผลกระโยชน์อย่างเป็นธรรม

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →