Search

ประวัติศาสตร์ที่กำลังถูกฝังกลบ ไปกับหมู่บ้านนักประดาน้ำแห่งสุดท้าย​บนสายน้ำเจ้าพระยา

โดยธิติ ปลีทอง

ทั้งที่ชาวบ้านในชุมชนมิตรคาม​ 1 และ 2 มาตั้งรกรากอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเกิน 100 ปี จนขยายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และมีสมาชิกอยู่เกือบ 1,200 คน ตั้งเสาสร้างเรือนชาญกันแล้วถึง 264 หลังคา

แต่เมื่อมาถึงยุครัฐบาลคสช. ได้มีโครงการสร้างเส้นทางจักรยาน ภายหลังเปลี่ยนเป็นโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี 2556 ในระยะทาง7กิโลเมตรจากสะพานกรุงธนฯ ถึงสะพานปิ่นเกล้าฯ ซึ่งกรมเจ้าท่าจึงหาหนทางบีบให้ชาวบ้านในชุมชนที่ตั้งขวางแผนโครงการต้องย้ายหนีไปพื้นที่ใหม่ โดยใช้กฎหมายบุกรุกน่านน้ำ ฉบับปี 2535 เป็นเครื่องมือ

“ตั้งแต่ปี 2535 พวกเราไม่เคยรู้เลยนะว่าพวกเราผิดกฎหมายตัวนี้ หรือมีกฎหมายตัวนี้ด้วย เพราะไม่มีใครเคยมาบอก เจ้าหน้าที่ไม่เคยมาพูดเลย พวกเราเพิ่งมารู้กันก็ตอนที่จะมีโครงการตัวนี้แหละมาสร้าง เราจึงรู้” สมบัติ แสงทอง หรืออึ่ง ตะโกนบอกเราในระหว่างลงพื้นที่

นอกจากผู้ดูแลกฏหมายจะไม่เคยตักเตือน หรือบอกกล่าวชาวบ้านว่าพวกเขาผิดอะไรก่อนจะมีโครงการ เจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่ายังไม่สนใจหรือพิจารณาข้อเรียกร้องแม้ชาวบ้านจะอาศัยมาก่อนกฎหมายบุกรุกน่านน้ำเกือบ 60 ปี

จากความสงบร่มรื่น ชีวิตเรียบง่าย ตื่นเช้าหาของใต้น้ำ เพื่อขึ้นมาต่อชีวิตคนบนบก ปัจจุบันชาวชุมชนมิตรคาม​ 1 และ​ 2 เขตดุสิต กทม.กลายเป็นผู้ผิดในฐานผู้บุกรุกน่านน้ำ

“พวกเราหากินในน้ำมาตลอด ถ้าเขาให้เราขึ้นบก พ่อยังไม่รู้เลยลูก จะไปหากินยังไง” พ่อเล็ก ภูมินทร์ สำอางค์ วัย 63 ปี ระบายความอัดอั้นตันใจ ส่วนเรื่องค่าชดเชย พ่อเล็กบอกว่า

“บ้านพ่อได้ 8 แสนบาท บางบ้านก็ได้ล้านกว่า แต่น่าเห็นใจ บางคนได้ไม่ถึงแสนเพราะบ้านเขาเล็ก แล้วพวกสะพงสะพานไม้ ทางเดินที่เราสร้างเอง รัฐเขาก็ไม่ชดเชยให้”

นับแต่ปี 2556 ถึงวันนี้ มีประชาชนต้องรื้อบ้านเรือนไปแล้ว 111 หลัง และยังเหลืออีก 153 หลัง ที่ได้รับคำสั่งจากทางการให้ต้องย้ายภายในปี 2564

น่าเห็นใจที่วันนี้ คำขอจาก​ 1,200 เสียงในชุมชนที่อยากให้รัฐจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ และนักประดาน้ำแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ ไม่ดังหรือมีน้ำหนักเท่ากับโครงการเส้นทางคอนกรีตที่รัฐมุ่งหวังว่าสามารถดึงเม็ดเงินเข้ากระเป๋าใครหลายคนได้มากกว่า ซึ่งพื้นที่แห่งนี้กำลังหายสาปสูญจากแผนที่ภายในอีก​ 2 ปีข้างหน้า

วันนี้ลูกเจ้าพระยากำลังร่ำไห้ ขณะที่ประวัติศาสตร์ที่ชาวบ้านขุดค้นได้กำลังถูกฝังกลบไปกับโครงการพัฒนาที่รัฐบาลคิดเองเออเอง

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →