Search

กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติเร่งศึกษาผลกระทบแม่น้ำโขงจากเขื่อน ล่าสุดปริมาณน้ำเพิ่มสูงเหตุจีนระบายเยอะหลังระเบิดแก่งตอนบน

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่อาคารรัฐสภา ถนนเกียกกาย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ​ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร เพื่อขอให้ตรวจสอบผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง กรณีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง ทั้งที่ดำเนินการแล้ว คือเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง และอยู่ในแผนการก่อสร้างในอนาคต คือ เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย และเขื่อนปากแบ่ง

นายมนตรี จันทวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน กล่าวว่า สถานการณ์ของแม่น้ำโขงคือ ในฤดูแล้ง ระดับน้ำที่ควรจะแห้งกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเท่าตัว ประชาชนริมน้ำโขงไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามฤดูการ​ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การเกิดภาวะน้ำโขงไร้ตะกอนภายหลังเปิดการใช้งานของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนบนแม่น้ำโขงเป็นอย่างมากทั้งทรัพยากรประมง การใช้น้ำประปา อาชีพการเลี้ยงปลากระชัง

ทั้งนี้ในหนังสือที่ยื่นระบุว่า สืบเนื่องจากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงประเทศจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2536 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อการไหลและคุณภาพน้ำของแม่น้ำโขงให้ผิดปกติและกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชนริมน้ำโขงในประเทศไทย 8 จังหวัด คือ เชียงราย, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ปัจจุบันยังมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ของบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด ที่เริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2552 จนแล้วเสร็จและเริ่มมีการควบคุมการระบายน้ำ เมื่อปี 2561 ท่ามกลางข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และชุมชนในพื้นที่ว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศจะไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูได้อีกต่อไป

ในหนังสือระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์ของแม่น้ำโขงของเครือข่ายประชาชนฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน พ.ศ.​ 2562 พบว่าระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จากการระบายน้ำของเขื่อนจินหง ประเทศจีน ส่งผลให้น้ำโขงในฤดูแล้งกลับมีระดับน้ำสูงตลอดเวลา แต่เมื่อถึงฤดูฝน เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน ที่แม่น้ำโขงต้องมีน้ำมาก เมื่อตรวจสอบที่สถานีวัดระดับน้ำในทุกสถานีตั้งแต่เชียงแสนถึงโขงเจียม น้ำโขงกลับมีระดับต่ำ จนแห้งเห็นท้องน้ำในหลายพื้นที่ จนเกิดปรากฏการณ์ “ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน” ซึ่งเป็นผลทั้งจากเขื่อนจินหงและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.​ 2562

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานกมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะกมธ.และคณะอนุ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ชี มูล สงคราม ได้รับหนังสือและยืนยันจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกมธ.วิ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคำร้องต่อไปโดยเร็วที่สุด

ส่วนสถานการณ์แม่น้ำโขงล่าสุดนั้น ผู้สื่อข่าวว่าในจังหวัดเชียงราย ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่วัดในอำเภอเชียงแสน เชียงของ มีระดับเพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระดับเดียวกับปริมาณน้ำในช่วงหน้าฝน เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีรายงานข่าวของการระเบิดเกาะแก่งบนแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงของการระบายน้ำหลังจากการระเบิดแก่งและการเดินเรือสินค้าของจีนล่องลงมายังท่าเรือเชียงแสน ส่วนด้านท้ายน้ำของของเขื่อนไซยะบุรีในเขตอำเภอเชียงคานและปากชมนั้นปริมาณน้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สีของน้ำยังคงเป็นสีน้ำฟ้าใสเช่นเดิม​ คาดว่าจะเกิดจากการระบายน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →