
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ศ.ยศ สันตสมบัติ นักวิชาการจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าทีมวิจัยในชื่อหนังสือ “มังกรหลากสี” ได้ปาฐกถานำ เรื่องอาเซียนใต้ชะเงื้อมทุนนิยมจีน ในการประชุมวิชาการด้านชายแดนศึกษาและพัฒนาระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ว่า ที่ตนสนใจจีนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เนื่องจากมีลูกศิษย์หลายประเทศได้เดินทางและเห็นว่าจีนลงมาทางแม่น้ำโขงเยอะ ในอดีตจีนไม่เดินทางผ่านดินแดนแถบนี้ เพราะกลัวยุง โดยเฉพาะตั้งแต่ตอนใต้คุนหมิงจีนจะไม่มา แต่ช่วงหลังลงมามาก จึงสนใจว่าทำไม อีกเหตุผลคือ ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับจีน จึงได้ทำต่อเนื่อง แต่ละปีต้องอ่านหนังสือประมาณ 100 เล่มเพื่อตามให้ทัน
ศ.ยศกล่าวว่า จีนเปิดประเทศครบ 5 ทศวรรษ ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลก คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนเป็นอับดับ 2 และน่าจะสามารถแซงหน้าอเมริกา จีนได้ขยายการลงทุนการค้าไปทั่วโลก ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง พร้อมๆ กันเราพบว่าจีนข้ามชาติเข้ามาจำนวนมาก ในเชียงใหม่นึกว่านักท่องเที่ยวมาก แต่กลายเป็นอยู่ประจำ ในศูนย์การค้าเห็นว่าคนจีนในเชียงใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน จีนคือความเป็นจริงในชีวิตของเราในเวลานี้
“การทำสงครามการค้า จะลงเอยอย่างไร การสร้างกติกาว่าด้วยทะเลจีนใต้ การขยายกำลังทหารของจีนในภูมิภาค โดยเฉพาะที่สีหนุวิลล์(ในกัมพูชา) ความสัมพันธ์ในภูมิภาค ทั้งกับจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้ต้องช่วยกันคิด ไม่ให้รัฐบาลคิดเพียงฝ่ายด้วย”ศ.ยศ กล่าว
ศ.ยศ กล่าวว่า อาเซียนเป็นองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ เกิดช่วงสงครามเย็น เพราะกลัวจีนคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯต้องการปิดล้อมค่ายคอมมิวนิสต์ มุมมองทางประวัติศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนคือศัตรูของจีนในช่วง 30 ปีแรกคือ 1967-1997 เป็นองค์กรที่ต่อต้านจีนอย่างชัดเจน แต่ต่อมาสหรัฐฯทิ้งภูมิภาคนี้ ในขณะที่จีนมีท่าทีที่ดีมากโดยได้สร้างความเป็นมิตร ทำให้อาเซียนเชื่อว่าคอมมิวนิสต์ไม่น่ากลัวและเรารักกันได้ โดยจีนมีบทบาทสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาค ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง จีนให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนเป็นลำดับต้นๆ ทำให้ไม่เป็นประเด็นความมั่นคง ทำให้เราคิดถึงจีนโดยไม่คิดเรื่องการมั่นคง โดยยุทธศาสตร์คือการลงทุน การค้า ซึ่งเพิ่มมากขึ้นใน10ปีที่ผ่านมา
ศ.ยศ กล่าวว่า ความหมายของทุนนิยมจีนไม่ใช่ทุนนิยมปกติ แต่ซับซ้อน 3 ระดับ ก่อน ปี1978 ไม่เคยมีสิ่งนี้ เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ จีนไม่เคยเป็นทุนนิยมมาก่อน กลับปรากฏตัวในอุษาคเนย์ เพราะพ่อค้าจีนเข้ามาทำการค้า บุกเบิกโดยพ่อค้าจีน เราบอกได้ว่าทุนนิยมในอุษาคเนย์ ทุนจีนในลาวและในพม่า ไม่เหมือนกัน โดยเมื่อจีนเริ่มสร้างทุนนิยม ก็ถูกกำกับโดยรัฐ (state-led capitalism) เป็นทุนนิยมอำพรางมาโดยตลอด เช่น บริษัทจีนในเชียงราย เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของ เชื่อมโยงกับรัฐอย่างไร ซึ่งรัฐก็มีหลายระดับ มีทั้งรัฐบาลกลาง หน่วยงานของรัฐบาลกลาง หน่วยงานรัฐระดับมณฑล จีนพยายามให้รัฐบาลระดับมณฑลแข่งขันกันตลอดเวลา โดยในอุษาคเนย์ มีผู้เล่นหลักคือ คุนหมิง และกวางสี ซึ่งรัฐบาลกลางได้ส่งเสริม เดิมทีคุนหมิงใกล้ชิดอุษาคเนย์มากกว่า แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาหนานนิงก็เข้ามา และยังมีทุนจากมาเก๊า ไต้หวัน ทั้งหมดนี้เป็นทุนนิยมที่หลากหลาย แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อเข้ามาก็พบเจ้าสัว ที่เป็นลูกจีนทซึ่งกุมบังเหียนในประเทศ ก็เกิดการแข่งขัน ผสมผสาน ประนีประนอม ลงทุนร่วม เป็นรูปแบบที่หลากหลายของทุนจีนในอุษาคเนย์ และทุนจากประเทศจีน
“เราไม่สามารถคิดได้ว่า จีนเหมือนกันหมด แม้แต่ความเป็นจีน ก็หลากหลาย พลังของทุนจีนคือ เขาสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา พร้อมจะเปลี่ยนและเปลี่ยนได้เร็ว ท่ามกลางความซับซ้อนนี้ ก็มีพลวัตรของการเปลี่ยนแปลง เฉพาะในภูมิภาคนี้ ก็ขึ้นกับเงื่อนไข (Chinese Economics State Craft) เศรษฐศิลป์แห่งรัฐจีน เป็นที่เดียวที่ผู้นำไปไหนก็หิ้วกระเป๋าไปค้าขาย กรรมกรจีนมาสร้างถนน เสร็จก็แต่งงานอยู่ในลาว เปิดร้านขายมือถือ
รัฐทุกระดับพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการจีน เป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก มีการกู้ยืมผ่านสมาคมจีน รัฐบาลจีนเอาเงินไปหยอดไว้ที่ต่างๆ ให้กู้ มีป้ายศูนย์ให้ความช่วยเหลือคนจีนในเชียงใหม่ รัฐเขายื่นมือเข้ามาทุกอย่าง เมื่อรัฐทุ่มเท การค้าของจีนจึงมาเร็ว ผู้ประกอบการจีนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ลูกจีนแบบเดิมอีกต่อไป แต่เป็นผู้มีการศึกษา จบปริญญาตรี ใช้appเป็น ใช้ข้อมูล ที่รัฐบาลป้อนให้ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจีนรุ่นใหม่มาพร้อมทุน และแบ็ค คือญาติมิตร สหาย พร้อมรัฐที่เข้มแข็ง”
ศ.ยศ กล่าวว่า ถามว่าเราสู้ได้มั้ย ฟันธงเลย ไม่ได้ เพราะเขาพร้อมและมีรัฐที่เข้มแข็งหนุนหลัง มีคนถามทำไมไม่สู้เรื่องลำไย ลิ้นจี่ เพราะรัฐเราไม่ช่วย แต่เขามีทุกอย่าง รวมทั้งความขยันส่วนตัว โดยนักศึกษาจีนมาไทย เขาเรียนเป็นรอง ขายคอนโดเป็นหลัก หาเงินตั้งแต่เด็ก ฝึกปรือ และเพิ่มความแกร่งกล้า บวกกับความขยัน ซึ่งข้อดีคือ เมื่อกลับไปบ้านพ่อแม่จะทักว่า เปลี่ยนไป สบายๆ เป็นไทยมากขึ้น
ศ.ยศกล่าวว่า เมื่อจีนขยายอิทธิพลซึ่งต้องการแข่งกับสหรัฐ แต่ใช้ภาษานุ่มกว่า “การรื้อฟื้นเส้นทางสายไหม” ฟังดูดีกว่า แต่ก็คือการสถาปนาจีนเป็นศูนย์กลางการจัดระเบียบโลก ใช้ภาษาทูตที่คนฟังแล้วรู้สึกดี แต่สิ่งที่มาพร้อมกัน คือการพลิกฟื้นการเป็นจีน เป็นการสวมกอดวัฒนธรรมจีน สวมกอดอัตลักษณ์ของความเป็นจีน ลูกจีนเริ่มหันกลับไปหาสิ่งเดิม จีนฮ่อรุ่นเก่าบอกว่าตนคือไต้หวัน แต่จีนฮ่อใหม่ ต้องการคบกับจีนแผ่นดินใหญ่ คือ การชื่นชมยินดีกับความเป็นจีน ที่เป็นหนึ่งเดียว รัฐต้องการทำให้จีนที่หลากหลายเป็นจีนที่เป็นหนึ่งเดียว
“ความท้าทาย จีนเป็นบวก หรือลบก็ได้ เราต้องเข้าใจทั้งสองด้าน เพื่อให้รู้ว่าอาเซียนจะอยู่ตรงไหน ต้องคิด ไม่ใช่รอคำสั่งอย่างเดียว เราจะกระโดดขึ้นกองเกวียน หรือ ตามสหรัฐฯในการปิดล้อมจีน ทำสงครามการค้า หรือ เอาทั้งสองข้าง เหยียบเรือสองแคม อาเซียนจะทำได้หรือไม่ อาเซียนต้องการผู้นำที่มีจริยธรรม พร้อมปฏิเสธทุนใหญ่ เพราะปัญหาอาเซียนคือความเหลื่อมล้ำ ตราบใดที่แก้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ปัญหาอื่นๆตามมา ทั้งสภาพแวดล้อม ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม เราต้องการผู้นำอาเซียนที่แก้ปัญหานี้”ศ.ยศ กล่าว