เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องประชุมศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) จัดแถลงข่าว “การปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ลูกเรือประมงไทย ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ณ เกาะตวล จังหวัดมาลูกู ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 16” โดย น.ส. ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการแอลพีเอ็นกล่าวว่า การลงพื้นที่รอบนี้เริ่มต้นจากการได้รับการร้องเรียนจากลูกเรือประมงชาวลาวที่ชื่อ “แหล่” ที่ยังตกค้างอยู่บนเกาะตวลในประเทศอินโดนีเซีย และจากการลงพื้นที่ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาะตวลได้ให้ข้อมูลว่า มีลูกเรือประมงไทยที่ยังตกค้างอยู่ 8 ราย คนลาว 1 ราย คือนายแหล่ และคนพม่าอีก 44 ราย ซึ่งจากการสอบถามคนไทยที่ตกค้างอยู่นั้น พบว่าบางคนถูกทิ้งอยู่บนเกาะแห่งนี้นานถึง 17 ปี กรณีของนายแหล่ซึ่งเป็นคนลาวนั้น ได้ประสานกับสถานทูตลาวและครอบครัวที่ประเทศลาวแล้ว
ผู้จัดการแอลพีเอ็นกล่าวว่า บริเวณทะเลเกาะตวลให้สัมปทานประมงกับนายทุนไทยเมื่อปี 2545 โดยตอนที่มีการสำรวจและช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับมานั้น ไม่ได้เข้าไปสำรวจที่เกาะแห่งนี้ ซึ่งล่าสุดจากการลงพื้นที่พบว่ายังมีคนไทย 8 คนตกค้างอยู่โดยส่วนใหญ่ติดเกาะอยู่ 17 ปี และยังมีคนพม่า 44 คน คนลาว 1 คน เราใช้เวลาสำรวจ 3 วัน และทราบว่าเกาะใกล้ๆ ตวลยังมีคนไทยตกค้างอีก ส่วนใหญ่เขาถูกขายโดยถูกหลอกไปจากหมอชิตและหัวลำโพง เรายังพบเด็กในสถานสงเคราะห์ 2 คน และมีการทำร้ายทุบตี
น.ส. ปฎิมากล่าวว่า รัฐบาลไทยควรมีการสำรวจเพิ่มเติม เพราะยังพบว่ามีคนไทยตกค้างอยู่ที่เกาะบาตั้มอีกด้วย ดังนั้นควรมีการวางแผนสำรวจ ซึ่งเท่าที่พบหลายคนยืนยันตัวเองด้วยการเขียนและพูดภาษาไทย และควรมีแผนความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยธรรม และตั้งกองทุนฟื้นฟูเยียวยาคนเหล่านี้เพราะหลายคนที่กลับมาถึงเมืองไทยยังมีอาการทางจิต บางคนยังไม่มีอาชีพ ดังนั้นควรให้เขาได้มีอาชีพและมีชีวิตใหม่อีกครั้ง แต่คนที่รับผิดชอบคือผู้ประกอบการหรือเจ้าของเรือประมง โดยจ่ายค่าชดเชยให้เหยื่อที่ต้องถูกนำไปเป็นแรงงานทาสและต้องติดเกาะถึง 17 ปี ซึ่งลูกเรือประมงสามารถระบุได้ว่าเขาเดินทางไปทำงานกับเรือลำไหน บางคนติดเกาะอยู่ 14 ปีแต่เมื่อกลับมาได้เงินชดเชยแค่ 1 หมื่นบาท ขณะเดียวกันมีข้อเสนอต่อประชาคมอาเซียนด้วยว่าจะแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันอย่างไร และควรออกกฎหมายที่ดำเนินการกับอาชญากรรมข้ามชาติเช่นนี้อย่างไร ถ้าหากยังมีการทำธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบเช่นนี้ จำเป็นที่อาเซียนต้องมาคุยกัน
“เราแน่ใจได้อย่างไรว่าอาหารทะเลที่เรากินไม่ได้มาจากลูกเรือประมงที่ทำงานเหมือนทาส ดังนั้นผู้บริโภคปลาเองก็ควรเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ที่จะไม่สนับสนุนธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้” น.ส.ปฎิมา กล่าว
นายสมัคร ทัพธานี ผู้ประสานงานมูลนิธิแอลพีเอ็นกล่าวว่า เมื่อปี 2549 ได้ลงไปช่วยเหลือแรงงานไทยและได้พบกับลูกเรือลาวที่ชื่อนายแหล่ซึ่งถูกหลอกจากประเทศไทยไปบนเรือประมงตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 15 ปี โดยนายแหล่ได้เข้ารายงานตัวร่วมกับคนไทย เราจึงรายงานไปยังรัฐบาลลาว ซึ่งสถานทูตลาวเองก็กำลังเร่งช่วยเหลือ ทั้งนี้เมื่อปี 2561 แอลพีเอ็นได้ลงพื้นที่และได้ข้อมูลจากพระไทยในอินโดนีเซียแจ้งว่ามีคนไทยที่เป็นอดีตลูกเรือตกค้างอยู่อีก ทำให้มีงานที่ต้องติดตามเพราะมีลูกเรือตกค้างทั้งคนไทย ลาวและพม่า แต่คนเหล่านี้มีข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเราจึงต้องลงพื้นที่อีกครั้ง โดยได้เจอกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือและไม่อยู่ในรายชื่อที่สำรวจ
นายสมัคร กล่าวว่ากรณีลูกเรือไทยที่ชื่อนายสมยนเป็น 1 ใน 8 คนไทยที่รายงานตัวกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาะตวล โดยตอนมารายงานตัวนายสมยนมีอาการป่วย และยังไม่ทันได้กลับเมืองไทยปรากฎว่าได้เสียชีวิตก่อน โดยก่อนตายเขาหนีไปอยู่ในป่าและมีอาการหวาดผวา ซึ่งผู้ดูแลที่เป็นชาวอินโดนีเซียแจ้งว่านายสมยนไม่รับเงินใดๆ ในการช่วยทำสวน ขอแค่ข้าวกิน และนายสมยนต้องการกลับเมืองไทยอย่างมากถึงขนาดคิดต่อแพไม้ไผ่แจวกลับประเทศไทย
นายสมัครกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ทีมแอลพีเอ็นได้ลงพื้นที่ อ. เมือง จ. สุพรรณบุรีเพื่อหาข้อเท็จจริงตามที่ผู้เสียหายคือนายไพฑูรย์ กลิ่นสกุล ซึ่งถูกหลอกขึ้นเรือไปทำงานและยังติดอยู่ที่เกาะตวลให้ข้อมูลมา โดยนายไพฑูรย์เดินทางออกจากบ้านตั้งแต่ปี 2545 ก่อนถูกหลอกขึ้นเรือ ซึ่งครอบครัวและญาติพี่น้องได้ตามหา ทั้งนี้ตอนแรกไม่พบชื่อในทะเบียน แต่เมื่อเอารายชื่อผู้ใหญ่บ้านมาถาม พบว่ามีนามสกุลของนายไพฑูรย์จริง และทางฝ่ายปกครองยังตรวจพบว่าแม่ของนายไพฑูรย์เคยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีจริง แต่ครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว อย่างไรก็ตามได้พบอาของนายไพฑูรย์ซึ่งยืนยันว่านายไพฑูรย์เป็นหลานจริง หลังจากนั้นทีมงานได้เดินทางต่อไปที่จังหวัดนครปฐมโดยได้พบกับพี่สาวและแม่ของนายไพฑูรย์ โดยแม่ได้เอารูปนายไพฑูรย์เมื่อตอนอายุ 15 ปีมาให้ดู พร้อมกับร้องไห้ ดังนั้นกรณีของนายไพฑูรย์จึงสามารถยืนยันความเป็นคนไทยได้และมีเลข 13 หลัก ขึ้นต่อไปคือส่งเรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ ทั้งนี้นายไพฑูรย์ถูกหลอกไปนานถึง 17 ปีและมีภริยาเป็นคนท้องถิ่นอินโดนีเซีย
นายธนาพร ศรียากูล ที่ปรึกษาสำนักงานประสานงานการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย กล่าวว่า ขบวนการทำประมงผิดกฎหมายได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยกลุ่มทุนเดิมเอาเรือไปเปลี่ยนธงต่างประเทศ และเข้าไปทำงานประมงผิดกฎหมายที่ประเทศโซมาเลียโดยเอาลูกเรือประมงไปจากประเทศไทย ภารกิจเหล่านี้ยังจำเป็นในประเทศไทยต้องแก้ไขปัญหาต่อไป หากเราไม่ดำเนินการเรื่องนี้จะถูกนำไปเป็นตัวประกันเหมือนกับกรณีถูกตัดสิทธิจีเอสพีเพราะปัญหาแรงงาน