Search

เมื่อ EEC กลืนกินวิถี “บางปะกง” ฤดูสุดท้ายของชาวประมงและนกปากห่าง

โดย ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี

หากมองถึงแผนที่ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (EEC) เป็นนโยบายสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่รัฐบาลตั้งเป้าให้สำเร็จ คงจะมองเห็นความย้อนแย้งอย่างชัดเจนในการเปลี่ยนผืนดินอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทยให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมครบวงจร ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ดั่งที่รัฐบาลวาดหวังให้มีเม็ดเงินลงทุนหลั่งไหลเข้ามาพลิกโฉมเศษฐกิจของประเทศ

ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่แถบปากแม่น้ำบางปะกงอันอุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของ EEC ที่โอบคลุมไปทุกตารางนิ้วของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ที่นี่เป็นตัวอย่างชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

“กัญจน์ ทัตติยกุล” สมาชิกเครือข่ายเพื่อนตะวันออก และกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) ให้ความหมายถึงผืนดินแถบนี้ว่า เป็นพื้นที่เกษตรชั้นดี มีระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ซึ่งมีไม่กี่แหล่งในประเทศที่อุดมสมบูรณ์เช่นนี้ หน้าแล้งชาวบ้านเลี้ยงปูและกุ้ง เข้าหน้าฝนปลูกข้าว และเป็นแหล่งพันธุ์ข้าวที่เมล็ดพันธุ์จะถูกกระจายไปสู่ชาวนาทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลากระพงขาวส่งไปยังฟาร์มปลาทั้งในและนอกประเทศ ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และฐานเศรษฐกิจหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่อย่างมั่นคง

นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเดินหน้า EEC นักลงทุนหอบเงินเข้ามากว้านซื้อรวบรวมเป็นผืนดินแปลงใหญ่ ราคาที่ดินถีบตัวขึ้นไปหลายเท่าไกลเกินกว่าชาวบ้านจะมีสิทธิ์ เมื่อที่ดินกลายเป็นสินค้า ความเปลี่ยนแปลงจึงส่งผลโดยตรงต่อชุมชน

“ที่ดินถูกกว้านซื้อขายผ่านนายหน้าหลายทอด ราคากระโดดไปถึงไร่ละ 4 ล้าน 11 ล้าน ไปถึงไร่ละ 15 ล้าน แนวโน้มยังเพิ่มขึ้นอีก” ชาวบ้านให้ข้อมูล

สถานการณ์ของชุมชนไม่สู้ดีนัก เมื่อชาวบ้านหลายสิบครัวเรือนในตำบลเขาดินกำลังถูกไล่รื้อ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าที่ดินทั้งเป็นที่บ้านและที่ทำกิน โดย “จำลองศรี จันทร์” หรือป้าแอน คือหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับหนังสือขับไล่ หรือบางรายมีหมายศาลมาถึงหน้าบ้าน โดยไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินถูกขายไปแล้ว

“บ้านหลังนี้เป็นของสามีที่อยู่มาตั้งแต่เกิดจนอายุ 70 ปี ทำมาหากินที่นี่ไม่เคยไปไหน แต่อยู่ๆ ส่งหนังสือขับไล่มาให้ทุกคนในบ้านถึงสามี ป้า ลูก และหลาน ให้ย้ายออกภายใน 15 วัน เพื่อนบ้านก็เพิ่งขึ้นศาลไป 2 ครัวเรือนเดือนหน้าต้องไปขึ้นศาลอีก 2 ครัวเรือน แล้วของป้ายังไม่รู้เลยว่าของป้าจะวันไหน บอกตรงๆ ชาวบ้านไม่มีปัญญาขัดขวางเขาทำนิคมโรงงาน ไม่มีอำนาจขนาดนั้น เพราะเขาซื้อที่ดินไปแล้ว ป้าจะไปคัดง้างได้อย่างไร แค่อยากให้คุยกับชาวบ้านบ้าง” ป้าแอนระบายความอัดอั้นในใจ

แม้ไม่ได้ถือครองที่ดินเป็นเพียงผู้เช่า แต่ชาวบ้านดั้งเดิมจำนวนไม่น้อยแม้จะเกิดเติบโตที่นี่ บางครัวเรือนอยู่กันมาเกินกว่า 2 รุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า หากแต่การตัดสินใจอพยพโยกย้าย ละทิ้งวิถีที่หล่อเลี้ยงปากท้องมาชั่วชีวิตจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“เช่ามานานหลายสิบปีแล้ว ก็ไม่ได้ทำสัญญาเช่า พอตอนเจ้าของขายที่ดินให้บริษัทชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย จริงแล้วคนเช่าต้องมีสิทธิ์รู้ก่อนหรือไม่ แต่เขาคงได้ราคาดีเลยรีบขาย รู้อีกทีบริษัทก็มาปักป้ายห้ามเข้า จริงๆ น่าจะบอกชาวบ้านบ้างให้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจหาที่ทางไป เด็กๆ ก็ยังเรียนหนังสือ แล้วจะไปหาผืนดินที่สมบูรณ์แบบนี้ได้ที่ไหน รัฐบาลควรแก้ปัญหาพื้นที่ใหม่ให้ชาวบ้านยังทำกินได้เหมือนเดิม” ป้าแอนยืนอยู่หน้าบ้านตนเอง เป็นบ้านไม้สภาพเก่าที่ล้อมรอบไปด้วยบ่อปลาบ่อกุ้ง นับรอวันถูกไล่รื้อ

ฝูงนกปากห่างนับร้อยๆ ตัวคุมเชิงอยู่ไม่ไกล เฝ้ารอโอกาสจับปลา ชาวบ้านกำลังวิดปลาขึ้นจากบ่ออยู่ไม่ไกล ปลาที่หลุดรอดจากตาข่าย บ้างว่ายไปหลบในแอ่งโคลนหรือร่องน้ำก็จะตกเป็นเหยื่อของพวกมัน

“นรี สอนประสิทธิ์” หรือป้ารี พาพวกเราไปดูชาวบ้านกำลังวิดปลา ส่วนใหญ่เป็นปลากระบอก ปลาสลิด ปลาหมอเทศ ปลานิล มีปูและกุ้งอยู่บ้าง โดยเล่าว่า “ชาวบ้านจะวิดปลาปีละ 2 ครั้ง การเพาะเลี้ยงทำได้ง่ายมาก คือช่วงน้ำขึ้นจะปล่อยน้ำเข้ามาในบ่อ พวกลูกปลา ลูกกุ้ง ลูกปู มันจะเข้ามาในบ่อเองพร้อมกับตะกอนอาหารแร่ธาตุต่างๆ ไม่ต้องให้อาหารเลย คอยดูแลเรื่องน้ำอย่างเดียว พอถึงเวลาเราก็วิดขึ้นมาขาย พอหน้าฝนเราก็ทำนาได้ ก็พอได้เงินก้อนไว้จ่ายในครัวเรือนบ้าง ค่าเทอมลูกหลานบ้าง”

นี่อาจเป็นฤดูสุดท้ายของชาวบ้านและนกปากห่างภายหลังเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ขั้นตอนจากนี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้ ซึ่งจะทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมทับซ้อนพื้นที่เกษตรกรรมจากสีเขียวให้กลายเป็นสีม่วง ล่าสุดทราบข่าวจากชาวบ้านว่าเริ่มมีการถมบ่อปลาและที่นาปรับพื้นที่รอการเดินหน้าสร้างนิคมอุตสาหกรรม

การประกาศกฏหมายผังเมืองใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนับเป็นการเปิดประตูสู่ EEC อย่างสมบูรณ์ โรงงานอุตสาหกรรมจะผุดขึ้นแทนท้องนา บ่อปลา และป่าแสม ทุกอย่างทุกโครงการที่จะเกิดขึ้นล้วนเชื่อมโยงกับ EEC ทั้งนั้น ซึ่งเป็นคราเดียวกันในการปิดตายชุมชนดั่งเดิมในพื้นที่

ขณะที่ชาวบ้านพยายามทักท้วงเรียกร้องให้มีการเปิดเผยร่างผังเมืองใหม่และเปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น เพราะเชื่อว่ากระบวนการไม่ได้เป็นไปตามศักยภาพของพื้นที่ ขัดหลักวิชาการ และเร่งรัดใช้กฏหมายเพื่อเอื้อต่อกลุ่มทุน

ไม่เพียงแต่ชาวบ้านเขาดินที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ เสียงระทมทุกข์กำลังท่วมท้นไปทั้งแผ่นดินตะวันออก

————-


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดย Earth Journalism Network ภายใต้ Internews และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →