Search

เผยเหตุเร่งสร้างเขื่อนหลวงพระบางกั้นแม่น้ำโขงทั้งๆ ที่ไฟฟ้าสำรองล้นทะลัก ผู้เชี่ยวชาญชี้กฟผ.แข่งขันเวียดนามเป็นผู้นำขายในภูมิภาค หวั่นพากันล่มจม-ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม-ชุมชน

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 เพจของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า คณะกรรมร่วมของสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง 4 ประเทศคือไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนามได้ประชุมการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement – PNPCA)  สำหรับโครงการเขื่อนหลวงพระบางซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว ซึ่งเป็นของบริษัทหลวงพระบางพาวเวอร์จำกัดที่ก่อตั้งโดยบริษัทปิโตรเวียตนามซึ่งจะร่วมทุนกับบริษัทอื่นๆ

ทั้งนี้กระบวนการ PNPCA ของโครงการเขื่อนหลวงพระบางเป็นโครงการที่ 5 ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงของ 4 ประเทศ ที่ให้มีการปรึกษาหารือกันล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างโครงการเขื่อนกันแม่น้ำโขง

ขณะที่ภาคประชาชนในนามของกลุ่ม “พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง” หรือ Save the Mekong  ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนหลวงพระบางโดยระบุว่า แม่น้ำโขงกำลังเผชิญวิกฤต ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงสายประธานและแม่น้ำสาขา ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสการไหลและระดับน้ำที่ไม่อาจคาดการณ์ได้มากยิ่งขึ้น จากระดับน้ำที่ลดลงเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2562 ไปจนถึงภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงในที่ราบเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายนปีเดียวกัน เขื่อนผลิตไฟฟ้าทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงยิ่งขึ้นต่อแม่น้ำและประชาชน

ในแถลงการณ์ระบุว่า แทนที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศและผลิตภาพของแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของประชาชนหลายล้านคน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลลาวได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อเอ็มอาร์ซี ถึงเจตนาที่จะสร้างเขื่อนใหญ่อีกแห่งหนึ่งในแม่น้ำโขงสายประธานคือโครงการเขื่อนหลวงพระบาง

“พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง กังวลอย่างยิ่งกับการริเริ่มการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบาง ในขณะที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามข้อกังวลที่ร้ายแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของเขื่อนที่มีอยู่แล้ว และเขื่อนที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งเป็นข้อกังวลที่มีการเสนอในการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับโครงการก่อนหน้านี้ เราจึงเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนหลวงระบาง และเขื่อนอื่นที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขง แทนที่จะเดินหน้าตามขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้าที่มีข้อบกพร่องอีกครั้ง เรากระตุ้นให้รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างและ MRC แก้ไขปัญหาตามข้อกังวลเนื่องจากผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำโขงที่มีอยู่ และให้ทำการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน โดยให้มีการศึกษาทางเลือกอื่น ๆ ด้วย”ในแถลงการณ์ระบุ

ในแถลงการณ์ระบุว่า เขื่อนในแม่น้ำโขงสายจะเปลี่ยนให้แม่น้ำโขงให้เป็นเพียงอ่างเก็บน้ำ  และสร้างผลกระทบที่รุนแรง การเริ่มกระบวนการ PNPCA สำหรับเขื่อนหลวงพระบาง เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ของ MRC และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบระดับลุ่มน้ำที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้เนื่องจากเขื่อนในแม่น้ำโขง หากมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางจริง ประกอบกับเขื่อนปากแบง เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนปากลาย ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ต่อแม่น้ำโขง ซึ่งไหลตามแนวพรมแดนทางตอนเหนือของลาว ทำให้แม่น้ำกลายเป็นทะเลสาบในหลายระดับ ส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ต่อสุขภาวะและผลิตภาพของแม่น้ำ จะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ได้จากแม่น้ำสายนี้ และจะทำให้แม่น้ำกลายเป็นเพียงคลองส่งน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ให้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่กับบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น

ในแถลงการณ์ระบุว่า เวียดนามต้องทบทวนการมีส่วนร่วมกับเขื่อนหลวงพระบาง โดยพีวีพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปิโตรเวียดนาม (PVN) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทซึ่งทำหน้าที่หลักในการพัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง การที่บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเวียดนามเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ไม่สอดคล้องกับการที่รัฐบาลเวียดนามเคยแสดงข้อกังวลหลายครั้ง ระหว่างที่มีการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยอนหน้านี้ในระหว่างการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนไซยะบุรี รัฐบาลเวียดนามอ้างว่ามีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และเรียกร้องให้ชะลอการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่น ๆ ที่มีการวางแผนสร้างในแม่น้ำโขงออกไปเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี และ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เวียดนามยังเรียกร้องให้สนับสนุนการสำรวจแหล่งพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง เพื่อทดแทนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง

“เขื่อนในแม่น้ำโขงไม่มีความจำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในภูมิภาค จากสรุปรายงานของเอ็มอาร์ซีปี 2561 พบว่า ภายในปี 2583 ลาวมีแผนส่งออกไฟฟ้า 11,739 เมกะวัตต์ ไปยังประเทศไทย ส่วนแผนพลังงานของไทยระบุว่าจะนำเข้าไฟฟ้าเพียง 4,274 เมกะวัตต์ ความแตกต่างของตัวเลขเกือบ 7,500 เมกะวัตต์ ถือว่ามากกว่ากำลังผลิตติดตั้งรวมกันของเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้ง 7 เขื่อน ทั้งที่อยู่ในแผนและอยู่ระหว่างการก่อสร้างในลาว”แถลงการณ์ระบุ

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network : MEE-NET) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่าสาเหตุที่การเดินหน้าสร้างเขื่อนหลวงพระบางออกมาในช่วงนี้เนื่องจากปิโตรเวียดนามต้องการแข่งขันกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แม้ก่อนหน้านี้เคยพูดว่าเขื่อนแห่งนี้จะอยู่ไกลและมีพลังงานไฟฟ้าสำรองมากล้นกว่าประเทศไทย แต่หากเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวกับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างมาเลเซีย ไทยและลาวในการซื้อขายไฟฟ้า ดังนั้นเวียดนามจึงไม่ต้องการให้กฟผ.เป็นผู้เล่นฝ่ายเดียว แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือโครงการเขื่อนหลวงพระบางนั้นใครจะเป็นผู้ลงทุนหลัก และจะส่งไฟฟ้าไปที่ใด ซึ่งเวียดนามคงไม่ต้องการตกขบวนครั้งนี้

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าผู้ลงทุนในการสร้างเขื่อนหลวงพระบางจะเป็นเวียดนามโดยลำพัง แต่อาจเชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนไทยคือ บริษัท ช.การช่างภายหลังจากสร้างเขื่อนไซยะบุรีเสร็จสิ้น ดังนั้นจึงต้องการได้งานชิ้นใหม่ โดยมีโครงข่ายพลังงานภูมิภาค (Regional Grid) เป็นตัวดึงดูด

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กฟผ.ซึ่งเล็งผลเลิศว่าจะซื้อไฟฟ้าแบบซื้อมาขายไป โดยเอาไฟฟ้าสำรองของประเทศขายไปที่อื่นเพราะคิดบวกถึงความต้องการที่เกิดขึ้น แต่มีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะหากเศรษฐกิจไม่ได้ดีเช่นนั้นจะทำอย่างไร ภาระทั้งหมดจะตกเป็นของประชาชนผู้บริโภคในประเทศไทยหรือไม่ กลายเป็นว่าตอนนี้พวกเขาแข่งขันกันสร้างความล่มจม และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สถานการณ์ตอนนี้เขาไม่ได้คิดว่าสิ่งแวดล้อมหรือประชาชนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เขาไม่ได้คิดว่าไฟฟ้าสำรองเหลือเฟือแค่ไหน” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ปัจจุบันกลไกที่ใช้ตรวจสอบ กฟผ.ยังมีปัญหา แม้แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและอนุกรรมการชุดต่างๆ หากดูจากเวปไซต์ของกระทรวงพลังงานพบว่ายังเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ซึ่งยกเลิกแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครออกมาท้วงติงเพราะไม่คิดว่าเป็นเรื่องประชาธิปไตย ขณะที่กฟผ.ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นผู้ผูกขาดไฟฟ้าให้ได้ 51% ทั้งๆที่จริงๆแล้วควรให้ผู้บริโภคมีอำนาจตรวจสอบได้ ไม่ใช่ตกอยู่ภายใต้ระบบผูกขาดเช่นนี้

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →