Search

ศ.สุริชัยแนะหน่วยงานรัฐปรับท่าทีใหม่ในการดูแลแม่น้ำโขง-ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ปลา 90%เสี่ยงสูญพันธุ์

เมื่อวันนี้ 13 ธันวาคม 2562 ที่สำนักงานนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง กทม.กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงและสมาคมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันจัดการเสวนา “จากท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝนสู่โขงสีคราม: ปัญหา ผลกระทบ และความรับผิดชอบ” โดย ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปรากฎการณ์แม่น้ำโขงไม่ใช่เรื่องสงคราม แต่คือความชุ่มเย็นของแม่น้ำ การคิดเรื่องสันติภาพ เรากำลังอยู่ในยุคใหม่ของความมั่นคง ต้องคิดถึงความมั่นคงในมิติใหม่ของชีวิต การไม่มีอาหาร ไม่ปลากิน เราต้องตั้งหลักและเรียกร้องใหม่ ความมั่นคงยุคใหม่คือ มนุษย์อยู่อย่างไรกับสิ่งแวดล้อม คนไทยอยู่อย่างไรกับแม่น้ำโขง เมื่อไทยเป็นประธานอาเซียน จะทำหน้าที่อย่างไร ไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ห่างไกลแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

ศ.สุริชัยกล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงเชื่อมโยงกัน ชาวบ้านเดือดร้อนจนตั้งหลักไม่ได้ การรับรู้ที่แตกต่างกันและจะชี้ไปว่าผู้ร้ายผู้ดีคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูหลายตัวละคร สมาคมธนาคารที่ให้กู้ ก็ต้องกำกับการลงทุนด้วย ความรับรู้ที่แตกต่างต้องยกระดับเพื่อร่วมทุกข์กัน ไทยมียุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ก็จะไปไม่ถึง ประเด็นเรื่องวิชาการเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนก็สำคัญ วิชาการด้านไฟฟ้า ประมง และด้านอื่น ๆ กรมกองที่ดูแลเรื่องนี้ เวลาเกิดปัญหาเราจะปล่อยให้ชาวบ้านแบกรับความเสี่ยงไม่ได้และต้องมีส่วนตัดสินใจไปด้วย เป็นจุดที่ต้องทบทวน รัฐบาลต้องมีการประชุมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องแม่น้ำโขงต้องเป็นเรื่องสำคัญ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีการปรับท่าทีการทำงานกันใหม่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันข้ามกระทรวง

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง กล่าวว่า ผลกระทบของเขื่อนต่อความหากหลายทางชีวิภาพ มีผลต่อความเป็นอยู่ของคนในหลายระดับ ทั้งความมั่นคงทางอาหาร น้ำ แม่น้ำโขงมีความหลากหลายสูงมาก เมื่อ 3 ปีที่แล้วการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่า พื้นที่แหล่งวางไข่สำคัญคือ ปลาบึก ปลายี่สก กระจัดกระจายในเขตจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ โดยกรมประมงมีการตั้งแคมป์เพาะพันธ์ปลาเอินในเขตจ.เลย. นอกจากนี้ยังมี ปลาซวยสอซึ่งเป็นปลาที่มีวัฎจักรตัวอ่อนที่ปากแม่น้ำโขงในเวียดนามและขึ้นมาเจริญวัยตอนบน และกลับออกไปหากินที่ทะเล รสชาติจะอร่อย ปลานี้จะเดินทางขึ้นมาวางไข่ตอนบน ปลาแม่น้ำโขงมีโอกาสสูญพันธุ์มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะใน 5 ชนิด อาทิ ปลาบึก ปลาเลิม ปลากระโห้ และยังมีนกที่สำคัญคือ นกเป็ดพม่า นางนวลแกลบแม่น้ำ และเราเคยพบหลายพันตัวกลางดอนซึ่งพบว่าใกล้จะสูญพันธุ์ และใกล้ๆกัมพูชาจะมีนกน้ำขนาดใหญ่อาศัยอยู่ มีปลาข่าในประเทศลาว กัมพูชา ต่างได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่ทำให้แหล่งอาหารหายไป

ดร.ชวลิตกล่าวว่ามีสัตว์น้ำขนาดเล็กมากมาย ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญในภูมิภาค ลาว เขมร เวียดนาม และไทย ต้องพึ่งพิงสัตว์น้ำเหล่านี้เป็นอาหาร ทั้งหอย กุ้ง แมลงต่าง ๆ มีหอยแม่น้ำโขงมากถึง 100 ชนิด มีหอยขนาดใหญ่ที่นำมากินได้ประมาณ 30 ชนิด เป็นอาหารพื้นถิ่นของไทยและหลายจังหวัด โดยหอยกาบน้ำจืดต้องมีช่วงน้ำขึ้นและลงเพื่อปล่อยตัวอ่อนให้ไปติดตัวปลา ช่วงน้ำแล้งหากลงไปไม่ทันก็จะติดอยู่ตามแก่งแอ่งน้ำและร้อนตาย พืชน้ำที่มีเฉพาะถิ่นในจ.เลย 100 ชนิด เช่น ว่านหักกล้วยที่ต้องออกดอกในน้ำ แต่เมื่อน้ำลงตลอดเวลา นิเวศพืชน้ำก็จะกระทบมาก

“ตะกอนในแม่น้ำพบว่า ถ้ามีการสร้างเขื่อนตามแผนในปัจจุบัน ตะกอนที่จะไหลลงไปปากน้ำจะหายไป 100 เปอร์เซ็นต์ ปากแม่น้ำโขง ตะกอนส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำสาขาของลาว ตะกอนถูกกัก ทำให้แม่น้ำโขงใสขึ้นในฤดูแล้ง เขื่อนจีนทำให้ปลาตระกูลขนาดใหญ่สูญพันธุ์ ปลาสะนากก็หายไปหลายปีในตอนล่าง กรณีนกแอ่นทุ่งเล็ก การสูญเสียของนก อายุของนกเหล่านี้คือ 20 ปี มีการคุกคามเดียวคือเขื่อน เพราะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการล่า ผลกระทบตอนแรก ชาวบ้านเก็บหอยได้มาก เช่นหอยทราย แต่ปีหน้าไม่แน่ใจว่าจะได้มากไหม กุ้ง หอย สัตว์ที่เลี้ยงดูเรามาแสนปี แต่ไม่มีใครเคยรักและดูแลอย่างจริงใจ พวกเราคนเมืองจะดูดายต่อการสูญเสียระบบนิเวศนี้หรือ”ดร.ชวลิต กล่าว

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้แทนสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าวว่าเดิมเป็นแม่ค้า ผูกพันกับแม่น้ำโขงตั้งแต่เด็ก ช่วงสงกรานต์คนริมโขงจะไปขายของที่ริมหาดโดยขายส้มตำ ปลาเผา หัวยาง เช่นลงทุนไป 50,000 บาท จะได้เงินเท่าตัว ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา สงกรานต์ไม่เป็นสงกรานต์ น้ำท่วมหน้าแล้ง คนหาปลาเปลี่ยนอาชีพไป หาดหายไปเพราะน้ำท่วม

ตนไปร่วมเวทีการรับฟังความคิดเห็นหลายครั้งที่ไปสอบถามเรื่องความกังวลในเวที 200-300 ข้อไม่ได้คำตอบเป็นข้อกังวลที่เกิดขึ้นจริงใครรับผิดชอบเรา น้ำโขงสีฟ้าเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่เคยคาดคิด ความรับผิดชอบการชดเชยเยียวยาต้องเป็นใคร ระหว่างบริษัท ช การช่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หรือ เขื่อนไซยะบุรี

“ปลาหนีตายใครรับผิดชอบ ความผันผวนที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ เพราะแหล่งอาหารของเราหายไป ทำไมชาวบ้านต้องมาระดมเงินจากการปลูกผักมาทำเขตวังปลา การเก็บข้อมูลเพียงพอหรือยัง ศึกษาต่าง ๆ ตะกอนหายไปไหน ตลิ่งพัง ใครจะเป็นคนแก้ปัญหา รู้แล้วจะทำอย่างไร คนอีสานพูดเรื่องน้ำโขงมาเป็น 10 ปี จากอาชีพแม่ค้าเป็นอาชีพนักร้อง คือร้องเรียนต่าง ๆ ถูกการสกัดกั้นเสรีภาพ ความเป็นคนของเราหายไปไหน ความทุกข์ของเราที่ออกมาพูดแทนคนอื่น คุณค่าของชีวิตคนริมโขงกว่า 1,800 กว่าหมู่บ้านอยู่ตรงไหน หรือจะรอให้เกิดเรื่องแบบเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเสียก่อน จึงจะตระหนัก”นางอ้อมบุญ กล่าว

นายอำนาจ ไตรจักร์ ผู้แทนชุมชน จังหวัดนครพนม กล่าวว่าตอนนี้พวกเราได้ใช้งบประมาณจากการขายผักปลามาอนุรักษ์แม่น้ำโขงไว้ ตนอยู่นครพนม ได้รับผลกระทบพร้อมกับคนริมโขงเยอะมาก ทั้งเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร ถ้าได้เห็นภาพที่แก่งคับพวง ได้ปลายางประมาณ 400-500 กิโลกรัม เราไม่เคยเห็นซึ่งต่อมากรมประมงไปปักป้ายห้ามจับปลา ตนคิดว่าปลาไม่ได้หลงฤดู แต่ปลาหนีตายและอพยพไปอยู่ตามแอ่งน้ำลึก เช่น ปลาเขี้ยวไก้ เคยขึ้นช่วงงานพระธาตุพนม ชาวประมงจะรู้และเตรียมเครื่องมือ ปลายางปกติมันจะขึ้นช่วงกรกฎาคม สิงหาคม แต่ต้องหนีไปอยู่แอ่งน้ำลึก

“น้ำโขงแห้งเช่นนี้ เรื่องยาเสพติดมาง่ายมาก รถวิ่งลงไปถึงแม่น้ำโขง ต้องมีคณะกรรมการหมู่บ้านตั้งเวรยามดูแล ปัญหาการค้ามนุษย์สูงมากริมฝั่งโขง ชาวบ้านจึงพยายามจะทำเรื่องการอนุรักษ์ปลา มีการประกาศตลอดริมโขง ขอซื้อเพื่อไม่ให้ปลาตาย เพื่อเอามาปล่อยในเขตอภัยทาน”นายอำนาจ กล่าว

นายมนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าว รายการข่าว 3 มิติ กล่าวว่าได้ลงพื้นที่แม่น้ำโขงก่อนจะเปิดเขื่อน 3-4 วัน ภาพน้ำแห้งของแม่น้ำโขงที่จุดชมวิวที่อ.สังคม เป็นเหมือนรอยแผลเป็นของแม่น้ำโขง และจะเริ่มเห็นสีน้ำคราม ในพื้นที่ริมน้ำเหือง สาขาของแม่น้ำโขงจะพบว่า น้ำโขงได้ดึงแม่น้ำสาขาลงไปด้วย และสีของแม่น้ำชัดเจน แม่น้ำสาขามีความสำคัญมากเพราะเป็นแหล่งวางไข่ของปลา โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ชาวบ้านหาปลาน้อยมากจึงหันไปทำเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้แทนกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวนับแต่ต้นปี 2562 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้น-ลงอยู่ตลอดเวลามากกว่าค่าเฉลี่ย ระดับน้ำท่วมตั้งแต่เดือนมกราคม เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกสถานีวัดน้ำในประเทศ

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →