เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ภายหลังจากที่สำนักข่าวชายขอบได้รายงานข่าวกรณีช้างงาเดียวซึ่งตาฟางมองเห็นไม่ชัดปักหลักหากินอยู่ในสวนไผ่ของชาวบ้านที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และไม่ยอมกลับเข้าป่าเพราะมีน้ำและอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ได้สร้างความเสียหายให้กับไร่มันสำปะหลังและสวนไผ่อย่างหนัก ที่สำคัญคือบริเวณดังกล่างมีบ่อน้ำที่ลึกมาก ชาวบ้านจึงเกรงว่าหากช้างตกลงไปจะขึ้นไม่ได้ ในที่สุดจึงได้แจ้งเรื่องไปยังทีมงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ซึ่งได้มีการสั่งการและทางกรมอุทยานฯได้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 กรมอุทยานฯได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า ทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ลงพื้นที่หมู่ที่ 3 และ 5 ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมวเพื่อทำการติดตามช้างป่า เพศผู้ มีงาข้างซ้ายข้างเดียว อายุประมาณ 30 – 40 ปี มีลักษณะค่อนข้างอ้วน น้ำหนักประมาณ 6,000 กิโลกรัม จำนวน 1 ตัว คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะมีความผิดปกติทางสายตาข้างขวา ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบตัวช้างป่าดังกล่าว แต่พบร่องรอยการเดินไปยังป่าเขาเขียวและป่าเขา
ธีรพงษ์ ตำบลพวา เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ทำการติดตามรอยเท้าช้างอย่างต่อเนื่อง พบร่องรอยช้างป่าตัวดังกล่าวเดินไปมาระหว่างป่าเขาเขียวและป่าเขาธีรพงษ์ ระยะทางจากป่าเขาเขียวและป่าเขาธีรพงษ์มีระยะทาง 1.05 กิโลเมตร โดยพบว่ารอยเท้าของช้างป่าตัวดังกล่าวมีการรวมกลุ่มกับช้างป่าตัวอื่นๆอีกหลายตัว ทั้งนี้คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะมีการรวมฝูงกัน
ในข่าวประชาสัมพันธ์ของอุทยานฯ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และผู้นำชุมชนในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและอธิบายวิธีการเฝ้าระวังช้างป่าตัวดังกล่าวและช่วยดูพฤติกรรม โดยเมื่อประชาชนในพื้นที่พบเห็นให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ชุดติดตามช้างป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ออกมาช่วยเหลือได้ทันท่วงที และอธิบายถึงแนวทางการผลักดันช้างป่าตัวดังกล่าวเข้าสู่ผืนป่าเขาอ่างฤๅไน
ขณะที่ทีมสัตวแพทย์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูล จากรูปถ่ายของช้างป่าตัวดังกล่าวที่ทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า และทีมงานกลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ที่ทำการติดตามอย่างต่อเนื่อง พบว่า ดวงตาข้างขวามีลักษณะกระจกตาไม่เรียบ ดูลักษณะคล้ายการฝ่อ ซึ่งมีผลต่อการมองเห็น และลักษณะของดวงตา ส่วนตาข้างซ้าย พบว่า กระจกตายังคงเรียบ ไม่ผิดรูป จากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการเดินของช้างป่าตัวดังกล่าว และที่ประชาชนที่เคยพบเห็น และพบว่าช้างป่าตัวดังกล่าวเข้ามากินพืชสวน พืชไร่ ลักษณะการเดินเมื่อช้างป่าตัวดังกล่าวหากตกใจพบว่าจะรีบวิ่งหนีและชนต้นไม้เป็นระยะๆ และถ้าปกติช้างป่าตัวดังกล่าวไม่ตกใจ ไม่ตื่นตัว ก็จะเดินได้ปกติ ไม่ชนต้นไม้ โดยจะยกงวงขึ้นเล็กน้อยตอนเดินเสมอ
“จึงวิเคราะห์ได้ว่า ช้างป่าตัวดังกล่าวมีปัญหาในเรื่องของสายตา นอกจากนี้ยังพบว่าช้างป่าตัวดังกล่าวสามารถหากินได้ตามปกติ โดยมักจะออกหากินในช่วงเวลา 03.00 น. จนถึง 12.00 น. ซึ่งผิดแปลกไปจากช้างตัวอื่นๆ หรือช้างกลุ่มอื่นๆ ที่ออกหากินตั้งแต่ช่วงเวลากลางคืนจนถึงเช้ามืด สัตวแพทย์วิเคราะห์ได้ว่าตาข้างซ้ายยังคงมองเห็น (วินิจฉัย วิเคราะห์จากพฤติกรรม และ กระจกตาที่ยังสมบูรณ์ ไม่ผิดรูป) ซึ่งช้างป่าตัวดังกล่าวยังคงสามารถหากินได้ตามปกติ และยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในป่าธรรมชาติได้” เอกสารเผยแพร่ระบุ
ในเอกสารข่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับกรณีที่ช้างป่าตัวดังกล่าวออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน ไร่สวน ของประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จะทำการเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีถ้าได้รับแจ้ง และทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนจะทำการติดตามช้างป่าตัวดังกล่าว เพื่อทำการผลักดันเข้าสู่ผืนป่าเขาอ่างฤๅไน โดยการผลักดันจะใช้วิธีการที่ทำให้หวาดระแวงหรือตกใจกลัวให้น้อยที่สุด เนื่องจากมีความผิดปกติของสายตา โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของสัตว์เป็นหลัก
////////////////////////