
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเรียกร้องต่อรัฐและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ ภายหลังจัดเวทีเสวนา “จากปารีณา 1,700 ถึงกรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ของคนจน รัฐบาลประยุทธ์มีกี่มาตรฐาน”เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2562 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่าคนเล็กคนน้อยผู้ที่เผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายการทวงคืนผืนป่า สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างมหาศาลของสังคมไทย และความเหลื่อมล้ำ ไร้มาตรฐาน เลือกปฏิบัติของรัฐต่อประชาชนคนยากคนจนกับนายทุนและนักการเมืองผู้มีอำนาจอิทธิพล จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
- การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นอิสระและให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงจากพื้นที่ พิจารณาให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ชาวบ้านที่โดนดำเนินคดีอันเนื่องมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และคดีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐ รวมถึงความบิดเบือนในการดำเนินการ อาทิ คดีโลกร้อน โดยจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชนจากกฎหมาย นโยบาย และการดำเนินการที่ผิดพลาดของทุกหน่วยงาน
- รัฐบาลจะต้องยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า แผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ พ.ศ.2557 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยุติการขยายผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวทันที และจะต้องให้เอาหน่วยงานทหาร และหน่วยงานด้านความมั่นคงออกจากกลไกการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่ดินและทรัพยากรป่าไม้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ
- การปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ ทบทวนและแก้ไขนิยามคำว่าป่าไม้ตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ที่ดินทุกฉบับ รวมทั้งคำสั่งภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ค.ส.ช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ส.น.ช.) เนื่องจากเป็นนโยบายและกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในวงกว้าง รัฐจะต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการดำเนินการทางนโยบายและกฎหมายจะต้องยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน การรับรองสิทธิชุมชน และจะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และประชาชนสามารถเข้าถึงที่ดินอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้อย่างเป็นธรรม
- รัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลการครอบครองที่ดิน ยกเลิกการประกาศที่ดินรัฐทุกประเภทที่ซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยและที่ดินหรือพื้นที่สาธารณะของชุมชน จัดการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้กระทำผิดในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน และ/หรือผู้ที่ครอบครองที่ดินโดยผิดกฎหมายโดยเฉพาะนายทุนและนักการเมืองที่มีการใช้อิทธิพลและอำนาจในการครอบครองที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) หรือ ภบท. อย่างมิชอบ รวมถึงให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับจะต้องแสดงความรับผิดชอบในทุกกรณีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว
ทั้งนี้ในเวทีเสวนานางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทบังคับให้ตัดฟันยางพาราในพื้นที่ทำกิน 12 ไร่ในปี 2556 และ 2558 ประมาณ 700 ต้น และถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งดำเนินคดีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 กล่าวว่า การที่ตนลงทุนปลูกยางพาราหวังส่งลูกเรียนหนังสือ จนวันนี้จากที่เป็นเจ้าของสวนยางพาราต้องกลายเป็นลูกจ้างกรีดยางพารา มีรายได้ไม่พอกินจนลูกต้องออกจากโรงเรียน
“ตอนนี้ลูกไม่ได้เรียนหนังสือ เขาขอเงินวันละ 50 บาทยังไม่มีให้ลูกเลย เราไม่รู้จะไปหาที่ไหนมาให้ ไปรับจ้างก็ไม่พอกิน มันมีความรู้สึกว่า จากที่เราปลูกต้นยาง จะได้กรีดยาง แต่วันนี้ดิฉันต้องมารับจ้างกรีดยางเอาเงินมาวิ่งคดี เรารู้สึกว่าทำไมเราไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย ความเป็นธรรไม่มีให้เราเลย มันรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมรัฐถึงทำแบบนี้ ทำไมกับคนของรัฐมีตั้งเยอะแยะ ทำไมไม่ดำเนินคดี”นางวันหนึ่งกล่าว
นายสิทธิพล สอนใจ ชาวบ้านอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 1 ในผู้ได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่สวนป่าห้วยน้ำหิน 7,821 ไร่ และมีผู้ถูกดำเนินคดี 298 คน ตั้งแต่ปี 2559 ก่าวว่าจนถึงวันนี้มีหนี้สินท่วมหัว กลายเป็นลูกหนี้ชั้นเลวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่เดิมได้แล้ว
“ตอนเจ้าหน้าที่ตรวจยึดพื้นที่เขาให้เราไปชี้ ถ่ายรูป โดยให้เหตุผลว่าจะให้ทำกินต่อไป ให้ไปชี้จุดรังวัด ถ้าตรงไหนไม่ชี้ ไม่ปรากฏใครเป็นเจ้าของจะยึดคืนเป็นพื้นที่ พี่น้องก็อยากมีสิทธิทำกินเลยไปชี้จุด เกิดเป็นการดำเนินคดีแจ้งความชาวบ้าน ผลกระทบนี้เกิดขึ้นมากมายมหาศาลมาก อยากให้เห็นว่าภาระหนี้สิน เศรษฐกิจ สุขภาพร่างกาย หนี้สินเฉพาะกับ ธ.ก.ส. 44 รายรวม 18 ล้านบาท มีพี่น้องเสียชีวิตจากภาวะเครียด ทั้งเส้นเลือดตีบและแตก บางคนก็เป็นอัมพาตครึ่งท่อน” เกษตรกรจากอำเภอนาน้อยเล่า
ขณะที่นางนิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ชาวบ้านผู้ถูกดำเนินคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง กล่าวว่าชาวบ้านซับหวายได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ตั้งแต่โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) จนถูกประกาศอุทยานแห่งชาติไทรทองทับ และถูกทวงคืนผืนป่าในรัฐบาล คสช. โดยเราพยายามเรียกร้องให้มีกระบวนการตรวจสอบสถานะผู้ยากไร้ที่ได้รับการคุ้มครองตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 และการบอกว่านโยบายทวงคืนผืนป่าคือการทวงคืนจากนายทุนนั้นไม่จริง มีแต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
“เราพยายามให้มีการตรวจสอบสถานะผู้ยากจนยากไร้ ก่อนการดำเนินคดีด้วยซ้ำไป เราผลักดันก่อนที่จะเกิดนโยบายทวงคืนผืนป่า แต่ก็เกิดคดีขึ้นกับพี่น้องชาวบ้าน เราคิดว่านโยบายทวงคืนผืนป่าที่ตามนโยบายเป็นการทวงคืนจากนายทุน แต่กลายเป็นกระทบพี่น้องชาวบ้าน บางคนมีแค่ 6 ไร่ก็โดนดำเนินคดี บางคนมี ภบท. 5 เขาก็บอกว่าไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ การผลักดันของเรา ผลักดันมา 3-4 ปี เพิ่งตรวจสอบสถานะผู้ยากจนยากไร้เสร็จเมื่อเดือนตุลาคม มีใครยืนยันได้อีกไหมว่าเราจะไม่กลับไปนอนคุกอีก” นางนิตยากล่าว
นายประยงค์ ดอกลำใย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กอ.อพช.) กล่าวถึงคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ และในจำนวนนั้นกำหนดให้มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นการแบ่งงบประมาณกันระหว่างกรม โดยกรมป่าไม้ดูเรื่องป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดูพื้นที่ปาอนุรักษ์ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบว่าตั้งแต่มีนโยบายทวงคืนผืนป่า มีคดีความเกิดขึ้นอย่างน้อย 46,000 คดี และน่าเสียใจที่ทั้ง2 กรมไม่สามารถพูดจำแนกได้ว่าเป็นนายทุนและคนจนอย่างละกี่คดี
“5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคัดค้าน กล้าพูดเลยว่าถ้ายังใช้วิธีนี้ไม่มีทางทวงคืนผืนป่าได้ตามเป้า คุณกำลังประกาศเป็นศัตรูกับประชาชน 10 ล้านคน เท่ากับ 1 ใน 5 ของคนในประเทศนี้ ความล้มเหลวของนโยบายนี้คือ คุณล้มเหลวตั้งแต่ต้น สิ่งที่ คสช. ทำได้คือ ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 บอกว่าการทวงคืนนี้จะไม่กระทบผู้ยากไร้ ประจักษ์พยานเกิดขึ้นชัดเจนมากจากเวทีที่พี่น้องมาสะท้อน การทวงคืนผืนป่าไม่ได้กระทบผู้ยากไร้ไม่จริงครับ ผมคิดว่าจะต้องมีการทบทวน สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. เขาบอกว่าเขาประสบความสำเร็จมากในการทวงคืนผืนป่า แต่คดีชาวบ้านเพิ่มขึ้น แล้วแก้ปัญหาได้ไหม แก้ไม่ได้” นายประยงค์กล่าว