
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์กรณีกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว โดยระบุว่าสืบเนื่องจากการจัดเวทีให้ข้อมูลกรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ตามกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 นั้น เครือข่ายชาวบ้าน ประชาชน นักวิชาการ ที่ติดตามปัญหาและผลกระทบของการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง ขอแสดงความกังวลอย่างยิ่งว่ากระบวนการดังกล่าวจะยิ่งทำให้เกิดการรับรองในระดับภูมิภาคในการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงแห่งใหม่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัญหาและผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว เช่น เขื่อนไซยะบุรี และ เขื่อนดอนสะโฮง ยังไม่มีแนวทางการแก้ไข และมาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดนที่ชัดเจน ทั้งจากภาครัฐและเจ้าของโครงการ
ในแถลงการณ์ระบุว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงใยถึงหน่วยงานรัฐของไทยต่อการดำเนินโครงการเขื่อนหลงพระบาง ซึ่งคาดว่าจะเป็นการลงทุนโดยบริษัทของประเทศไทย ต่อมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังเครือข่าย ลงวัน 3 ธันวาคม 2562 มีข้อความสำคัญส่วนหนึ่งว่า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้ง 4 คือ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง โครงการเขื่อนปากแบง โครงการเขื่อนปากลาย เป็นโครงการที่อยู่ในการก่อสร้างของสปป.ลาว มิใช่โครงการของรัฐบาลไทย เป็นเพียงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า มิใช่โครงการของรัฐบาลไทย จึงมิใช่โครงการของรัฐ ที่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด ตามนัยคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งจะต้องรอผลการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด เครือข่ายฯ ได้ติดตามและเข้าร่วมกระบวนการ PNPCA ของสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย(เอ็มอาร์ซี) ตลอดทั้ง 4 โครงการ คือ เขื่อนไซะยะบุรี ดอนสะโฮง ปากแบง และปากลาย ตลอดระยะเวลา 9 ปี (2553 – 2561) จึงขอแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการดังกล่าวดังนี้
1.การจัดเวทีปรึกษาหารือฯ ทั้ง 4 โครงการที่ผ่านมาได้พิสูจน์ชัดว่า เป็นกระบวนการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และเป็นเพียงตรายางในการรับรองให้โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยไม่ได้ใส่ใจต่อข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เสียงของผู้ทักท้วงต่อผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น 2.เอ็มอาร์ซีระบุว่าPNPCA นั้น เป็นกระบวนการให้ประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ได้ปรึกษาหารือ ประเมินผลกระทบและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงเพื่อแสวงหาข้อสรุปร่วมกัน ไม่ใช่กระบวนการอนุมัติ/ยับยั้งโครงการหรือการมีสิทธิ ฝ่ายเดียวในการใช้น้ำโดยประเทศสมาชิกใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น หลักการดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำว่ากระบวนการ PNPCA ไม่สามารถสร้างกลไกที่จะรับฟังเสียง การป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง 3.การจัดเวทีการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ทั้ง 4 โครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด ทำให้การรับทราบข้อมูลของประชาชนไม่ทั่วถึง

4.ในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า จะต้องมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 4 ประเทศต่อโครงการดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการทำข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการอย่างไร คงเพียงทำการประชุมเพื่อนำไปสู่การดำเนินโครงการ 5.ความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของชาวบ้านและผู้เข้าร่วมเวทีในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ภาคประชาชนทั้งระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคได้เสนอให้มีการชะลอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง และเสนอให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบและแนวทางทางเลือกในการจัดหาพลังงาน ที่หลีกเลี่ยงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมาโดยตลอด แต่ข้อคิดเห็นของประประชาชนดังกล่าว ไม่ได้ถูกรับรองหรือนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงแต่อย่างใด
6. ขณะนี้กรณีเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2562 ปรากฎชัดว่า ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำในเขตประเทศไทยอย่างรุนแรง เช่น ระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการอพยพของสัตว์น้ำ เกิดปรากฏการณ์ ปลา หอย ตายเกลื่อนตลอดสายแม่น้ำโขง พืชพันธุ์บนแม่น้ำโขงแห้งตาย ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการเกษตรริมฝั่งโขง และน้ำเพื่อประปาของชุมชนริมโขงและเมืองขนาดใหญ่ในเขตประเทศไทย
“ล่าสุดที่มีปรากฎการณ์ “แม่น้ำโขงสีคราม” หรือ “น้ำหิวตะกอน” ในท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งนักวิชาการได้แสดงความเห็นต่อข้อกังวลเกี่ยวกับตลิ่งพังตลอดสายแม่น้ำโขง ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างตลิ่งคอนกรีต ราคาเฉลี่ยกิโลเมตรละ 130 ล้านบาท โดยคาดว่าตลอดแนวชายแดนระหว่างไทย-ลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขงของประเทศไทยจะต้องใช้งบประมาณกว่า 114,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยนี่ยังไม่รวมถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิตและการศึกษา ในขณะที่เจ้าของโครงการการผู้ก่อผลกระทบไม่ได้รับผิดชอบแต่อย่างใด”ในแถลงการณ์ระบุ
ในแถลงการณ์ระบุตอนท้ายว่า เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอเสนอว่ารัฐควรจะต้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองประชาชน บนฐานของสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว แม้จะไม่ใช่โครงการของรัฐบาลไทยโดยตรง แต่รัฐบาลไทยก็ถือเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ของโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงตามแผนทั้งหมด และประเทศไทยยังแนวนโยบายการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานของภูมิภาค ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงมากขึ้น เป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้บริโภคและการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในภูมิภาคนี้
ด้านนายมนตรี จันทวงศ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ได้เขียนบทความระบุว่าในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 นี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) จะจัดเวทีให้ข้อมูลครั้งที่ 1 กรณีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ข้อเท็จจริงของกระบวนการ PNPCA ที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้งนั้น มีสภาพไม่ต่างจากตรายาง ที่ทาง สปป.ลาว ใช้กล่าวอ้างความชอบธรรมในการเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง โดยมิได้ให้ความเคารพต่อกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://transbordernews.in.th/home/?p=24300 )