Search

เวทีให้ข้อมูลเขื่อนหลวงพระบาง ความน่าละอายซ้ำซากระดับภูมิภาค

โดย มนตรี  จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง

ภาพโดย มนตรี อุดมพงษ์

ในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 นี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) จะจัดเวทีให้ข้อมูลครั้งที่ 1 กรณีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ตามกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation และ Agreement: PNPCA) ภายใต้ความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดนครพนม การจัดเวทีในลักษณะเช่นนี้ ไม่ได้ดำเนินการเป็นครั้งแรก หากแต่ได้มีการจัดมาก่อนหน้านี้ถึง 4 ครั้งแล้ว ในกรณีเขื่อนไซยะบุรี (20 กันยายน 2553 ถึง 19 เมษายน 2554), เขื่อนดอนสะโฮง (กรกฎาคม 2557 ถึง มกราคม 2558), เขื่อนปากแบ่ง (20 ธันวาคม 2559 ถึง 19 มิถุนายน 2560) และเขื่อนปากลาย (8 สิงหาคม 2561 ถึง 29 มีนาคม 2562) ซึ่งทั้งหมดเป็นเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงในเขตสปป.ลาว

ข้อเท็จจริงของกระบวนการ PNPCA ที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้งนั้น มีสภาพไม่ต่างจากตรายาง ที่ทาง สปป.ลาว ใช้กล่าวอ้างความชอบธรรมในการเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง โดยมิได้ให้ความเคารพต่อกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 และกระบวนการ PNPCA แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างหลักในการดำเนินโครงการเขื่อนทั้งหลายเหล่านี้ คือ เป็นการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านดินแดน ที่เป็นเขตอธิปไตยของสปป.ลาว และเขื่อนทุกเขื่อนต่างออกแบบสอดคล้องกับ กรอบ Preliminary Design Guidance for Proposed Mainstream Dams in the Lower Mekong Basin ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ออกแนวทางปฏิบัตินี้มาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2552 มีประเด็นสำคัญในเรื่อง การเดินเรือ, การประมงและทางปลาผ่าน, การเปลี่ยนแปลงของตะกอนและรูปร่างของแม่น้ำ, คุณภาพน้ำและสิ่งมีชีวิตในน้ำ, ความปลอดภัยของเขื่อน 

ภาพโดย มนตรี อุดมพงษ์

หันกลับมามองหน่วยงานของรัฐไทย มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง เมื่อต้องจัดเวทีให้ข้อมูลเขื่อนหลวงพระบางเป็นรอบที่ 5 

การเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ก่อนการจัดเวทีให้ข้อมูล ได้ปรากฏข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเอกสารการศึกษาโครงการที่เกี่ยวข้อง ของบริษัทที่ปรึกษา ปรากฏบนเว็ปของ สทนช. ซึ่งทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษมีจำนวนรวม 5,122 หน้า  และเอกสารสรุปภาพรวมโครงการเขื่อนหลวงพระบาง โดยสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จำนวน 36 หน้า เอกสารทั้งหมดนี้ยังมิได้มีการดำเนินการแปลเป็นภาษาไทย มีเพียงการสรุปภาษาไทยเป็นอินโฟกราฟฟิค เพียง 4 แผ่นเท่านั้น โดยเฉพาะในแผ่นที่สรุปสาระสำคัญของ PNPCA ยังคงสรุปชี้นำว่า “ไม่ใช่กระบวนการอนุมัติ/ยับยั้งโครงการ” ทั้ง ๆ ที่การจัด PNPCA ที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้ง ฝ่าย สปป.ลาว ใช้เป็นข้อกล่าวอ้างในกระบวนการอนุมัติโครงการมาโดยตลอด และนอกจากนี้ในแผ่นที่กล่าวถึงเขื่อนหลวงพระบาง ก็ปรากฏเป็นเพียงข้อมูลพื้น ๆ ไม่ได้มีสาระที่จะให้เห็นถึงความเชื่อมโยงต่อผลกระทบในด้านต่าง ๆ แต่ประการใด ผู้เขียนไม่อยากจะเรียกข้อมูลประเภทนี้ว่า “ข้อมูลกาก” และในแผ่นกราฟฟิคแผ่นสุดท้ายคือ “สรุปประเด็นข้อกังวลต่อผลกระทบจากการสร้างเขื่อนระบายน้ำในแม่น้ำโขง/มาตรการและแนวทางที่ได้ดำเนินการ” เพียงชื่อเรื่องก็บิดเบือนประเด็นอย่างน่าละอายที่สุดแล้วครับ และในรายละเอียดของเนื้อหา ไม่ได้มีสาระอะไรที่จะบอกได้ว่า ได้แก้ไขอะไร อย่างไรในรายละเอียด 

จริง ๆ แล้ว สทนช. สามารถใช้เงื่อนไขของการแปลเอกสารภาษาอังกฤษทั้งหมดนี้ เพื่อยืดระยะเวลาก่อนเข้าสู่การนับหนึ่งของกระบวนการ PNPCA ได้ หาก สทนช. จะใช้สามัญสำนึกที่รับผิดชอบต่ออธิปไตยของประเทศไทย ต่อประชาชนไทย ดังเช่นที่ สปป.ลาว ก็ได้กล่าวอ้างความเป็นอธิปไตยของเขาเองมาโดยตลอด และยังสอดคล้องกับข้อเสนอของฝ่ายไทยในการจัด PNPCA ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมาในเรื่องการแปลเอกสารให้เป็นภาษาของแต่ละประเทศด้วย มากกว่าการทำอินโฟกราฟฟิคห่วย ๆ มาเพียง 4 แผ่น และใช้บรรทัดฐานต่ำสุดในการรักษาอธิปไตยของไทยด้วยตรรกะว่าเป็นโครงการของสปป.ลาว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกรอบระเบียบหรือกฎหมายของไทย ดูจากชื่อการประชุม ยังใช้ชื่อว่า “การให้ข้อมูล” มากกว่าที่จะเรียกว่า “การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น” ผู้เขียนสงสัยว่า แม้เอกสารสรุปโครงการเขื่อนหลวงพระบางเพียง 36 หน้า อย่าว่าถึงเอกสารโครงการ 5,122 หน้า จนถึงวันนี้จะมีใครใน สทนช. ได้อ่านมันทั้งหมดแล้วหรือยัง ก่อนที่จะไปออกหน้าจัดเวทีให้ข้อมูลในครั้งนี้

เอกสารโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จำนวน 5,122 หน้า มีประเด็นใหญ่ ในเรื่องการขาดความน่าเชื่อถือในผลการศึกษาที่ควรจะเป็นข้อสรุปสุดท้าย เพราะเอกสารทุกหน้าจะประทับคำว่า “FOR PNPCA ONLY” ซึ่งหมายความว่าเมื่อกระบวนการ PNPCA สิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2563 เอกสารทั้งหมดนี้จะไร้ค่า ไม่สามารถใช้อ้างอิงต่อไปอีกได้  ผู้ศึกษาโครงการหรือผู้พัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง สามารถปรับแก้ส่วนไหนในเอกสารได้ทั้งหมด ดังนั้นการประชุมที่จะจัดขึ้นนี้ สทนช. กำลังเอาตัวเองเดินบนปากเหว ในการไปร่วมรับรองเอกสารการศึกษาที่ขาดความน่าเชื่อถือ ในขณะที่เอกสารของโครงการอื่น ๆ ที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้ง ไม่ปรากฏคำเหล่านี้ในเอกสารแม้เพียงแผ่นเดียว

 กระบวนการให้ข้อมูลที่จะเกิดขึ้น ยังคงซ้ำรอยเดิมกับ 4 ครั้งที่ผ่านมา โดยไม่มีผู้พัฒนาโครงการหรือเจ้าของโครงการจริง ๆ มาเป็นผู้ให้ข้อมูล มีเพียงตัวแทนจากรัฐบาลสปป.ลาว ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้สัมปทานโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ไม่ใช้ผู้พัฒนาโครงการตัวจริง และผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศที่จะให้ความเห็นต่อรายงานศึกษา มันกลายเป็นพิธีกรรมที่มาตบหน้าพี่น้องคนไทยไม่ว่าจะอยู่ริมโขงหรือไม่ก็ตาม เป็นรอบที่ 5 คำถามต่าง ๆ ที่ถูกตั้งขึ้น ก็จะถูกสรุปเพียงว่า สทนช. จะรวบรวมข้อกังวล ข้อคิดเห็น ส่งไปยังสปป.ลาวผ่านกลไกคณะทำงานร่วม 4 ประเทศภายใต้กระบวนการ PNPCA

ภาพรวมโดยสรุปของกระบวนการ PNPCA ที่จะได้เริ่มจัดครั้งแรกที่จังหวัดนครพนม ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ มันได้สะท้อนความล้มเหลวซ้ำซากเป็นรอบที่ 5 เมื่อ 9 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ปีนี้ยังคงเป็นอย่างนั้น เป็นความล้มเหลวที่ไม่เคยมีกระบวนการเรียนรู้ในการต่อรองกับประเทศอื่น เพื่อรักษาอธิปไตยในการเข้าถึงข้อมูลโครงการโดยสมบูรณ์ของประชาชนไทย ผู้เขียนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่อยากให้ สทนช. เป็นเพียงที่ทำการไปรษณีย์เท่านั้น หาก สทนช. สามารถลงมายืนกับพี่น้องประชาชนจริง ๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อมครับ.

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →