สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เครือข่ายภาคประชาชน 45 องค์กรร่วมประณาม พม.แทรกแซงการจัดงานมหกรรมอาเซียน จี้ “จุติ” ตรวจสอบหน่วยงานภายใต้กำกับ

ในระหว่างการจัดงานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน 2019 (ASEAN Civil Society Conference/ ASEAN People Forum) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2562 เครือข่ายภาคประชาชน 45 องค์กร อาทิ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนแนวทางการจัดงานของคณะผู้จัดภายหลังเกิดความขัดแย้งกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ที่แทรกแซงการจัดงานด้วยการขอรายชื่อผู้ร่วมงานโดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งทางผู้จัดเห็นว่าไม่สมควรเพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ร่วมงาน เนื่องจากในครั้งก่อนๆ ได้มีการจับกุมบุคคลที่มาร่วมอภิปรายข้อเท็จจริงภายหลังจากการเดินทางกลับประเทศ

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ระบุว่า งานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน เป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม บนความคาดหวังให้ประชาคมอาเซียนดำรงเจตนารมณ์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนที่ตระหนักถึงการเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนได้ผลัดเปลี่ยนการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมประชาชนมาตั้งแต่ปี 2551 จนปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมประชาคมอาเซียนในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและการให้ความสำคัญภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ตามเจตนารมณ์ที่ยืนยันร่วมกัน

แถลงการณ์ระบุว่า ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมอาเซียน 11 ประเทศ มีความมุ่งหวังให้เห็น การเปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็น การตอบรับข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมที่เคารพ และเสมอภาค เท่าเทียม ความยั่งยืน และประชาธิปไตย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะประชาชนไทยผู้เข้าร่วมงาน ได้ติดตามกระบวนการกระจัดงานและเห็นความร่วมมือในการวางแผนจัดงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน 2019 และพม. จนนำไปสู่การกำหนดจัดงานร่วมกันในวันที่ 10-12 กันยายน 2562 ณ โรงแรม เดอ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นความสวยงานของการทำงานร่วมกันของรัฐบาลและภาคประชาชน แต่เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมาปรากฎข้อมูลว่าคณะกรรมการจัดงาน ฯ ได้ออกใบแจ้งข่าวว่า คณะกรรมการจัดงาน ฯ ไม่สามารถมีความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับรัฐบาลไทยได้จากประเด็นที่มีเงื่อนไขต้องส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 11 ประเทศให้กับพม. ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการจัดงาน ฯ ไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขได้ เนื่องจากต้องการคงไว้ซึ่งความอิสระและเคารพในสิทธิและเสรีของผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เป็นผลให้พม.ยุติความร่วมมือและการสนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน

แถลงการณ์ระบุว่าคณะกรรมการจัดงาน ฯ ยังคงยืนยันจะจัดประชุมบนหลักการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยปราศจากการควบคุมและปิดกั้น และได้เดินหน้าจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน ในวันที่ 10-12 กันยายน 2562 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขณะเดียวกัน พม.ยังคงเดินหน้าจัดเวทีประชุมภาคประชาชนอาเซียน ณ โรงแรม เดอะ เบอร์คอลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพ โดยภาคประชาชนที่ติดตามและอยู่ในกระบวนการของเวทีภาคประชาชนอาเซียนตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งยังเป็นข้อกังขาจากภาคประชาชนและประชาสังคมอาเซียนต่อของการดำเนินการจัดเวทีของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯครั้งนี้

“พวกเราฐานะประชาชนผู้ร่วมงาน ขอขอบคุณ ชื่นชม และให้กำลังใจคณะกรรมการจัดงาน ฯ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ยืนยันในหลักการและสามารถจัดงานได้ แม้มีระยะเวลาอันเตรียมการอย่างกระชั้นชิด และงบประมาณที่มีอย่างจำกัด รวมถึงขอบคุณภาคประชาชนอาเซียนทั้ง 11 ประเทศที่เข้าใจและยืนยันเข้าร่วมเวทีกว่ารวมแล้วกว่า 800 คน”แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ยังได้ระบุข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ขอประณามกระบวนการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของภาคประชาชน 11 ประเทศอาเซียน และนำมาเป็นเงื่อนไขเพื่อยุติการสนับสนุนการจัดงาน ทำลายบรรยากาศความร่วมมือ และแสดงการใช้อำนาจกับผู้จ่ายภาษีให้ประเทศของพม.ครั้งนี้ 2.ขอตั้งคำถามถึงสัดส่วนและเครือข่ายผู้เข้าร่วมประชุมภาคประชาชนอาเซียน ณ โรงแรม เดอะ เบอร์คอลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพ มีที่มาจากเครือข่ายและองค์กรใดบ้านและมีความเชื่อมโยงกับประชาชนที่ติดตามและอยู่ในกระบวนการภาคประชาชนอาเซียนตลอด 10 ปี อย่างไร 3.กระบวนการต่อจากการมีเวทีประชาชนอาเซียนทั้ง2เวที จะนำไปสู่ข้อเสนอที่จะเสนอต่อเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างไร 4.ขอเรียกร้องให้นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีพม. ตรวจสอบหน่วยงานภายใต้การควบคุม ว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดกระบวนการปิดกั้นเสรีภาพ และมีการแสดงอำนาจในการควบคุมประชาชน จนเป็นที่ตั้งคำถามจากทั้ง 11 ประเทศอาเซียนต่อการกระทำครั้งนี้ และขอให้อธิบายต่อเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณะชนและภาคประชาชนอาเซียนโดยเร็วที่สุด

ขณะเดียวกันภายในงานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ซึ่งที่น่าสนใจคือเวทีแลกเปลี่ยนปัญหาการค้า การลงทุนและอำนาจของบรรษัทและความรับผิดชอบของทุนต่างๆในภูมิภาค โดยนายเจ ลอย ตัวแทนจากสถาบัน IBON ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า หากดูนโยบาย Belt and Road Initative หรือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของประเทศจีนที่มีอิทธิพลในการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียนมาก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีนทั้งหมดในภูมิภาคนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนใหญ่ระเบียงเศรษฐกิจของจีน โดยจีนเริ่มเข้ามาด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเห็นของประชาชนและชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงบรรษัทข้ามชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จีนก็ได้รับประโยชน์ด้วย เช่น บรรษัทในอเมริกา

“กฎหมายเปิดช่องว่างให้เข้ามาลงทุนซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ เราต้องร่วมรณรงค์และยืนยันว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศนั้นต้องสามารถตรวจสอบบริษัทสัญชาตินั้นๆได้ เพราะฉะนั้นการพัฒนาควรเป็นไปตามวาระของประชาชน และประชาชนควรจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ควรมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของคนเอง การแผ่อิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ ต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน และยุติการลงทุนที่เพิกเฉยต่อสังคม” นายเจ ลอย กล่าว


ด้านประธานสหภาพแรงงานในไร่กล้วย ฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การลงทุนของนายทุน บนเกาะมินดาเนา มีการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ประชาชนมีการต่อสู้เรื่องสิทธิในการเป็นลูกจ้างประจำ โดยมีการฟ้องเป็นคดีความ เนื่องจากมีประเด็นเรื่องสารเคมีที่ฉีดในไร่กล้วย รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทผู้ลงทุนปล่อยให้สารเคมีรั่วไหลออกไปในสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ


นายเรนา ตัวแทนจากประเทศกัมพูชา กล่าวว่า โดยปกติหากมีการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน เรามักจะไปกดดันกับรัฐบาล แต่ในอีกข้อเท็จจริงหนึ่ง มีภาคธุรกิจเป็นส่วนสำคัญที่กระทำการสร้างผลกระทบต่าง ๆ ในกัมพูชา มีบริษัทที่ได้สัมปทานทั้ง 3 บริษัทเพื่อปลูกไร่อ้อยผลิตน้ำตาลซึ่งเป็นที่ดินของชุมชนมาแต่เดิม โดยมีการไล่รื้อที่ดิน หลายชุมชนเสียบ้านและที่ทำกิน เราจึงเข้าไปค้นหาว่า ใครเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากการกระทำในครั้งนี้บ้าง พบว่า บริษัทน้ำตาลสัญชาติไทย เป็นบริษัทใหญ่ที่ส่งออกน้ำตาลของภูมิภาคนี้


นางสาววรวรรณ ศุภฤกษ์ จาก EarthRights International และ ETO Watch Coalition เมื่อดูจากโครงการต่าง ๆ การแย่งยึดที่ดิน หรือการสัมปทานที่ดิน การที่ชุมชนกัมพูชามีการฟ้องศาลไทย คดีแรกที่มีการฟ้องคดีข้ามพรมแดน ต้องรับผิดชอบต่อผลร้ายที่เกิดขึ้น การลงทุนของทุนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ การที่ไทยไปแสวงประโยชน์จากพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เราจะเห็นว่าเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกนั้น ก็เกิดจากการที่นักลงทุนไทยไปลงทุนในโครงการนี้ กล่าวคือในเรื่องของผลประโยชน์ในการที่จะช่วยเศรษฐกิจของไทย นักลงทุนไทยมีบทบาทค่อนข้างมาก อย่างในพม่ามีโครงการทวาย โครงการไฟฟ้าถ่านหินทวาย เป็นตัวอย่างของนักลงทุนไทยไปลงทุน ถึงแม้ว่าโครงการเหล่านี้ อาจจะได้ประโยชน์ แต่ก็มีผลกระทบด้านลบ
/////////////////////

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →