Search

เผยนายจ้างหัวหมอเลี่ยงจ่ายค่าประกันสังคมให้แรงงานข้ามชาติ-ใช้วิธีหัก 10% เอาจากลูกจ้างส่งสปส. คนงานแฉสารพัดปัญหาถูกเอาเปรียบ

นายแอ คำอ้าย แรงงานข้ามชาติ (ถือไมค์) กำลังเปิดเผยข้อเท็จจริงของสภาพปัญหาที่ได้รับ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ที่สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) ได้มีเสวนาวิชาการเรื่องชีวิตแรงงานข้ามชาติในเชียงราย โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายแอ คำอ้าย แรงงานข้ามชาติจากชมรมการกุศลตะแวแกละ และนายชาตรี รุ่งศรีสุขจิต ผู้แทนมูลนิธิชนเผ่าลุ่มน้ำโขง น.ส. Pyone Thidar Aung ผู้แทนมูลนิธิวัฒนเสรี โดยมีนายสืบสกุล กิจนุกร ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มฟล.เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายแอ คำอ้าย แรงงานข้ามชาติ กล่าวว่าปัญหาของแรงงานข้ามชาติมีหลากหลาย เช่น ทำงานแล้วไม่ได้ค่าจ้าง การไม่รู้ภาษา และเมื่อเกิดปัญหาไม่รู้ว่าจะไปแจ้งที่ใด บางส่วนถูกกนายจ้างกลั่นแกล้งไล่ออกจากงาน บางคนมีปัญหาสุขภาพเวลาป่วยก็ไม่กล้าไปหาหมอเพราะไม่มีบัตร บางครั้งเข้าไปเจรจากับนายจ้างก็ลำบากมาก

“สมัยก่อนผมไม่กล้าสู้หน้านายจ้าง ไม่กล้าคุยด้วย เมื่อเร็วๆนี้ได้รับการร้องเรียนให้ช่วยเหลือคนงาน 15 คนไม่ได้ค่าจ้างมาเกือบสองเดือน พวกเขาไม่รู้จะไปฟ้องใคร เขาจึงมาขอปรึกษาเรา ตอนแรกนายจ้างอ้างว่าจะให้ แต่ให้ขอให้เราไปคุยกับเขาก่อน ตอนแรกผมก็ไม่กล้าไปเพราะกลัวเขาจะต่อว่าที่เห็นเราอยู่กับผู้ใช้แรงงาน แต่สุดท้ายไปนั่งคุยกันนับชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้อะไร เราไปแจ้งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ซึ่งเขาก็โทรไปหานายจ้างและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือทุกอย่าง ท้ายสุดนายจ้างยอมจ่ายให้หมด”นายแอ คำอ้าย กล่าว

นายชาตรีกล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2662 มีเพื่อนทนายความมาปรึกษาเรื่องที่ลูกจ้างข้ามชาติถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)จับกุม ทั้งๆที่ทำงานอย่างถูกต้องในอาชีพกรรมกรที่กฎหมายอนุญาต และเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เคยมีผู้ใช้แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้พกใบอนุญาตติดตัวทำงาน เมื่อตม.และเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดไปตรวจก็ถูกจับ เพราะไม่ทันได้หยิบใบอนุญาตที่อยู่ให้ห้องพักด้านหลังและถูกนำขึ้นฟ้องศาล เขาต้องอยู่ในเรือนจำ 5-6 คืนเมื่อเอาบัตรมาแสดงก็ได้รับการปล่อยตัว กลายเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เรามองเขาเป็นอื่น ยังมองว่าแรงงานข้ามชาติสร้างบัญหา ทั้งๆที่เขามาช่วยทำงาน

นายชาตรีกล่าวว่า ในเชียงรายมีแรงงานข้ามชาติมาลงทะเบียนกว่า 3 หมื่นคน โดยส่วนใหญ่ทำงานกรรมกร ภาคเกษตร และมีบ้างที่ทำงานรับใช้ตามบ้าน ที่พบมากสุดคือเรื่องของความไม่เข้าใจด้านกฎหมาย วัฒนธรรมและภาษา โดยมูลนิธิฯเคยช่วยเหลือแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุจากการขับรถ เขาต้องรักษาตัวอยู่เกือบ 1 ปีซึ่งตอนนั้นรัฐบาลมีงบประมาณสำหรับรักษาผู้ยากไร้ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลจัดงบประมาณเช่นนี้ไว้

นายชาตรีกล่าวว่า อีกกรณีหนึ่งคือแรงงานข้ามชาติประสบอุบัติเหตุถูกไฟฟ้าช็อตที่อำเภอแม่จันเมื่อมกราคม 2562และแพทย์บอกให้ตัดแขน โดยประกันสังคมได้อนุมัติเงินทดแทนให้กว่า 1 ล้านบาท โดยเขาต้องมาเบิกเงินเป็นครั้งๆไป ซึ่งลำบากมากเพราะตอนนี้เขาย้ายกลับไปอยู่บ้านในพม่าแล้ว แต่เขาต้องกลับมาเอาเงินในประเทศไทยเป็นงวดๆ

น.ส. Pyone Thidar Aung ผู้แทนมูลนิธิวัฒนเสรี กล่าวว่าแรงงานข้ามชาติ เอกสารที่ใช้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่นายจ้างจะให้นายหน้าดำเนินการยื่นเรื่องขอรับลูกจ้างแทน และนายจ้างก็เก็บค่าใช้จ่ายที่เสียให้กับบริษัทจากลูกจ้างอีกที เราพยายามให้แรงงานไปยื่นด้วยตัวเองเพื่อประหยัด แต่แรงงานบอกว่าพอเขาไปยื่นเอกสารฝั่งพม่า 3-4 รอบ ทำอย่างไรก็ไม่ผ่านแม้จะเขียนทุกอย่างเหมือนที่นายหน้าทำแล้วก็ตาม จนท้ายสุดคนงานต้องหันกลับมาใช้บริการของนายหน้าซึ่งทำเรื่องเพียงครั้งเดียวก็ผ่าน

น.ส. Pyone Thidar Aung กล่าวว่าระบบประกันสังคมเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เนื่องจากที่เมียนมาไม่มีระบบนี้ โดยร้อยละ 65 ของนายจ้าง ไม่จ่ายค่าสมบทเข้าสู่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) แต่จะใช้วิธีหักจากแรงงานทั้งหมด 10 % (ตามกฎหมายนายจ้างจ่าย 5% ลูกจ้างจ่าย 5%) นอกจากนี้นายจ้างส่วนใหญ่มักไม่จ่ายเงินสมบทเข้าสู่ประกันสังคมตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งๆ ที่ หักเงินจากแรงงานไปแล้ว ทำให้แรงงานไม่สามารถที่จะใช้สิทธิประกันสังคมได้ เช่น การรักษาพยาบา และนายจ้างส่วนใหญ่ไม่รับผิดชอบในการที่ตนไม่จ่ายเงินเข้าสู่ประกันสังคม ซึ่งลูกจ้างแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่กล้าร้องเรียนประกันสังคมในการที่นายจ้างไม่จ่ายประกันสังคมเพราะกลัวทำให้ตนต้องเดือดร้อนเนื่องจากกลัวตกงาน และเมื่อลูกจ้างที่ต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับประกันสังคมก็ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการร้องเรียนต่อสถานทูต/สถานกงสุลพม่าได้ เช่น โทรศัพท์ไปแล้วโทรไม่ติด หรือโทรติดแต่แรงงานไม่สามารถบอกปัญหาและความต้องการของตนเองได้

ผู้แทนมูลนิธิวัฒนเสรีกล่าวว่า ปัญหาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างคือไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นภาษาที่ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจ และไม่มีการมอบสัญญาจ้างให้ลูกจ้างเก็บไว้ โดยร้อยละ 50 ของแรงงานไม่ได้รับเงินค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะผู้หญิง
ส่วนใหญ่นายจ้างไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ให้ และไม่จ่ายค่าล่วงเวลาพิเศษตามกฎหมาย เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยจากการทำงานก็ไม่ได้รับค่าจ้างทั้งๆ ที่ กฎหมายกำหนดไว้ ขณะที่ในสลิปเงินเดือนไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีการหักเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และไม่ได้ระบุเป็นภาษาพม่า นอกจากนี้การย้ายออกจากนายจ้างเดิม นายจ้าง/ตัวแทนนายจ้างมักไม่ให้ใบแจ้งย้ายออก ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถหางานได้ทันภายใน 15 วัน

“มีตัวอย่างที่น่าสนใจกรณีของนายเน ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนในขณะขับรถจักรยานยนต์กลับจากที่ทำงาน ทำให้กระดูกแขนขวาร้าว และได้เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งนายแพทย์ระบุในเอกสารที่นายเนจะต้องนำไปยื่นขอค่าชดเชยจากการขาดรายได้จากประกันสังคม ปรากฏว่า ประกันสังคมบอกว่าให้นำใบรับรองแพทย์ซึ่งต้องระบุข้อความว่า “หยุดพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานานเท่าใด” ซึ่งมูลนิธิวัฒนเสรีได้เข้าไปพบแพทย์เพื่อขอใบรับรองแพทย์ ซึ่งแพทย์ก็ให้แต่มิได้ระบุว่าต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นระยะเวลาเท่าใด เขียนแต่เพียงว่าให้งดใช้แขน และคล้องแขนไว้เป็นระยะเวลา 18 สัปดาห์ เมื่อนำไปยื่นกับประกันสังคม ทางประกันสังคมบอกว่ายื่นนะยื่นได้ แต่จะต้องถูกปฏิเสธในการจ่ายค่าชดเชย” น.ส. Pyone Thidar Aung
//////////////////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →