เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ในฐานะคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าในการประชุมคณะทำงานฯครั้งล่าสุด ได้มีมติให้สำนักทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงราย ในฐานะเลขาฯ เสนอพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่างขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติหรือนานาชาติ ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)พิจารณา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของจังหวัดเชียงรายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
นายสมเกียรติกล่าวว่า ลุ่มแม่น้ำอิงมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 7,238 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,523,750 ไร่ ความยาว 260 กิโลเมตร มีความพิเศษของพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติที่เรียกว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” นับตั้งแต่พื้นที่ตอนบนในจังหวัดพะเยา เช่น หนองฮ่าง หนองเล็งทราย กว๊านพะเยา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในระดับชาติ นานาชาติ จากการประเมินตามเงื่อนไขของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม
นายสมเกียรติกล่าวว่า แม่น้ำอิงตอนล่างในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พื้นที่ลุ่มน้ำระบบนิเวศน์เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง มีพื้นที่รับน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของแม่น้ำโขง เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า จำ บวก หลง หนอง กว่า 400 แห่ง กับความพิศษของ ป่าไผ่ ป่าข่อย ป่าชมแสง “ป่าริมอิง” ที่เรียกชื่อโดยรวมในปัจจุบันว่า “ป่าชุ่มน้ำ” มีความหลากหลายของพรรณพืช อย่างน้อย 60 ชนิด ที่เจริญเติบโตได้ในฤดูน้ำหลาก มีปลาที่สำรวจพบ 111 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 13 ชนิด นกประจำถิ่นกับนกอพยพ 130 ชนิด มีสัตว์ป่าคุ้มครอง และอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เช่น เห็นเสือปลา ชะมดแผงหางปล้อง กลุ่มอีเห็น
“ปัจจุบันเกิดปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำจากการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการขุดลอก มีพื้นที่ป่าที่ได้รับการสำรวจโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 17 แปลง มีพื้นที่โดยรวม 8,590 ไร่ ที่ชาวบ้านได้มีกฎเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์-ดูแลรักษา ร่วมกัน และหนังสือสำคัญพื้นที่หลวงสาธารณะ (นสล.) ระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำที่เหลืออยู่มีความสำคัญต่อการพึ่งพาของชาวบ้าน เป็นแหล่งอาหาร-สมุนไพร แหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ตรึ่งบกครึ่งน้ำ นกประจำถิ่น และนกอพยพ”นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าว
นายสมเกียรติกล่าวว่า การขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงตอนล่าง ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้าน และเครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำอิง เพื่อหามาตรการในการคุ้มครองไม่ให้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพ กับการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ตามอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่องทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำ ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับนานาชาติ กับมาตรการการอนุรักษ์โดยเห็นความสำคัญของระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น