เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 นายธีรเชษฐ์ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เปิดเผยถึงกรณีที่ นายอนุชา น้อยวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.พิษณุโลก พรรคพลังประชารัฐ อ้างว่าได้ถวายฎีกาการสร้างเขื่อนคลองชมพู ว่า ชาวบ้านมองว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นการแอบอ้างนำเบี้องสูงมาเป็นเครื่องมือเพื่อกดดันชาวบ้าน ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากชาวบ้านได้คัดค้านการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำชมภูมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนปี 2544 โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการผลักดันเขื่อนนี้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่สุดท้ายรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว อีกทั้งหลายหน่วยงานได้เข้ามาเก็บข้อมูลพบพันธุ์พืชหายากและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ชี้ชัดว่าการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศของป่าต้นน้ำ
นายธีรเชษฐ์ กล่าวว่า การที่นายอนุชาพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างเขื่อนมาตลอดหลายปีนั้น ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะผลประโยชน์จากงานก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันในกลุ่มชาวบ้านว่าใครบ้างที่มีธุรกิจโรงโม่หิน และรับเหมาก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ จึงพยายามดึงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำมาเป็นแรงหนุน โดยอ้างเหตุผลเรื่องน้ำแล้งน้ำท่วม แต่กลับไม่พูดถึงผืนป่า ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไป นอกจากนี้นายอนุชายังถือครอง ภบท.5 อีกเกือบ 500 ไร่ ก็อยากให้มีการตรวจสอบว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าและเกี่ยวข้องกับพื้นที่เหมืองหินด้วยหรือไม่
“ชาวบ้านต่อสู้มานาน แก่ตายไปก็หลายคน รัฐบาลก็ยกเลิกไปหลายครั้ง ก่อนหน้านี้กรมชลประทานอ้างพระราชดำริ ตอนนี้นายอนุชาเอาเบี้องสูงมาแอบอ้าง เพราะเขาทำทุกวิธีแล้วสร้างเขื่อนไม่ได้ อยากให้ชาวบ้านอย่ามองถึงการทำเกษตรอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงสมดุลของระบบนิเวศด้วย ถ้าเราไม่มีป่าก็ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ทางเลือกของการจัดการน้ำมีอีกหลายวิธี เช่นการสร้างฝายขนาดเล็กที่กระทบน้อยกว่า เพราะถ้ามีเขื่อนแล้วต้องทำลายป่าต้นน้ำหมดแล้วจะเอาน้ำมาจากไหน อย่างช่วงแล้งปีนี้หลายพื้นที่ก็มีเขื่อน แล้วเขื่อนมีน้ำปล่อยมาให้หรือไม่ หรือหน้าฝนน้ำก็ยังคงท่วม มีเขื่อนแล้วแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ก็อยากฝากให้ชาวบ้านที่มีส่วนได้เสียคิดให้ดีกับเรื่องนี้” นายธีรเชษฐ์ กล่าว
ด้านนายอนุชา ให้สัมภาษณ์ว่า การไปยื่นถวายฎีกาการสร้างเขื่อนคลองชมพู เพราะต้องการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง ร.9 ซึ่งทางสำนักพระราชวังได้แนะนำว่า หากเป็นความต้องการของชาวบ้านจริง ควรให้ชาวบ้านทำประชาคมและนำรายชื่อมายื่นถวายฎีกา จึงได้ประสานไปแต่ละหมู่บ้านให้เตรียมทำประชาคม เพราะเชื่อว่าชาวบ้านจะเห็นด้วยให้สร้างเขื่อนอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่หลายอำเภอในพิจิตรและพิษณุโลกต้องประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมมานาน จึงมีการเรียกร้องให้สร้างเขื่อนมากกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งในคลองชมภูแต่ละปีมีปริมาณน้ำมากแต่ไม่สามารถกักเก็บไว้ใช้ประโยชน์ได้เลย จึงควรนำน้ำเหล่านี้มาใช้ดีกว่าปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเล
“มีป่า 3 แสนไร่ สร้างเขื่อนแค่ 1 พันไร่ ก็สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้ ที่ผมออกมาผลักดันเพราะหวังเพียงบุญกุศลได้ช่วยชาวบ้าน ส่วนที่ยังคัดค้านคือชาวบ้านชมภู ม.1 กับ ม.3 ก็ถือเป็นส่วนน้อย คน 1 แสนได้ประโยชน์ กับคนต้านแค่ 100 คนถ้าให้ประชาคมก็แพ้อยู่แล้ว อยากให้มองถึงประโยชน์ที่เราสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ดีกว่า ดูตัวอย่างจีนรู้คุณค่าของน้ำ ก็สร้างเขื่อนแม่น้ำโขงเก็บน้ำไว้ใช้ได้ประโยชน์มหาศาล” นายอนุชากล่าว
ทั้งนี้ โครงการเขื่อนคลองชมพู เป็นโครงการของกรมชลประทาน ที่พยายามผลักดันการพัฒนาลุ่มน้ำด้วยการสร้างเขื่อนกั้นคลองชมภูในเขตป่าต้นน้ำมาโดยตลอด กินเนื้อที่ป่า 2,700 ไร่ ของเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จนนำไปสู่การบรรจุอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลก่อน แต่ด้วยกระแสคัดค้านของสังคม ที่กังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป โดยบริเวณป่าต้นน้ำคลองชมพูถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีการพบจระเข้น้ำจืดหลายตัว ถือว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงหลงเหลือจระเข้อยู่ และเป็นพบศิลาวารีและพืชพรรณเฉพาะถิ่นหายากหลายชนิด