เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมมหกรรมที่ดินคือชีวิตครั้งที่ 2 “ฝ่าวิกฤตความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมที่ดินไทย” เนื่องในวาระครบรอบ 45 ปี การก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เพื่อย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ความเลื่อมล้ำที่ดินไทย และกระบวนการต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ต่อความไม่เป็นธรรม ตลอดจนหาแนวทางฝ่าวิกฤติที่ดินที่รุนแรงขึ้น
สำหรับในช่วงเช้ามีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “วิกฤติที่ดิน เมืองและที่อยู่อาศัย” โดยนายสุชิน เอี่นมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า การพัฒนาเมืองในปัจจุบันไม่ได้พัฒนาเพื่อคนจนและคนไร้บ้าน ยกตัวอย่างการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อคนจน เนื่องจากค่าโดยสารราคาสูง จากบ้านไป-กลับที่ทำงานบางคนต้องจ่ายถึง 280 บาทต่อวัน จึงไม่อาจมีเงินเหลือให้ครอบครัว การดำรงชีวิตในเมิืองจึงมีความลำบากมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนและคนไร้บ้านยังไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่มีบัตรประชาชนทั้งที่เป็นคนไทย ก็เป็นผลให้ไม่อาจเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัยได้
นายบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่ดินในประเทศไทยถูกจัดการด้วยกลไกตลาด คือผู้มีเงินสามารถเข้าถึงที่ดินสะสมไว้ในมือได้มาก แต่ปัจจุบันที่ดินได้กลายเป็นสินทรัยพ์เพื่อการเก็งกำไร ส่งผลให้ความเลื่อมล้ำสูงขึ้น คือคนมีเงินมากเท่าไรย่อมมีโอกาสทำกำไรจากที่ดินมากขึ้น สังคมถูกทำให้เชื่อว่าวิธีการนี้เป็นเรื่องปกติ ทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้กระทบเพียงคนจน แต่คนชั้นกลางก็ได้รับผลกระทบจากราคาที่อยู่อาศัยถีบตัวสูงขึ้น จนคนจำนวนมากไม่สามารถซื้อบ้านหรือคอนโดมีเนียมริมรถไฟฟ้าที่เป็นความฝันของคนชั้นกลางได้ โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาราคาที่อยู่อาศัยในเมืองสูงขึ้น 80% ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10% การที่รัฐปล่อยให้ที่ดินถูกจัดการด้วยกลไกของตลาด เกิดการเก็งกำไรอย่างเสรี ยิ่งทำให้คนจนอยู่อาศัยในเมืองยากขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องมองไปที่โครงสร้าง ลดการกักตุนเพื่อเก็งกำไรในที่ดิน เพื่อให้ราคาที่ดินในตลาดลดต่ำลง ไม่เช่นนั้นแม้แต่กลไกธนาคารที่ดินก็ไม่อาจมีเงินเพียงพอซื้อที่ดินมาจัดสรรให้คนจนได้
นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า สังคมทั่วไปจะมองคนที่อาศัยริมคลองเป็นผู้บุรุก และรัฐไม่ควรไปส่งเสริมให้คนมาบุกรุกหรืออาศัยริมคลอง นั่นเพราะการพัฒนาเมืองไม่เคยคิดว่าคนจนจะไปอยู่ตรงไหนที่พอจะมีกำลังในการจ่ายได้ จึงต้องทำโครงการบ้านมั่นคงที่ไปซื้อที่เอกชนหรือจากรัฐแล้วให้คนจนเช่าระยะยาว 30 ปี ถ้าเราทำได้มากกว่า 5 ชุมชนก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าเมืองมีที่ดินเพียงพอให้กับทุกคน เพียงแต่ต้องจัดการให้เหมาะสม นอกจากนี้รัฐต้องเริ่มสำรวจเมืองต่างๆ ว่ามีคนจนในเมืองเท่าไรที่เดือนร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มีอยู่เท่าไร ทั้งที่ดินกรมธนารักษ์ ที่ดินราชพัสดุ หรือที่ดินทหารเพื่อนำมาจัดสรรให้คนจนสามารถมีที่อยู่อาศัยมั่นคงก็น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
นายคมสันติ์ จันทร์อ่อน ผู้แทนมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นคือคนจนเมืองกำลังถูกขับออกจากเมือง เหมือนกับในชนบทที่ชาวบ้านกำลังถูกขับออกจากป่า โครงการพัฒนาของรัฐตอนนี้ทั้งรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์สายใหม่ เขตเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี ที่รัฐพยายามนำเสนอว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพให้เมือง แต่ไม่เคยชี้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างเช่นกรณีชุมชนทับแก้วที่มีสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟ 30 ปี คนของบริษัทเอกชนลงไปถามชาวบ้านว่าต้องการค่ารื้อถอนเท่าไร เป็นการบีบชาวบ้าน แสดงว่ากลุ่มทุนที่มีเงินสามารถครองครองที่ดินได้ทุกแปลง กรณีอีอีซี กฏหมายผังเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันบีบบังคับให้มีการปล่อยที่ดินไปสู่กลุ่มทุน จากสีเขียวที่เป็นพื้นที่เกษตรกลายเป็นสีม่วงคือพื้นที่อุตสาหกรรม ดังนั้นตัวเลขดัชนี GDP ที่เพิ่มขึ้นจึงสะท้อนความเลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้น ทางออกจึงต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้กฏหมายหลายฉบับ ทั้งกฏหมายอัตราภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า กฏหมายจำกัดการถือครองที่ดิน รวมถึงการผลักดันให้ธนาคารที่ดินนำที่ดินของรัฐและทหารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม
เวลา 15.00 น.ชาวบ้านหลายร้อยคนได้ร่วมกันเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อปักหมุดชาวนา “45 ปี สถานการณ์ที่ดินที่ไม่เปลี่ยนแปลง” และประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอภาคประชาชน ซึ่งขบวนเริ่มจากบริเวณหน้าหอประชุมศรีบูรพา โดยมีนายรังสรรค์ แสนสองแคว ผู้ปฏิบัติงานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือเป็นผู้นำขบวนพร้อมถือหมุดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ตามด้วยขบวนภาพผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ด้านที่ดิน และขบวนธงของแต่ละเครือข่าย เมื่อถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการแสดงล้อการเมืองเรื่องความเหลื่อมล้ำ เริ่มจากการปรากฏตัวของเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ต้นเหตุของการทำให้ที่ดินเป็นสินค้าเมื่อ 164 ปีก่อน ตามด้วยการเข้ามากุมอำนาจของทหารในหลายช่วงประวัติศาสตร์ของประเทศ นำมาสู่การเอื้อกลุ่มทุน และการทวงคืนผืนป่า จนเกิดโศกนาฏกรรมการสังหารชาวกะเหรี่ยง และการสังหารชาวนาชาวไร่ในหลายพื้นที่ในขณะที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ถือครองที่ดินในพื้นที่ของรัฐอยู่กว่า 1,700 ไร่ และมีนายทุนเพียงหนึ่งตระกูลที่ถือครองที่ดินไม่ต่ำกว่า 630,000 ไร่ ส่วนชาวบ้านที่มีที่ดินเพียงไม่กี่ไร่กลับถูกดำเนินคดีโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ เป็นการดำเนินคดีสองมาตรฐาน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ทั้งนี้คำประกาศเจตนารมณ์ในหัวข้อ “หยุดวิกฤติความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมที่ดินไทย”ได้เรียกร้องต่อสาธารณะว่า 1. เราจะรณรงค์เคลื่อนไหวกดดันเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยฉบับ พ.ศ. 2560 เพื่อสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมในระดับปัจเจกและระดับชุมชน 2. เราจะรณรงค์นำเสนอให้กลกรัฐสภา ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ กำหนดจำกัดการถือครองที่ดิน โดยกำหนดอัตราที่เหมาะสมตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องถึงที่สุดรวมทั้งข้อกฎหมายและบทบัญญัติต่าง ๆ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว 3. เราขอเรียกร้องต่อกลไกของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระจายการถือครองที่ดิน เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดิน และสถาบันบริหารจัดการที่ดิน ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงที่ดินได้ในขนาดที่เหมาะสม 4.ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน ทั้งการถือครองที่ดินของปัจเจก นิติบุคคล และที่ดินของรัฐ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในตรวจสอบการถือครองที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชนพลิกวิกฤติความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินในสังคมไทยโดยเร็ว
//////////////////////////