Search

ผู้ว่าธปท.จี้ ธ.พาณิชย์ร่วมรับผิดชอบปล่อยกู้โครงการส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม-สังคม เตรียมยกคณะดูงานเขื่อนไซยะบุรี- พิษเขื่อนในจีน-ลาวทำน้ำโขงแห้งกระทบทีมเรือลาดตระเวนตำรวจน้ำ หวั่นแก๊งยา-ค้าของเถื่อนอาละวาด

ขอบคุณภาพแม่น้ำโขงจากเครือข่ายชาวบ้าน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบช.ก.) เปิดเผยว่า การลาดตระเวนทางเรือของตำรวจน้ำที่ดูแลความปลอดภัยและปราบปรามอาชญากรรมบนแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพรมแดนไทยลาวกำลังจะต้องถูกปรับเปลี่ยน เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่สามารถคาดการณ์ได้เนื่องมาจากอิทธิพลจากการสร้างเขื่อนในจีนและลาว ซึ่งจากการลงพื้นที่ริมแม่น้ำโขง จ.มุกดาหาร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าระดับน้ำแห้งลงไปอย่างมากแบบไม่เคยปรากฎมาก่อน ทำให้เรือของตำรวจน้ำไม่สามารถแล่นได้ในบางส่วน ทราบว่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านทางภาคเหนือก็ประสบปัญหาเช่นกัน

 “เรือของตำรวจน้ำมีหลายแบบก็จริง แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรือขนาดยาว 5 เมตรถึง 6 เมตร เป็นเรือที่กินน้ำลึก มีอายุการใช้งานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ทันท่วงที ยิ่งน้ำแห้งพอเรือวิ่งลาดตระเวนไม่ได้ก็ทำให้ขบวนการค้ายาเสพติดและค้าของเถื่อนทำงานได้สะดวกมากขึ้น เพราะพวกนี้ใช้เรือเล็กมีความเร็วสูง กว่าเรือตำรวจจะสตาร์ทเดินเครื่องได้เรือคนร้ายก็วิ่งถึงฝั่งแล้ว” พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ กล่าว

ขอบคุณภาพแม่น้ำโขงจากเครือข่ายชาวบ้าน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง

พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า กำลังหารือกับผู้บังคับการตำรวจน้ำถึงการจัดหาเรือแบบใหม่ที่เข้ากับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปแบบคาดการณ์ไม่ได้และไม่เป็นไปตามฤดูการณ์ โดยอาจจะต้องจัดหาเรือยางท้องแบนแบบท้องเรือเป็นไฟเบอร์เพื่อป้องกันการกระแทกเมื่อวิ่งในน้ำตื้นและอาจจะขูดกับแง่หิน โดยเรือแบบนี้จะมีความคล่องตัวในทุกสภาพน้ำและมีความเร็วคาดว่าจะสามารถใช้ในการสกัดกั้นคนร้ายที่กำลังจะข้ามพรมแดนทั้งสองประเทศได้ เบื้องต้นได้ให้ตำรวจน้ำเสนอเรื่องการจัดซื้อขึ้นมาที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจากนั้นจะเสนอต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ประมาณเดือนธันวาคมมีกำหนดจะลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อตรวจสภาพลำน้ำโขงในอำเภอที่ติดกับแม่น้ำโขงด้วย

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธปท.ได้เชิญนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ น.ส.ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานองค์กรแม่น้ำเพื่อชีวิต (International Rivers) ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นแม่น้ำโขงและเขื่อนไซยะบุรี โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธปท.พร้อมด้วยสื่อมวลชนประมาณ 25 คนร่วมซักถาม ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 22-24 ธันวาคมทั้งหมดจะเดินทางไปดูงานที่เขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว แต่ได้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากการลงทุนของนักธุรกิจไทยและการปล่อยกู้ของเหล่าธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 6 แห่งในโครงการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ ถูกชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลเพราะการสร้างเขื่อนไซยะบุรีทำให้เกิดผลกระทบข้ามแดนจนประชาชนริมแม่น้ำโขงและระบบนิเวศได้รับผลกระทบข้ามแดนสร้างความเดือนร้อนในปัจจุบัน

ขอบคุณภาพแม่น้ำโขงจากเครือข่ายชาวบ้าน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง

ข่าวแจ้งว่าในที่ประชุมนายวิรไทได้ให้ความสนใจในเรื่อง ความผูกพันของกระบวนการปรึกษาหารือ (PNPCA) ว่าเป็นอย่างไร ทำไมข้อเสนอตามข้อเรียกร้องของ Fair Finance Thailand ที่ธนาคารพานิชย์ของไทยควรจะมีนโยบายประกาศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินใด ๆ แก่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างในแม่น้ำสายหลัก (mainstem) ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคตอย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี ตามข้อเสนอของผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมการแม่น้ำโขง  ทำไมต้องเป็น 10 ปี และน่าจะเสนอให้ธนาคารควรจะมีส่วนเรื่องของการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อและสังคม  

ขณะที่ น.ส. สฤณี กล่าวว่าปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องช่องทางตรงของธนาคารที่จะให้ผู้ได้รับผลกระทบร้องเรียน และธนาคารควรจะมีมาตรการในการตรวจสอบโครงการปล่อยกู้ลักษณะนี้ด้วยตัวเอง เพราะกรณีนี้ผู้ปล่อยกู้พึ่งพาข้อมูลจากลูกหนี้ทั้งหมดอย่างเดียวโดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบโดยตรง และต้องคำนึงถึงกระบวนการเยียวยา หรือ Due Diligent ธนาคารมีฐานะที่จะเรียกเร่งรัดหรือเรียกข้อมูลเพิ่มได้ และในข้อตกลงของแม่น้ำโขง กรณีนี้ก็มีความเสี่ยงทางกฎหมาย หากประเทศท้ายน้ำที่ได้รับผลกระทบใช้สิทธิตามข้อตกลงแม่น้ำโขงและพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากผลกระทบของเขื่อนจริง ๆ ก็อาจจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ก็เป็นได้

ส่วนนายนิวัฒน์ได้เล่าถึงประสบการณ์ผลกระทบจากเขื่อนจีนและกระบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดแม่น้ำโขงที่ผ่านมาโดยเฉพาะกรณีเขื่อนไซยะบุรี ตั้งแต่เริ่ม PNPCA จนฟ้องศาล เพราะกังวลเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →