รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า ในบันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 5 เรื่องที่ค้างพิจารณาคือญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ป่าสัก ที่นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นำญัตติทำนองเดียวกันอีก 18 ฉบับ ขึ้นมาพิจารณา รวมกันไปคือ 1. ญัตติด่วนเรื่องขอให้พิจารณาศึกษาปัญหา การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งนายสุทัศน์ เงินหมื่น และนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ
2. ญัตติ เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำ โขง กก อิง น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน แม่กลอง ซึ่ง นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ 3. ญัตติ เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล สงคราม ป่าสัก เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่ง นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ 4.ญัตติ เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำโขง ชี มูล สงคราม แม่น้ำลำพะยัง และลำน้ำปาว เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่ง นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ 5. ญัตติเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำลุ่มน้ำ เมย กก ปิง วัง ยม และน่าน ซึ่ง พตท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร และนายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอ
6. ญัตติเรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำในลุ่มน้ำฝั่งตะวันตก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งนายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ 7. ญัตติเรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการบริหารจัดการน้ำบริเวณลุ่มน้ำชีและลำน้ำสาขาแบบบูรณาการ ซึ่งนายฉลาด ขามช่วง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยกับคณะเสนอ 8. ญัตติเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการพัฒนาและบูรณาการลุ่มแม่น้ำสงครามอย่างเป็นระบบ ซึ่งนายเกษม อุประ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ 9. ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ทำการเกษตรตามโครงการ อ่างเก็บน้ำคลองหิน ตำบลคลองหิน อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งนายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ
10. ญัตติเรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาและหาแนวทางในการจัดทำโครงการก่อสร้างฝายกักเก็บน้ำในแม่น้ำลำพะยัง ตั้งแต่บริเวณตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จนถึงบริเวณอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่ง นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ 11. ญัตติเรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการบริหารจัดการและบูรณาการพื้นที่หนองหาร ลุ่มน้ำก่ำ ลุ่มน้ำอูน และลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม ซึ่งนายประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นผู้เสนอ 12. ญัตติเรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาการสร้างฝายกักเก็บน้ำลำเซบายและลำห้วยโพง ซึ่งนายธนกร ไชยกุล ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ 13. ญัตติเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ป่าสัก กก อิง น่าน เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง ซึ่งนายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย และนายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
14. ญัตติด่วนเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่ง นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.จังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย และนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ 15. ญัตติเรื่องขอให้ศึกษาแนวทางการผันน้ำ จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มายังอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหา การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม ซึ่งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ 16. ญัตติ เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา – พัทลุง และการผันน้ำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ
17. ญัตติเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบของลุ่มน้ำโขง เลย ล้าพะเนียง ห้วยหลวง ชี และมูล ซึ่ง นายขจิตร ชัยนิคมและนางเทียบจุฑา ขาวข้า ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ 18. ญัตติเรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในบริเวณแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำเสียวทั้งระบบ ซึ่งนางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ และนางสาวสกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้เมื่อผู้เสนอญัตติทั้ง 19 ฉบับ ได้แถลงเหตุผลตามลำดับ ที่ประชุมได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 49 คน เพื่อพิจารณาญัตติ โดยที่ประชุมได้มีมติให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 90 วัน
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่านักการเมืองมักไม่ได้มองเชิงเทคนิคว่าโครงการนั้นสามารถทำได้หรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ และส่งผลกระทบอย่างไร ยิ่งหากนักการเมืองคนใดไม่มีใครให้ข้อมูลหรือที่ปรึกษาส่วนตัวที่เข้าใจเรื่องราวก็จะมีรูปแบบการคิดแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายก็ทำไม่ได้จริง เหมือนกรณีโครงการผันน้ำโขง ชี มูล ที่เคยเกิดขึ้นสมัยที่นายประจวบ ไชยสาส์น ผลักดันในยุคที่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ราชการและนักการเมืองไม่เคยสรุปบทเรียน และยังฟังนักจินตนาการในประเทศไทยพูด
ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำฯ กล่าวว่า ถ้าคิดในเชิงภูมิศาสตร์การผันน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย และกรมชลประทานจัดการน้ำตามแรงโน้มถ่วง โดยผันน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำ ซึ่งมีศักยภาพในการส่งน้ำไม่เกิน 40 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่เกษตรนอกเขต เช่น ปลูกอ้อย ปลูกปาล์ม ไม่ได้เป็นพื้นที่ใช้น้ำ ดังนั้นจึงต้องแยกให้ออกว่าการจะผันน้ำเข้ามาคุ้มค่าหรือไม่ ที่สำคัญ ในภาคอีสานในโครงการโขง ชี มูล นั้น เราไปดูงานประเทศออสเตรเลียเกี่ยวกับการผันน้ำลุ่มน้ำเมอร์เล่ย์ -ดาร์ริ่ง แต่ในที่สุดออสเตรเลียก็ต้องยกเลิกไป เพราะมีเกลือแพร่กระจาย ดังนั้นเวลาคิดโครงการเหล่านี้อย่าคิดว่าจะเอาแต่ได้
“พวกเขาไม่ค่อยคิดเรื่องความคุ้มค่าเพราะไม่ได้ใช้เงินของตัวเอง แต่เป็นภาษีของส่วนรวม ยิ่งถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ผันน้ำข้ามลุ่ม เช่น สาละวิน แม่น้ำโขง ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล เพราะต้องขุดเจาะอุโมงค์ขนาดใหญ่เป็นระยะทางไกลๆ ไม่มีทางคุ้ม และถ้าจะผันน้ำโขงในภาคอีสานจะผันฤดูไหน เพราะตอนนี้แม่น้ำโขงมีเขื่อนกั้นจนน้ำแห้ง ถ้าผันหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำ ถ้าผันหน้าฝน ภาคอีสานก็มีน้ำเยอะอยู่แล้ว การที่หลายคนยังยึดติดอยู่กับโขง ชี มูล เพราะไม่เคยสรุปบทเรียนในเชิงพื้นที่ที่เคยดำเนินการ ผมคิดว่าก่อนเดินเรื่องนี้ ควรสรุปบทเรียนก่อนดีมั้ย สมัยก่อนเคยมีโครงการผันน้ำชีลงน้ำมูน แต่ก็ทำไม่ได้เพราะมีเกลืออยู่ เมื่อน้ำไหลมาแช่ ทำให้เกลือแพร่กระจายไปด้วยจนใช้น้ำไม่ได้ ”นายหาญณรงค์ กล่าว และว่าการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคอีสาน ควรบริหารตามศักยภาพที่มีเพราะภาคอีสานไม่ได้ขาดแคลนน้ำและมีป่าบุ่งป่าทามมากมาย และไม่ใช่พื้นที่ทำนาสองครั้ง แต่เห็นด้วยควรเก็บน้ำไว้ในป่าบุ่งป่าทามเหล่านี้ และเอาน้ำมาใช้ได้ตามศักยภาพ เราต้องนิยามภาคอีสานใหม่ว่าไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่ต้องการน้ำตามฤดูกาล
นายหาญณรงค์กล่าวว่า ทราบว่าในวันที่ 28 พฤศจิกายน คณะกมธ.ชุดนี้จะประชุมนัดแรก ซึ่งยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นประธาน แต่ตนมองว่า ส.ส.บางคนที่เสนอญัตตินี้ไม่ควรเป็นประธาน เพราะไม่สง่างาม เนื่องจากเป็นผู้ผลักดันโครงการ และควรให้ผู้เชี่ยวชาญและมีความเป็นกลาง มาทำหน้าที่ประธานจะเหมาะสมกว่า ที่สำคัญคือกระทู้เหล่านี้ การตั้งกมธ.ขึ้นมาควรศึกษาจริงๆ ไม่ใช่ผลักดันโครงการ แต่เท่าที่อ่านในกระทู้ทั้งหมดมีทั้งศึกษาและผลักดัน
“กระทู้ตั้งมากมายมารวมกันในครั้งนี้ ผมเข้าใจว่ากระทู้เกือบทั้งหมด เขาอาจมองว่าหากไม่เสนอช่วงนี้ ก็ไม่รู้จะเสนอในช่วงไหนแล้ว เพราะหากชาวบ้านมีสิทธิมีเสียงหรือมีพลังมากกว่านี้ เขาคงไม่มีโอกาส จึงดูเหมือนรุมกินโต๊ะ หรือรุมทึ้งงบประมาณ ส่วนโครงการจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กระทู้กลุ่มนี้เป็นเหมือนกระทู้ที่แบบนัดแนะกัน และมีความจงใจ ภายใต้รัฐบาลนี้ เพราะเขาเชื่อว่าประชาชนไม่มีทางรวมตัวกันได้เพราะถูกกดตลอด 5 ปี ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบประเมินภาคประชาชนต่ำไป” นายหาญณรงค์ กล่าว และว่าอยากชวนภาคประชาชนที่ติดตามโครงการต่างๆ ทั้งแม่น้ำโขง สาละวินและที่อื่นๆ ตั้งเวทีคู่ขนานตรวจสอบการทำงานของกมธ.ชุดนี้ด้วย ไม่ใช่ให้กมธ.ตัดสินใจลำพัง และกมธ.ควรรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนด้วย