การเดินทางมาเยือนทำเนียบของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ นาน 17 วันถือว่าไม่สูญเปล่า เพราะมีความคืบหน้าในแต่ละเรื่องเป็นระยะๆ เนื่องจากรัฐบาลตั้งท่าเอาจริงเอาจัง ซึ่งไม่รู้ว่ามีสาตุมาจากความหวาดหวั่น “พลังมวลชน”กลุ่มต่างๆที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่คึกคับ ทำให้อนิสงส์พลอยตกมาที่คนจน หรือรัฐบาลมีดวงตาเห็นธรรมที่ส่องสว่างเข้าไปถึงความทุกข์ยากของชาวพีมูฟ โดยในการประชุคณะรัฐมนตรี (ครม.)ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาของชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูนที่ต่อสู้กันมามานานกว่า 24 ปี โดยการยกเลิกคณะกรรมการทุกชุดพร้อมกับแต่งตั้งชุดใหม่ขึ้นมาสะสาง เช่นเดียวกับการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน ที่คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนพิจารณาอนุมัติแล้ว จำนวน 58 ชุมชน ซึ่งครม.เห็นชอบให้ดำเนินการต่อเช่นกัน
ยายโอลา บุญทัน ชาวตำบลโขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เห็นว่า เป็นสัญญาณที่น่ายินดีไม่น้อย ที่การต่อสู้ของพี่น้องปากมูน ก้าวมาสู่ขั้นตอนนี้ วันที่รัฐบาลยอมรับฟัง โดยตนยังหวังเสมอว่า หากตั้งกรรมการดูแลเรื่องปัญหาเขื่อนได้สำเร็จ น่าจะได้เห็น ชาวประมงปากมูล กลับมามีวิถีชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง แม้ไม่สมบูรณ์ ก็ขอให้ได้เห็นวิถีคนอีสานที่ล่องเรือหาปลา อย่างเรียบง่ายอีกสักครั้งน่าจะพอแล้ว
นอกจากมติ ครม.ที่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องเขื่อนปากมูล การอนุมัติโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 167 ล้านบาท ตลอดจนการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน ที่คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนพิจารณาอนุมัติแล้ว จำนวน 58 ชุมชน แล้วนั้น ในวันเดียวกันได้มีการประชุมคณะกรรมการ แก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (คกก.ขปส.) ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธาน ซึ่งก็มีความคืบหน้าอีกระดับหนึ่งโดยในที่ประชุมได้พิจารณาตามกลไกการแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการ จำนวน 9 ชุด และคณะกรรมการแก้ไขและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล อีก 1 ชุด โดยในส่วนของชาวเล นั้น ทางตัวแทนพีมูฟ ได้เสนอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของกระทรวงยุติธรรม ช่วยการเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องที่อยู่อาศัย กับนายทุน ที่สำคัญคือการกระทำดังกล่าวดังกล่าวเป็นการยอมรับว่า ชาวเลมิใช่ผู้บุกรุก แต่ปักหลักอยู่ในที่ดินของตัวเองมายาวนาน มิได้เสมือนการขออาศัยที่ดินของนายทุนอยู่
“การไกล่เกลี่ย ที่อยู่อาศัย นั้นไม่มีชาวเลคนใดต้องการจะตกเป็นเป้าหมายของคนที่ไร้ค่า ถูกนายทุนครอบงำอยู่ตลอดเวลา ทุกคนไม่มีใครอยากย้ายหนี อยากจากบ้าน จึงขอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ยุติการช่วยเหลือกรณีดังกล่าว และในส่วนของคณะอนุกรรมการเองยินดีจะรับทราบมติที่ประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกินของชาวเลต่ไป โดยขณะนี้มีชาวเล 10 รายถูกฟ้องขับไล่เพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่รู้ว่า ผลของคดีจะออกมาเป็นรูปแบบใด แต่ก็จะพยายามดำเนินการช่วยเหลืออย่างที่สุด ซึ่งอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรมต่อไป โดยเฉพาะเรื่อง ขอความช่วยเหลือด้านทนายความที่สามารถเจรจาด้านกฎหมายกรณีถูกฟ้องร้องได้ ” นายไมตรี จงไกรศักดิ์ อนุกรรมการชาวเล เสนอความคิดเห็น
แม้เวทีการถกเถียงจะออกตึงเครียดและมีผลออกมาในรูปแบบที่พึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ในอีกด้านของชาวบ้านที่ทุกข์ร้อนยังมีเสียงเศร้าอยู่ลึกๆ เพราะเป็นห่วงเพื่อนบ้านที่ถูกฟ้องไล่ที่อีก 10 คน
กล่าวด้วยความน้อยใจว่า “ แม้เรื่องการแก้ไขปัญหาชาวเลจะได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรม อย่างเต็มที่ แต่ชาวบ้านก็ยังรอคอยวันที่ชาวเลได้ยืนบนผืนทะดิน ชายทะเล อย่างสง่างามในฐานะผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก หรือเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่ใช้น้ำไฟ ในราคาแพง แต่อยู่เหมือนสิ่งประดับชายทะเลที่ถูกเอกชนแขวนป้ายว่า หมู่บ้านชาวเล ให้ต่างชาติเข้ามาชมวิถีชีวิตที่แออัด เพราะชาวเลไม่ใช่ ของแปลก ไม่ใช่สิ่งประดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทุกคนอยากมีสิทธิ์ในฐานะคนไทย ที่อยู่บนแผ่นดินอย่างยุติธรรม ไม่ใช่ต้องติดคุก เพราะนายทุน”นางสมศรี แมะเงี้ยว ชาวบ้านอุรักลาโวย สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงด้วยน้ำเสียงน้อยเนื้อต่ำใจ
อย่างไรก็ตามในการประชุมที่ผ่านมา ภาพรวมถือว่า รัฐบาลยอมดำเนินการตามข้อเสนอของภาคประชาชน และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทว่ายังคงมีประเด็นที่ไร้ข้อสรุปและไร้เงาคนรับผิดชอบอีก 1 เรื่อง นั่น คือ กรณีการเรียกร้องของภาคประชาชนที่ ร้องเรียนรัฐบาลให้มีการเพิกถอน และชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางชุมชน บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ. อุบลราชธานี ซึ่งในการประชุม คกก.ขปส.นั้นตัวแทนจาก กระทรวงพลังงาน ยังคงปฏิเสธว่า กระทรวงฯ ไม่มีส่วนในการออกใบอนุญาตดำเนินการ แม้ว่าชาวบ้านจะมีการคัดค้านและยืนยันว่า มีคนบางกลุ่ม ได้ดำเนินการขุดบ่อดิน เหมือนเป็นสัญญาก่อสร้าง โรงไฟฟ้า จนส่งผลให้น้ำในพื้นที่เริ่มแห้ง ตั้งแต่ปี 2551 ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวชาวบ้านทำได้เพียงยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทางอำเภอ และรัฐบาล แล้วเรื่องก็เงียบหายไป
ขณะที่ชาวบ้านที่กำลังได้รับผลกระทบยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าจะต้องไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ใด แม้ว่า คำพูดของรองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะประธานในที่ประชุมประกาศว่า “เรื่องใดเกิดระดับรากหญ้า ก็ต้องร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน แล้วค่อยขยับมาถึงขั้นรัฐมนตรี เพื่อลงไปดู ไปแก้ หากผู้ว่าฯไม่สนใจ ก็ยินดีจะย้ายตำแหน่งให้เป็นผู้ตรวจราชการ และดำเนินการขั้นเด็ดขาด”
ท้ายที่สุด สังคมคงต้องคงต้องจับตาดูท่าทีพีมูฟต่อไป เพราะเมื่อใดที่มติและข้อตกลงไม่เป็นไปตามที่ได้ประชุมและเจรจากัน เมื่อนั้น กลุ่มพีมูฟ ก็คงต้องกลับมาทวงคำสัญญาอีกครั้ง เพื่อเคลื่อนต่อความยุติธรรมแก่คนยากไร้ต่อไป
//////////////////////////////////////////////////////////
จารยา บุญมาก