“มีแต่ม็อบ มีแต่ม็อบ พวกนี้ไม่ร้อนกันบ้างหรืออย่างไร ” เสียงของเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลรายหนึ่งพูดขึ้นลอยๆ เมื่อเห็นชาวบ้านในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เริ่มรวมตัวชุมนุมแสดงพลังอีกครั้ง
การกลับมาเยือนทำเนียบของพีมูฟครั้งนี้เริ่มตั้งแต่เช้าวันที่ 6 พฤษภาคม มีผู้ร่วมขบวนกว่า 2 พันคนซึ่งต่างก็มีความเดือดร้อน จากปัญหาต่างๆ หลายกรณี เช่น ความเดือดร้อนที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ปัญหาการสร้างเขื่อนและการได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ รวมถึงปัญหาเรื่องไร้สัญชาติและสถานะชาติพันธุ์
ในใบแถลงการณ์ฉบับที่ 19 พีมูฟได้เรียกร้องให้รัฐบาลที่นำโดย นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงมาแก้ไขปัญหาใน 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ปัญหาในระดับนโยบาย เช่น นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ปัญหาที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2.ปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น ปัญหาเขื่อนปากมูน การดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อนำร่องธนาคารที่ดิน การออกเลขที่และทะเบียนบ้านให้กับชุมชนเมือง 3.ปัญหาการอนุมัติให้จัดทำโฉนดชุมชน ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้สัญญาไว้กับชาวบ้านเมื่อปีก่อนว่าจะรีบจัดการประชุมเพื่อให้ได้ความคืบหน้าในเดือนพฤศจิกายน 2555 ชาวบ้านก็ได้แต่เฝ้ารอ จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการเรียกประชุมสักที
แม้จะมอบให้นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเขาธิการนายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่ประสาน แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เป็นแค่สัญญาลมปาก จนพีมูฟ ต้องกลับมาสู่การชุมนุมอีกครั้ง โดยครั้งนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะอยู่กันจนกว่าจะได้คำตอบ
นายนิรันดร์ หยังปาน ชาวบ้านชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต ตัวแทนเครือข่ายชาวเล กล่าวว่า หลังจากการรวมตัวกันในปลายปี 2555 นายสุภรณ์ รองเขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เคยลงพื้นที่สำรวจปัญหาชาวเลบ้าง แต่การลงพื้นที่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายใดๆ ขณะนี้สิ่งี่คุกคามชาวเลมากที่สุด ยังคงเป็นเรื่องการไร้สิทธิในการทำประมงพื้นบ้านในทะเลน้ำตื้น โดยภาครัฐพยายามผลักไสให้ชาวเลเข้าไปหาปลาได้ในทะลลึก ที่ต้องดำน้ำนาน จนหลายคนต้องป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ ขณะที่ปัญหาที่ดินและสาธารณูปโภคในพื้นที่ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ใดๆ
“นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยมีรองนายกรัฐมนตรีคือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธานแล้ว พวกเราอยากให้รองนายกฯ เร่งรัดในการเรียกประชุมเพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาโดยด่วน เพราะตอนนี้พวกเรากำลังเดือดร้อนกันอย่างหนัก ที่ผ่านมาสัญญาต่างๆที่เคยให้ไว้กับชาวบ้านเหมือนเรื่องหลอกลวง” นายนิรันดร์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.สื่อกัญญา ธีรชาติดำรง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เอ่ย อย่างน่าเศร้าว่า รัฐบาลเลือกแขวนปัญหา เหมืองแร่ อย่างไม่เป็นธรรม ชาวบ้านหลายคนต้องทนมองป่าและภูเขา ที่เป็นดังครัวของจังหวัด ค่อยๆ หายไปกับการแย่งชิงทรัพยากรของภาคอุตสาหกรรมที่ทำแร่ทองคำ เพื่อส่งออกต่างประเทศ โดยล่าสุดที่ต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบ คืออยากให้มีคำสั่งยุติอาญาบัตรของเหมืองแร่ทองคำ และงดเพิ่มประทานบัตรพิเศษแก่ บริษัทอัคราไมนิ่ง อีก เนื่องจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาได้มีความเห็นแล้วว่า การทำเหมืองทองครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ แต่ทุกวันนี้บริษัทดังกล่าวก็ยังเดินหน้าผลิตแร่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่ชาวบ้านไม่มีส่วนได้ผลประโยชน์ใดๆ
ช่วงบ่ายวันที่ 7 หลังจากพีมูฟได้แสดงพลังปิดล้อมทำเนียบก่อนการประชุมครม. รัฐบาลได้ส่งผู้แทนมาเจรจา ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญผู้แทนพีมูฟเข้าร่วมหารือ โดยรับปากว่า จะรีบนำปัญหา 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน 2.โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 3.เรื่องการ อนุญาตก่อสร้างบ้านมั่นคง 4.การตั้งคณะกรรมการการแก้ปัญหาชาวบ้านปากมูน เข้าสู่การพิจารณาของครม. ในวันที่ 14 พฤษภาคม
ขณะนี้ชาวบ้านยังคงปักหลักกรำแดดกรำฝนอยู่ข้างทำเนียบริมถนนราชดำเนินต่อไป ขณะที่คนในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยก็กำลังใจจดใจจ่ออยู่กับม็อบแดงที่ดีเดย์เข้ามากดดันศาลรัฐธรรมนูญ
ดูเหมือนชาวบ้านจนๆที่ไร้เส้น ไร้พรรคพวกที่มีอำนาจ คงต้องรอกันต่อไป