สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

รอยด่างในผืนป่าแก่งกระจาน

โดย ภาสกร จำลองราช padsakorn@hotmail.com

ท่าทีของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่  11 พฤศจิกายน 2562 ภายหลังศาลอนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในคดีอุ้มฆ่า “บิลลี่” ว่า “ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนยัน “ยังให้ทำงานปกติ ไม่มีการย้าย” สะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งของระบบราชการ ที่สามารถทนทานเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมได้อย่างไม่สะทกสะท้าน

ในวันเดียวกันนั้นนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุบลราชธานี) ได้เดินทางมายังอุทยานแห่งชาติเอราวัณ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มอบนโยบายการบริหารการท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ เป็นอีกมุมหนึ่งที่ชวนให้วิเคราะห์ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของคดีนี้อยู่พอสมควร

จริงๆ แล้ววาทะที่ว่า “ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม” พูดร้อยครั้งก็ถูกร้อยครั้ง และเป็นคำตอบสำเร็จรูปที่นักการเมืองและผู้บริหารบ้านเมืองมักหยิบยกมาใช้ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพราะต้นเหตุของปัญหาคือเรื่องการบังคับย้ายชาวบ้านบางกลอย(บน)จากป่าใหญ่ย่านใจแผ่นดินมาอยู่ที่บ้านโป่งลึกหรือบางกลอยล่างต่างหาก เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นความ  “ผิดพลาด” ของอุทยานฯหรือไม่ และการปล่อยให้ใครบางคนใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เข้ามาบริหารจัดการ จนเรื่องบานปลายกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของชาวกะเหรี่ยงและสร้างความเสียหายให้กับรัฐ ใครควรรับผิดชอบและควรเยียวยาผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร

ในปี 2539 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ย้ายชาวบ้าน 57 ครอบครัว 391 ชีวิตมาอยู่บนที่ดิน-ที่ทำกินของชาวบ้านโป่งลึก ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “บ้านบางกลอยล่าง” โดยอุทยานฯรับปากว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้อย่างพอเพียง แต่อุทยานฯ ไม่สามารถทำตามที่รับปากไว้ได้ ชาวบ้านจึงทยอยกันหนีกลับไปอยู่บ้านเดิมที่ป่าใหญ่ใจแผ่นดิน

ปี 2553 อุทยานฯ ได้ลาดตระเวน และมีการผลักดันชาวบ้านอีก 2 ครั้ง โดยได้ทำรายงานเสนอไปยังผู้บริหารกรมอุทยานฯ ว่า มีชนกลุ่มน้อยเข้าทำบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เพื่อปลูกพืชไร่และอาศัยที่ทำกินอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเนื่องจากชนกลุ่มน้อยเห็นว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดในการดำเนินการ ไม่ได้ใช้มาตรการเด็ดขาด จึงอพยพเข้ามาอยู่กันเพิ่มขึ้นจนเมื่อมีการบินตรวจสอบสภาพป่าและการเดินลาดตระเวนเดือนเมษายน 2554 พบว่า บริเวณชายแดนไทย-พม่ามีชุมชนกลุ่มน้อยชาวกะหร่างอพยพเข้ามาหลบซ่อน ปลูกพืชไร่ในพื้นที่ป่ามากกว่าเดิม

ในปี 2554 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งมีนายชัยวัฒน์เป็นหัวหน้าได้เปิดปฎิบัติการ “ยุทธการตะนาวศรี” โดยการสนธิกำลังทั้งตำรวจและทหาร บุกทำลาย-เผาที่พักยกหมู่บ้านบางกลอย จำนวน 98 หลัง ชาวบ้านซึ่งมีทั้งคนแก่ ผู้หญิงและลูกเล็กเด็กแดงต้องหนีกระแซะกระเซิงไปอยู่ในป่า ก่อนที่จะทยอยเดินเท้าลงมาอาศัยที่บ้านบางกลอยล่างจนถึงปัจจุบัน

นี่คือปฐมบทของรอยด่างในผืนป่าเขียวขจีแก่งกระจาน

ในยุทธการตะนาวศรีครั้งนั้น ต้องประสบความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานตกถึง 3 ลำในช่วงเวลาเพียง 8 วันซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งสื่อมวลชนเสียชีวิต 17 ราย

ในรายงานผลปฎิบัติการยุทธการตะนาวศรีที่ผู้บริหารอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเสนอไปยังผู้บริหารกรมอุทยานฯ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 ได้มีการอพยพ/ผลักดัน โดยผลปฏิบัติงาน 1.ตรวจยึด/จับกุมดำเนินคดีได้ 1 คดี จับกุมชาย 1 คนชื่อนายหน่อเอะ มีมิ 2.เผาทำลายเพิงพัก สิ่งปลูกสร้างทั้งสิ้น 98 หลัง 3.ถอนทำลายกัญชาที่ปลูกแซมในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ 4.พบว่าการบุกรุกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่เลื่อนลอยเพื่อเข้ามาปลูกข้าว พริก คาดว่าน่าจะเป็นบริเวณสะสมเสบียงสนับสนุนอาหารของกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ 5.ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นเพิงพัก ลักษณะบ้านกะหร่างปลูกบนเชิงเขาสูงเฉลี่ย 600-800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 6.พื้นที่บุกรุกที่ตรวจพบและเข้าดำเนินการทั้งสิ้น 24 กลุ่ม/จุด 7.รายการอาวุธของกลางที่พบและตรวจยึดได้ประกอบด้วย เคียว 8 อัน ขวาน 10 เล่ม มีด 25 เล่ม ตะไบ 5 ตัว เสียม 7 เล่ม ปืนแก๊ป 2 กระบอก แร้วดังสัตว์ 3 อัน คราด 1 อัน ซากหัวเก้ง 2 หัว ซากหมูป่า 1 หัว ซากเต่าหก 1 ซาก เงินไทย 9,400 บาท กระสุนปืนคาร์บิน 3 นัด สร้างลูกปัด และกำไลข้อมือ

เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเหตุที่ใช้อ้างในการเปิดยุทธการตะนาวศรี และผลที่ได้รับจากปฎิบัติการในครั้งนั้น สอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารกรมอุทยานฯและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ควรค้นหา โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ในป่าแก่งกระจาน สุดท้ายกลายเป็นประเด็นที่คณะกรรมการมรดกโลกตั้งคำถามและเป็นเหตุให้ผืนป่าแห่งนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลก

ข้อกล่าวอ้างเรื่องกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาหลบพักในพื้นที่ใจแผ่นดิน ซึ่งหลักฐานที่พบมีเพียงมีด ปืนแก๊ป และอุปกรณ์ทำมาหากินของชาวบ้าน หรือข้อกล่าวอ้างเรื่องการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งแท้ที่จริงคือการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีของชาวกะเหรี่ยงที่รัฐบาลไทยให้การรับรองว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่สำคัญคือมีหลักฐานหลายชิ้นระบุชัดว่าหมู่บ้านบางกลอยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่กันมานับร้อยปี ก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และก่อนมีกฎหมายอุทยานฯเสียด้วยซ้ำ หน่วยงานรัฐใช้อำนาจอะไรในการบังคับโยกย้ายชุมชนดั้งเดิมแห่งนี้ให้ออกจากป่าใหญ่ที่บรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงร่วมกันบุกเบิกกันมา

พ.ศ. 2555 ปู่คออี้ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานฯต่อศาลปกครอง และได้มีคำพิพากษาในอีก 6 ปีต่อมาสรุปว่า 1.การรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องทั้ง 6 ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แม้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เพื่อคุ้มครองและดูแลอุทยานฯก็ตาม แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำได้ตามอำเภอใจ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่รู้สำนึกถึงความเสียหายและเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจเกินความจำเป็นและไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขึ้นตอนมาตรา 22 แห่ง พรบ.อุทยานฯ ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายและละเมิดผู้ฟ้องทั้ง 6 ผู้ถูกฟ้องจึงต้องรับผิดแห่งผลการละเมิด โดยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ฟ้องที่ 1จำนวน 51,407บาท ผู้ฟ้องที่2 จำนวน 51,032 บาท ผู้ฟ้องที่ 3 จำนวน 51,407 บาท ผู้ฟ้องที่ 4 จำนวน 45,302 บาท ผู้ฟ้องที่ 5 จำนวน 50,807 บาทและผู้ฟ้องที่ 6 จำนวน 51,032 บาท (แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ชดใช้ให้รายละราว 10,000 บาท)

(อ่านรายละเอียดคำพิพากษา https://transbordernews.in.th/home/?p=14048 )

ผลของคำพิพากษาของศาลออกมาชัดเจนซึ่งอุทยานฯต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน แต่ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี เรายังไม่เคยได้ยินได้เห็นความเคลื่อนไหวของผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างไร ทั้งๆที่เป็นกรณีซึ่งทำให้รัฐเสียหายและควรมีคนรับผิดชอบ อย่างน้อยก็ควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ทุกอย่างกลับเงียบกริบ แม้กระทั่งล่าสุดเมื่อศาลได้อนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ คำตอบของผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯก็เป็นเพียงพยายามตัดตอนให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ทั้งๆที่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

วันนี้ชาวบ้านบางกลอยยังต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายอยู่ในแปลงอพยพที่ยังไม่ได้มีการทำตามสัญญา ข้าวที่เป็นพืชสำคัญต่อชีวิตและจิตวิญญาณของคนกะเหรี่ยงไม่สามารถปลูกได้ในผืนดินที่ทางการมอบให้ได้ เพราะเป็นดินลูกรังและขาดแหล่งน้ำ ชาวบ้านในวัยกำลังแรงงานต้องดิ้นรนออกมารับจ้างหาเลี้ยงปากท้อง หลายครอบครัวต้องบ้านแตกสาแหรกขาด คนเฒ่าคนแก่อยู่ด้วยความฝันที่จะได้กลับบ้านในป่าใหญ่ใจแผ่นดิน แต่เป็นฝันที่เลือนรางขึ้นทุกวัน

มีข้อเท็จจริงมากมายที่ควรค้นหา และมีภารกิจสำคัญเยอะแยะในขอบเขตอำนาจที่ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯควรรีบดำเนินการ ก่อนที่ทุกอย่างจะเลวร้ายไปกว่าเดิม

อย่าลืมว่าในพรบ.อุทยานฯฉบับปรับปรุงใหม่ กำลังสร้างปัญหาให้กับคนเล็กคนน้อยและชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในป่า แม้แต่ป่าไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาก็กำลังจะถูกยึดไปเป็นของรัฐ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตแนบแน่นอยู่กับป่าเขา แทบไม่เหลือที่ซุกตัวในแผ่นดิน

มาตรฐานในการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ของรัฐบาลไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ท้ายทาย

น้ำผึ้ง 6 ขวดที่เป็นเหตุให้บิลลี่ถูกจับ กำลังพัฒนาไปตามสำนวน “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามไปไกลกว่าที่คิด.

On Key

Related Posts

เมียนมาทยอยปล่อยตัวคนท้องถิ่นที่ถูกจับหลังกวาดล้างพนันออนไลน์ในเมืองท่าขี้เหล็ก ส่วนคนไทย-จีนยังรอขึ้นศาลคาดปล่อยตัวเร็วๆ นี้

เมื่อวันที่18 มีนาคม 2567 เพจสำนักข่าวฉานตะวันออก Read More →

เตรียมจัดใหญ่ “คิกออฟ” ระเบียงมนุษยธรรม 25 มี.ค.เชิญผู้แทนพิเศษประธานอาเซียนเข้าร่วม แม่ทัพใหญ่ KNU เปิดทางพร้อมประสานส่งความช่วยเหลือตรงสู่ประชาชนที่เดือดร้อนได้เลย-ไม่ต้องผ่านรัฐบาลทหารพม่า

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 รศ.ดร.ดุลภาค ปรีชารัชช Read More →

ไร้คำตอบจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ยกเลิกคำสั่งนำเข้าวัวพม่า ผู้ค้าชายแดนแม่สอดนัดชุมนุมใหญ่ 24 มี.ค.จี้รัฐปราบพวกลักลอบวัวเถื่อนจริงจัง

กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจชายแดนแม่สอด เผยเสียเวลาหลัRead More →