เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดกิจกรรม 15 ปีโครงการศิลปะชุมชน โดยมีเวทีเสวนาในหัวข้อแม่น้ำหายไปไหน โดยวิทยากรประกอบด้วยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้แทนเครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำสาละวิน น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการองค์การแม่น้ำนานาชาติประจำประเทศไทย และดำเนินรายการโดยน.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวจากรายการข่าวสามมิติ
นายนิวัฒน์ กล่าวว่าปัจจุบันแม่น้ำโขงอยู่แต่ตัวแต่จิตวิญญาณกำลังดับสูญ ปีนี้เป็นปีที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าคนเราไม่หยุดทำลายแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงจะไม่เหลือแล้ว และหากยังถูกพัฒนาภายใต้ความคิดแบบเดิม มองแม่น้ำคือพลังงาน ถนน ซึ่งเป็นการมองแบบอมนุษย์ เพราะถ้าเป็นมนุษย์ต้องมองแม่น้ำแบบมีชีวิต โดย 20 ปีของการพัฒนา แม่น้ำโขงได้ส่งสัญญาณว่า ถ้าไม่หยุดการพัฒนาแบบนี้ ไม่หยุดสร้างเขื่อน แม่น้ำโขงจะวิบัติแน่นอนและจะเหลือแต่ซาก
นายนิวัฒน์กล่าวว่า กรณีเขื่อนไซยะบุรีเป็นการเดินหน้าภายใต้กิเลสของมนุษย์ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดชี้ให้เห็นว่า แม่น้ำโขงถูกทำลายแน่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปหมด บริษัทที่สร้างเขื่อนอ้างว่าเป็นต้นแบบไปทุกอย่าง บอกว่าเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีเขื่อนไหนไม่กักน้ำ เป็นเขื่อนที่คนโง่คิดและชี้ชัดแล้วว่า ระดับน้ำท้ายเขื่อนและหลังเขื่อนต่างกันชัดเจน โดยปัจจุบันเขื่อนเป็นนวัตกรรมที่ล้าหลังและไม่ใช่แหล่งพลังงานของโลก รัฐบาลต้องคิดเรื่องพลังงานสะอาด ต้องคิดเรื่องพลังงานที่ไม่หมดไปจากโลกนี้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นทางเลือกที่ถูกต้องที่สุด แต่ประเทศเรายังใช้นวัตตกรรรมเก่า
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาน้ำทั้งระบบและผลักดันการผันน้ำในลุ่มน้ำโขงและสาละวิน ว่าปัญหาของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากประชาชนแต่เกิดจากรัฐและผู้คุมกฎหมายที่ทำมาหากินจากธรรมชาติ โดยวิธีการผันน้ำที่สส.พูดกันนั้น อยากถามว่ารู้จักแม่น้ำโขงจริงหรือไม่ ตนเชื่อว่าการผลักดันครั้งนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งนั้น ซึ่งสมัยก่อนโครงการผันน้ำโขง ชี มูน กก อิงน่าน ไม่เกิดเพราะว่าชาวไม่เห็นด้วยเนื่องจากมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมสูงมาก เวลามีปัญหามีแต่คิดว่าจะเอาน้ำมาเพิ่มและจะลงทุนเพิ่มโดยบอกว่า 6 ปี คุ้มค่าเพราะคิดแต่กำไร แต่ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเสียไป ไม่เคยคิด
“แม่น้ำทุกสายต้องให้คนที่อยู่กับแม่น้ำมีส่วนร่วมในการจัดการ เพราะอยู่ร่วมมานาน ปัจจุบันถูกจัดการโดยภาครัฐหมด อยากฝากไว้ว่า คนทางเหนือมีคำว่า ขึด คือคำว่าไม่ดี ไม่ถูก ไม่สมควรทำ คือ ห้ามถมน้ำบ่อ จะสร้างความฉิบหายให้บ้านเมือง ห้ามเอาแม่น้ำหนึ่งไปลงน้ำสายหนึ่งเพราะความวิบัติฉิบหายจะเกิดขึ้น ระบบนิเวศที่เป็นมาแบบธรรมชาติมันลงตัวแล้ว แต่ถ้าเอาน้ำมาเชื่อมกัน มันจะสร้างความฉิบหายทั้งหมด วิบัติแน่นอน คนในอดีตจึงไม่คิดเรื่องแบบนี้” นายนิวัฒน์ กล่าว
น.ส.คำปิ่น อักษร ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ กล่าวว่าปรากฎการณ์ที่เกิดวิกฤติท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี ตอนที่น้ำท่วมอุบลน้ำโขง ปลาเยอะมาก โดยเดือนตุลาคมชาวบ้านตามุย จ.อุบลฯบอกว่ามีปลาขึ้นมาเป็นฝูงเยอะมากซึ่งชาวบ้านยังแปลกใจ เพราะปลาหลงฤดู เหมือนแม่น้ำถอนหายใจเฮือกๆรายวัน ซึ่งตอนนี้คือแม่น้ำโขงใสมากตอนนี้ ระดับน้ำขึ้น-ลงวันต่อวัน ข้อเสนอคือ ต่อไปจะเป็นอย่างไรในการจัดการน้ำของประชาชนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำ
นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าวว่าสภาพแม่น้ำโขงตอนนี้ เปรียบเหมือนสรีระของคน ของประเทศไทย โดยแม่น้ำโขงเป็นแขนซ้ายและแม่น้ำสาละวินเป็นแขนขวา ซึ่งมือซ้ายกำลังจะเน่าและพิการ กำลังลามเข้ามาในแขนขวา ชีวิตผู้คนจะได้ผลกระทบมากขึ้น ถ้ามือสองข้างพิการจะเกิดอะไรขึ้น เรากังวลมากว่า ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ เพราะว่ารัฐบาลต้องการพัฒนา เหมือนแม่น้ำเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่แห้งขอด อยากจะเอาน้ำจากลุ่มน้ำอื่นมาเติม ทั้งแม่น้ำเงา ยวม ถ้าจะเอาเลือดของคนอื่นมาเติมแล้ว ได้ถามเจ้าของหรือยัง และคิดว่าประชาชนคงไม่เอาด้วย
น.ส.เพียรพรกล่าวว่า แม่น้ำโขงจากจีนมีการสร้างเขื่อนไปแล้ว 11 แห่งจาก 28 โครงการ และในตอนล่างมี 11 โครงการ โดยโครงการล่าสุดคือโครงการเขื่อนไซยะบุรี และด้านขวาคือแม่น้ำสาละวิน ที่ยังไม่มีโครงการสร้างเขื่อนและยังไหลเป็นฤดูกาลมาก แต่การไหลของแม่น้ำโขงขึ้นอยู่กับการผลิตไฟฟ้าและการเดินเรือ ทำให้แม่น้ำโขงผันผวนมากที่สุด และล่าสุดที่มีสส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นร่วมกันที่จะผันน้ำสาละวิน ยวม เมยและโขง เป็นแนวคิดที่เก่ามาก 30 ปีที่แล้ว และมีข้อสังเกตว่าการพัฒนานี้เป็นการโครงการเพื่อการทำผลกำไรโดยเอาทรัพยากรส่วนรวมไปผลิตกำไรให้กับคนกลุ่มเล็กๆ และโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง แม่น้ำเหล่านี้มีการส่งเสริมการลงทุนมาก การซื้อไฟฟ้าด้วยบริษัทเดียว และไม่มีมาตรการ กลไกกำกับดุแล ที่สำคัญคือเงินลงทุนการพัฒนาในโครงการเหล่านี้ คือเงินในกระเป๋าของพวกเราทั้งนั้น
ดร.ชวลิต วิทยานันท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่คือ ผลประโยชน์ของกลุ่มทุน แต่อ้างว่าเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ผู้เสียประโยชน์คือ ประชาชนรากหญ้าที่ได้ใช้ไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย แต่ไม่อยากตำหนิคนเหล่านี้ เช่น คนลาว เหมือนคนปลูกฝิ่น แต่คนที่ได้รับผลประโยชน์หลักคือ คนไทย ซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและอื่นๆชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการอพยพของปลา ซึ่งเคยถามข้อมูลของบริษัทซึ่งบอกว่าเป็นความลับ
ดร.ชวลิตกล่าวว่า กรณีปรากฎการณ์น้ำใสๆ ในแม่น้ำโขงเนื่องจากอยู่ท้ายเขื่อนไซยะบุรี ช่วงที่มีการกักน้ำที่มีปลาตายมากๆ ตะกอนถูกกักไว้ สิ่งที่ตามมาคือการพังของตลิ่ง ประจุไฟฟ้าบวกและลบเท่ากัน น้ำใสที่ไหลออกมา เมื่อตะกอนแม่น้ำดั้งเดิมถูกกัก ประจุไฟฟ้าที่อยู่ตามตลิ่งก็จะถูกดึงออกไป ตลิ่งจะพังเร็วขึ้น ดินแดนของเราก็จะเสียมากขึ้น เมื่อเกิดตลิ่งพัง ก็จะมีการเสริมกั้นตลิ่งที่มีการทำทั้งประเทศไทย แม่น้ำทุกสายตั้งแต่แม่สาย ถึงเบตง แม่น้ำเหล่านี้ถูกใช้หากินของหน่วยงานราชการ ริมตลิ่งที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของสัตว์น้ำต่างก็จะหายไป ปัญหาเหล่านี้คือเกิดจากการคุกคามของหน่วยรัฐเป็นหลัก
“ปัญหาเรื่องน้ำใส การจับปลาในปีแรกๆจะได้เยอะมาก เพราะปลามันตื่นน้ำ แต่ในปีต่อๆไปจะหาปลายากมากขึ้น เพราะมันหมดลง ต้องเปลี่ยนอาชิพ เศรษฐกิจนิเวศไม่ถูกคิดรวม น้ำโขงใสเหมือนการตายผ่อนส่ง”ดร.ชวลิต กล่าว
////////////////////////