สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

สำรวจโครงการผันน้ำยวมลงอ่างภูมิพล หวั่นเจาะอุโมงค์ทะลุป่า ทำลายระบบนิเวศต้นน้ำยับเยิน ชาวบ้านรุมค้าน-จวกกรมชลประทานหมกเม็ดข้อมูล

ตัวแทนชุมชนตลอดเส้นทางโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (โครงการผันแม่น้ำยวม) รวมถึงชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ต่างแสดงความเห็นคัดค้านโครงการดังกล่าว และเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงความเสียหายต่างๆที่จะตามมามากมาย โดยเฉพาะระบบนิเวศของผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และตาก ซึ่งจะมีการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาผ่าป่าอันอุดมสมบูรณ์

แม่น้ำยวมบริเวณที่จะตกเป็นอ่างเก็บน้ำหลังจากสร้างเขื่อน

ระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคม 2562 ทีมผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ (www.transbordernews.in.th) ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสำรวจตลอดแนวเส้นทางของโครงการซึ่งกรมชลประทานกำหนดไว้ในแผนงานโครงการผันน้ำยวม มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่แม่น้ำยวม ระหว่าง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยจะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมห่างจากจุดบรรจบกับแม่น้ำเมยไปทางเหนือน้ำ 13.8 กิโลเมตร เป็นเขื่อนคอนกรีต มีความสูง 69.50 เมตร ยาว 180 เมตร เพื่อยกระดับน้ำให้กับสถานีสูบน้ำที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย และจะสูบน้ำขึ้นไปยังบ่อพักน้ำก่อนที่จะส่งลงสู่อุโมงค์คอนกรีตดาดเหล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 8.30 เมตร โดยความยาวของอุโมงค์ราว 63.47 กิโลเมตร เพื่อผันน้ำไปลงที่ห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

ทั้งนี้ในจุดแรกที่ทีมผู้สื่อข่าวลงพื้นที่คือห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นปากอุโมงค์ที่ผันน้ำมาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยมีนายวันไชย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดพาไปดูจุดที่เป็นปากอุโมงค์ บริเวณดังกล่าวอยู่ริมห้วยแม่งูด ซึ่งหมู่บ้านแม่งูดมีประชากรราว 700 คน ส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง และเคยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อ พ.ศ.2507

นายวันไชย กล่าวว่า ตนและชาวบ้านต่างคัดค้านผันน้ำยวมครั้งนี้เพราะเป็นโครงการที่จะทำให้น้ำท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้านไม่น้อยกว่า 50 ราย ซึ่งชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อาศัยในย่านนี้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลมาแล้วครั้งหนึ่งตั้งแต่ 50 กว่าปีก่อน ชาวบ้านต้องอพยพโยกย้ายมาอยู่ปลายอ่างเก็บน้ำ โดยที่ดินที่ชาวบ้านทำกินในปัจจุบันเป็นของนิคมสหกรณ์แม่แจ่ม ซึ่งมีเพียงใบจับจองเท่านั้น แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ใดๆ พื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 260 เมตร (ม.รทก.) เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านก็อยู่ริมๆ ขอบอ่าง หากพ้นแนวดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ป่าสงวน ทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่แบบห่วงกังวลเพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ เป็นของตัวเอง ทั้งที่อยู่กันมานาน

นายวันไชย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ให้สัมภาษณ์บนลำน้ำแม่งูดซึ่งอุโมงค์ผันน้ำมาลงบริเวณนี้

“กรมชลประทานผลักดันโครงการผันน้ำครั้งนี้ เขาคงคิดว่าพื้นที่ตามแนวอุโมงค์ไม่ต้องเวนคืนอะไร เพราะเป็นพื้นที่ป่าสงวนและที่ดินของอ่างเก็บน้ำ เขาไม่ได้คิดว่าบริเวณนี้มีชาวบ้านทำกินอยู่ และชาวบ้านคุยกันหลายครั้งแล้วว่าโครงการนี้แทบไม่มีประโยชน์กับพวกเราเลย เพราะผันน้ำแค่ช่วงหน้าฝน ซึ่งช่วงนั้นพวกเรามีน้ำเยอะอยู่แล้ว เขาบอกว่าเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับคนภาคกลาง แต่ชาวบ้านในพื้นที่กลับไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย พวกเราอยู่ขอบๆ อ่างก็เกิดน้ำท่วมเสมออยู่แล้ว หากเพิ่มน้ำมาอีกก็จะท่วมสวนลำไยของพวกเรา” นายวันไชย กล่าว

ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดกล่าวว่า นอกจากตนทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยังรวมกลุ่ม 15 หมู่บ้านในพื้นที่ฮอดและอมก๋อย ตั้งเป็นชมรมกระเหรี่ยงโผล่ง ซึ่งในที่ประชุมของชมรมฯ ได้เคยหารือในเรื่องโครงการผันน้ำและมีมติร่วมกันว่าจะคัดค้าน

“ผมแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอด ในวันที่เขาไปเปิดเวทีรับฟังที่ อ.สบเมย ผมก็ไป และลุกขึ้นชี้แจงว่าพวกเราในอำเภอฮอดไม่เห็นด้วย ทุกวันนี้ยังแทบไม่มีใครเข้ามาชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจ ที่สำคัญคือเอกสารต่างๆ ของทางการ เป็นเอกสารที่เป็นภาษาไทยซึ่งชาวกะเหรี่ยงบ้านๆ อ่านไม่ออก พวกเรารู้สึกหดหู่ใจมากเมื่อได้ยินชื่อโครงการนี้ เพราะเขาไม่เคยเห็นใจชาวบ้านเหนืออ่างเลย พวกเราถูกย้ายตอนสร้างเขื่อนมาครั้งหนึ่งแล้ว จะต้องให้เราเสียสละอีกหรือ พวกเราเป็นชาวกะเหรี่ยงที่อยู่กับป่าและรักษาป่า จะให้เราไปอยู่ที่อื่น เราก็ไม่ไป เราอยากอยู่ที่เดิมบ้านเกิดของเรา” นายวันไชย กล่าว

หลังจากนั้นทีมผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ ได้ลงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสำรวจแนวอุโมงค์ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า จากการสอบถามขาวบ้านอมก๋อย ส่วนใหญ่ยังไม่เคยรับรู้ว่าจะมีอุโมงค์ผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพลผ่าน ทั้งๆ ที่ระยะทาง 64 กิโลเมตรที่ขุดเจาะอุโมงค์เกือบ 90% อยู่ในเขตป่าของอำเภออมก๋อย โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านอูตูม ต.นาเกียน ซึ่งเขียนไว้ในโครงการว่าเป็นเส้นทางอุโมงค์และจุดวางกองหินที่ขุดเจาะ ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสมบูรณ์และมีไร่หมุนเวียนของชาวบ้านกะเหรี่ยงสลับอยู่เป็นหย่อมๆ ทั้งนี้ชาวอมก๋อยได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ไว้อย่างดีจนสามารถรักษาผืนป่าไว้ได้จำนวนมากและในหลายพื้นที่เคยได้รับรับรางวัลจากองค์กรต่างๆ โดยล่าสุดชาวอมก๋อยได้ร่วมกันออกมาต่อต้านการสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินจนสำเร็จ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีมลพิษเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์

นายพิบูลย์ ธุรมลฑล สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์อมก๋อย กล่าวว่าชาวบ้านยังไม่รู้มาก่อนว่าจะมีอุโมงค์ขนาดใหญ่เจาะทะลุผ่านพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเพราะตามแผนของโครงการผันน้ำ พื้นที่ที่อุโมงค์จะเจาะทะลุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าและไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน โดยก่อนหน้านี้ตนเคยได้ยิน​โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลเมื่อหลายปีก่อนและเรื่องได้เงียบหายไป​ จนกระทั่งทางผู้บริหารเขื่อนภูมิพลได้ชวนผู้นำหมู่บ้านทั้งอบต.และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปร่วมประชุม ทำให้เริ่มติดตามข่าวนี้จนได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น และรู้สึกเป็นห่วงในเรื่องผลกระทบเป็นอย่างมากเนื่องจากแนวท่อได้ตัดผ่านไร่หมุนเวียนของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจำนวนมาก

นายพิบูลย์ ธุรมลฑล สมาชิกกกลุ่มชาติพันธุ์อมก๋อย กำลังอธิบายระบบนิเวศที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้าง​อุโมงค์

“ชาวบ้านไม่รู้ว่าต่อไปเจ้าของไร่หมุนเวียนที่ถูกแนวอุโมงค์พาดผ่านจะยังทำไร่ต่อไปได้หรือไม่ ในเอกสารที่ทางกรมชลประทานนำมาแจกเมื่อตอนเปิดเวทีบอกว่าจะต้องขุดเจาะและนำหิน-ดิน มาวางไว้ตามหุบเขาในป่า เราไม่รู้ว่ากองหินเหล่านั้นจะมีสารพิษอะไรหรือไม่ แถวนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ มีลำห้วยมากมาย หากมีสารพิษเจือปนชาวบ้านจะทำอย่างไร ทุกวันนี้พวกเราต่างใช้ประปาภูเขา” นายพิบูลย์ กล่าว

นายพิบูลย์กล่าวว่า​ ปัจจุบันพื้นที่ป่าในอำเภออมก๋อยยังเหลืออยู่มากเพราะชาวบ้านช่วยกันดูแลและได้แบ่งพื้นที่ เช่น เป็นป่าชุมชน ป่าต่างๆ หากโครงการนี้เกิดขึ้นป่าเหล่านี้จะยังเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีดั้งเดิมที่ชาวบ้านอยู่กันมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ที่สำคัญคือตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องเลยว่าจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะไม่เคยมีใครมาชี้แจง โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงจำนวนไม่น้อยไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ดังนั้นหากแจกเอกสารเป็นภาษาไทยอย่างเดียวชาวบ้านคงเข้าไม่ถึง

“ทุกวันนี้เรามีคุณภาพชีวิตที่เป็นปกติสุขดีอยู่แล้ว เมื่อมีโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเข้ามาพวกเราย่อมรู้สึกเป็นกังวล อย่างกรณีสร้างเหมืองแร่ถ่านหิน เราก็ไม่ทราบกันมาก่อน จนกระทั่ง 5 วันสุดท้ายที่เขาประกาศ เราถึงได้รู้และร่วมกันคัดค้านทั้งอำเภอ โครงการผันน้ำก็เช่นกัน ตอนนี้เรากำลังจะนัดแกนนำหารือกันเป็นการด่วน เอาข้อมูลมาดูเพื่อช่วยกันเผยแพร่ให้ชาวบ้านรับรู้โดยเร็วเพราะเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก” นายพิบูลย์ กล่าว

ช่วงสุดท้ายทีมข่าวลงพื้นที่จุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่บ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นนั่งเรือตามลำน้ำแม่ยวมไปดูพื้นที่จุดก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำสูง 68 เมตร ซึ่งตลอดแนวตลิ่งสองข้างเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะต้นสัก ซึ่งหากมีการกั้นแม่น้ำ ป่าเหล่านี้จะต้องถูกน้ำท่วมเพราะบริเวณนี้น้ำจะยกตัวสูงขึ้น นอกจากนี้บริเวณนี้ยังมีน้ำตกเล็กๆ​ และเกาะแก่งอันสวยงามซึ่งจะตกอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเช่นกัน หากมีการสร้างเขื่อน ซึ่งแม้ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ยินข่าวโครงการผันน้ำมาบ้างแล้ว โดยบางส่วนเคยร่วมเวทีรับฟังความเห็นที่กรมชลประทานจ้างทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาจัดขึ้นแล้วก็ตาม ซึ่งชาวบ้านได้ตั้งคำถามมากมายโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและสถานีสูบน้ำ แต่กลับไม่ได้คำตอบ ทำให้ชาวบ้านต่างพากันคัดค้านโครงการ

ขณะเดียวกันจากการสำรวจแม่น้ำยวมยังพบว่ามีบ้านอีกหลายหลังที่อยู่ริมแม่น้ำแต่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ทางการต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่อยู่ในอีไอเอ ทำให้เจ้าของบ้านต่างรู้สึกวิตกกังวลเพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ใด

นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้จุดสร้างสถานีสูบน้ำและปากอุโมงค์ของโครงการผันน้ำกล่าวว่า กรมชลประทานได้มาลงพื้นที่หลายครั้ง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยรองอธิบดีกรมชลประทานรายหนึ่งได้มาลงพื้นที่แม่น้ำสองสี แต่ไม่ได้คุยกับชาวบ้านแม้ตนพยายามเข้าไปยื่นหนังสือแต่เข้าไม่ถึง

นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ ชาวบ้านแม่เงา ที่ต้องย้ายบ้านหากโครงการเกิดขึ้น กำลังชี้ให้ดูบริเวณที่เป็นจุดสร้างสถานีสูบน้ำและปากอุโมงค์

“ผมใช้ชีวิตที่นี่ ขออยู่ที่นี่ ชีวิตเรากว่าจะนับถึงสิบในวันนี้ได้ จะให้ถอยไปเริ่มนับหนึ่งใหม่คงไม่ไหว ต้นไม้แต่ละต้นที่ผมปลูกกว่าจะออกดอกออกผล ต้องใช้เวลา ข้อมูลของชาวบ้านอยู่กินอย่างไรเขาไม่เคยมาถาม ข้อมูลผลกระทบไม่ชัดเจน มีแต่ข้อมูลของเขา เราให้ข้อมูลไปเขาคงเอาไปทิ้ง ทุกครั้งที่จัดเวที ตัวแทนของกรมชลประทานเอาแต่พูดๆ​ ข้อดี 3-4 ชั่วโมง เหลือเวลาอีกนิดเดียวให้เราพูดตอนท้าย เราฝากข้อมูลไป แต่เขาไม่เคยสนใจ แม่ฮ่องสอนมีแม่น้ำปาย แม่น้ำเงา แม่น้ำยวม คนเข้ามา นักท่องเที่ยวมาเห็นเขาบอกว่าสะอาด เย็น อยากได้เอาไปไว้ในเมือง ทุกวันเรากินน้ำประปาภูเขา เป็นน้ำสะอาด ไหลมาจากป่า ปัญหาคือหากโครงการเกิดขึ้นจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน ปัจจุบันเรื่องที่ดินทำกินก็ขยายไม่ได้ หากขยายก็ถูกยึด” นายประจวบ กล่าว

นายประจวบกล่าวว่า ทุกวันนี้ในฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำก็เอ่อท่วมถนนอยู่แล้ว หากกั้นเขื่อนจะไม่ท่วมหมู่บ้านได้อย่างไร เขาบอกว่าปากอุโมงค์สูบน้ำ จะกระทบบ้านเรือนจำนวน 4 หลัง แค่ขอบรั้วที่ติดบ้านตนคือบ้านลุงหม่อง เขาบอกว่าไม่กระทบ ซึ่งจนถึงบัดนี้ ถ้าต้องย้ายเขาก็ยังไม่บอกว่าจะให้ย้ายไปไหน

นายธงชัย เลิศพิเชียรไพบูลย์ อายุ 48 ปี ชาวบ้านแม่เงา ซึ่งมีโกดังถั่วเหลืองอยู่ใกล้ปากอุโมงค์ กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยนเรศวร มาให้ข้อมูลและให้เซ็นเอกสาร แต่ตนไม่เซ็น ที่น่ากังวลคือเวลาจะเจาะอุโมงค์ส่งน้ำต้องเอาหินออกมากองข้างบน ฝนตกก็ต้องไหลลงแหล่งน้ำแน่นอน ไม่ใช่กองดินเล็กๆ เขาบอกว่าเขาจะอัดแน่นซึ่งพูดได้ แต่ทำยาก และตนไม่เอา

“พวกเราอยู่กับป่ากินกับป่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งอาจจะถูกหลอกว่าจะได้เงิน ปลาจากแม่น้ำเงาเป็นปลาที่ว่ายมาจากแม่น้ำสาละวิน ผ่านแม่น้ำเมย แต่ละปีๆ ก็ว่ายขึ้นมา มาออกลูกวางไข่ ต่อไปถ้าสร้างเขื่อนจะว่ายมาได้อย่างไร” นายธงชัย กล่าว

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →