Search

“ก่าบาง”ลำสุดท้าย​ กับการพลิกฟื้นวิถีมอแกนของหนุ่ม “ฮูก”

โดย​ ภาสกร จำลองราช

ภาพฝังใจในความทรงจำเมื่อสมัยเป็นเด็กอายุ 4-5 ขวบของฮูก-สุริยัน กล้าทะเล หนุ่มมอแกน​ คือกองคาราวานเรือ-ก่าบาง อันยาวเหยียดที่ล่องตามกันไป ค่ำไหนก็นอนนั่น หาปลาและจับสัตว์น้ำต่างๆ​ มาทำอาหารได้อย่างอิสระ เมื่อทรัพยากรเริ่มร่อยหรอก็เคลื่อนขบวนเรือไปยังจุดหมายต่อไป

คาราวานเรือบ้านและวิถีมอแกนในภาพจำของฮูกขาดหายจากความเป็นจริงไปนานพร้อมกับย้ายจากหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา มาเรียนหนังสือบนฝั่งที่คุระบุรีของเขาและครอบครัว

ฮูกเคยเป็นตัวเอกใจภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “No Word for Worry” ของผู้กำกับชาวนอร์เวย์ ซึ่งได้จำลองเหตุการณ์วิถีชีวิตของมอแกนและการเดินทางของก่าบางเอาไว้อย่างน่าสนใจและภาพยนต์เรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมาย

ในวัยกว่า 34 ปี ฮูกมีครอบครัวที่มั่นคง มีลูกเล็กๆ​ ในวัย 1 ขวบเศษกับภรรยาชาวเยอรมัน-ลีนา บูเมิลเล่อ ซึ่งเข้าอกเข้าใจและสนับสนุนให้เขาทำตามความฝัน

ฮูกขอให้พ่อของเขาช่วยต่อก่าบางให้ 1 ลำ แม้จะไม่ได้ทำจากไม้ใหญ่ทั้งต้นเหมือนในอดีตเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่การใช้เป็นไม้กระดานแทนก็พอที่จะทำให้ก่าบางลำใหม่ได้สืบทอดวิถีชีวิตของมอแกนไว้ได้

ภูมิปัญญาการทำก่าบางของชาวมอแกนกำลังเลือนหาย เหลือคนเฒ่าที่ทำได้อยู่ไม่กี่คน 1 ในนั้นคือพ่อของฮูก

ในที่สุดเรือก่าบางลำใหม่ของเขาก็เสร็จสิ้น ฮูกพร้อมครอบครัวเริ่มใช้ชีวิตบนก่าบางตั้งแต่เมื่อวาน​ (14 ธันวาคม 2562)

“ผมอยากลองใช้ชีวิตเหมือนมอแกนสมัยก่อน ล่องเรือเที่ยวไปที่นั่น ที่นี่ อย่างอิสระเสรี แวะเกาะนั้น เกาะนี้ หาอะไรกินไปเรื่อยๆ ค่ำก็หาที่นอน” หนุ่มมอแกนกำลังวิ่งสู่เส้นฝัน แม้สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะกฎกติกาอันแข็งกร้าวของบ้านเมืองที่เข้าไม่ถึงชนชาติพันธุ์ร่วมแผ่นดิน

ปัจจุบันท้องทะเลในอันดามันส่วนใหญ่ถูกจับจองเกือบหมดสิ้น ถ้าไม่เป็นของธุรกิจเอกชนก็เป็นเขตอนุรักษ์ของทางการ จนแทบไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ชาวเลซึ่งอาศัยอยู่มานานนับร้อยนับพันปี

ขณะนี้มีชุมชนชาวเลซึ่งประกอบด้วย มอแกน มอแกลน​ และอูรักลาโว้ย อย่างน้อย 41 ชุมชน กว่า 13,000 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา สตูล ระนอง และกระบี่ ซึ่งต่างเผชิญชะตากรรมอันเลวร้าย ทั้งเรื่องการถูกแย่งชิงที่ดินจนแทบไม่เหลือแม้กระทั่งสุสานฝังศพ ขณะที่การออกทะเลหาปลาก็ทำได้ยากเต็มที​ เพราะแหล่งหาปลาเดิมกลายเป็นเขตอนุรักษ์ของทางการแทบทั้งสิ้น

“พวกเรามอแกนเป็นเหมือนนักเดินทาง เราเคยหากินในท้องทะเลได้อย่างอิสระ และไม่มีข้อจำกัด แต่เดี๋ยวนี้แทบออกไปหากินที่ไหนไม่ได้ ผมอยากศึกษาว่าเมื่อก่อนบรรพบุรุษของผมเขาหาอยู่หากินกันอย่างไร” แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินเรือไปตามเส้นทางใด เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นช่วงปลายฤดูลมมรสุม แต่ฮูกก็พยายามเรียนรู้ข้อจำกัดต่างๆ เช่น เขตอุทยานฯ

ปัจจุบันก่าบางซึ่งเป็นเหมือนบ้านลอยน้ำของชาวเลกำลังสูญหายไปจากอันดามัน เนื่องจากข้อห้ามและข้อจำกัดในเรื่องตัดไม้ รวมทั้งวิถีที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ

“เท่าที่ผมเห็นตอนนี้เหลือก่าบางอยู่ 2 ลำ ลำแรกอยู่ที่หมู่เกาะสุรินทร์ แต่กำลังผุพัง ส่วนอีกลำหนึ่งคือที่ผมเพิ่งให้พ่อสร้างให้ ในอนาคตแล้วผมอยากให้เก็บรักษาภูมิปัญญานี้เอาไว้ และอยากให้มีการทำก่าบางขึ้นมาอีก เพื่อที่มอแกนรุ่นหลังๆจะได้สืบทอดกันต่อไป” หนุ่มชาวเลบอกความมุ่งมั่น แม้วันนี้เขายังอยู่ระหว่างการลองผิดลองถูก แต่เป็นเส้นทางที่เขาเลือกแล้ว

ผืนทะเลยังคงเขียวคราม ก่าบางลำหนึ่งที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่และลูกกำลังลัดเลาะไปตามเกาะแก่งต่างๆ สู่เส้นขอบฟ้า ช่วยบรรเทาความอ้างว้างให้กับทะเลอันดามัน

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →