
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่บ้านสบลาน หมู่ 6 อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดกิจกรรมบวชป่าและทำแนวกันไฟในพื้นที่จิตวิญญาณปกาเกาะญอ ลุ่มน้ำแม่ขาน วาระครบ 10 ปี มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชาวกะเหรี่ยง โดยพะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ กล่าวชี้แจงจุดประสงค์ว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นความคิดของชาวบ้านเพื่อได้หารือกันถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยจะมีข้อเสนอของชาวบ้าน
นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอสะเมิงกล่าวเปิดงานว่า ชุมชนแต่ละแห่งแต่ละเชื้อชาติพันธุ์มีความแตกต่างกัน ชุมชนปกาเกอะญอก็แตกต่างจากที่อื่น ชุมชนจึงมีผลต่อการขับเคลื่อนความเป็นอยู่โดยเฉพาะคนกับป่า ทุกวันนี้ป่าล้อมหมู่บ้านสบลานและอยู่มาหลายร้อยปีเพราะชาวบ้านช่วยกันดูแลป่า เมื่อชาวบ้านมีความเข้มแข็งทำให้ทางการไว้ใจได้ เช่น กรณีไฟป่า ในพื้นที่เหล่านี้เกิดน้อยมากเพราะชาวบ้านมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ดี ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นคือเกิดในป่าจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากการเผาเพื่อที่ทำกิน หากเกิดไฟป่าจริงๆในสะเมิงคงควบคุมลำบากเพราะกว้างใหญ่ ดังนั้นเราจึงต้องทำอย่างไรไม่ให้ไฟลามมาจากที่อื่น คิดว่าปีนี้น่าจะเกิดไฟป่าไหม้ป่าเบากว่าปีที่แล้ว ขณะนี้ได้ใช้ศูนย์ของตำบลส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลทุกพื้นที่

นายชัยณรงค์กล่าวว่า สถานการณ์โลกในปีนี้แห้งแล้งเร็วมาก ใบไม้ล่วงหล่นก่อนเวลา เพราะฉะนั้นปัญหาที่ตามมาคือเรื่องแหล่งน้ำโดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรนั้น คงมีไม่เพียงพอ วันนี้น้ำในประเทศเริ่มน้อยลงมา แต่ที่สบลานไม่แล้งเพราะมีต้นไม้เยอะเนื่องจากชาวบ้านร่วมกันดูแลป่า อย่าหวังพึ่งเจ้าหน้าที่เพราะมีอยู่น้อย
จากนั้นนายพฤ โอ่โดเชา ได้ปาฐกถาเรื่องวิถีปราเกอะญอกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ว่าชาวบ้านอยู่ในละแวกนี้มานานแต่ไม่มีโฉนดเพราะไม่มีเงินและคิดว่าหลบอยู่ในป่าเขา จะดีกว่า ซึ่งในอดีตเมื่อแบ่งเขตแดนและมีการให้ชี้เขตแดนนั้น ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนบอกว่าอยู่กับสยาม บางส่วนก็อยู่ฝั่งพม่า เช่นเดียวกับชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ หรือหมู่เกาะสุรินทร์ พอถูกถามว่าจะอยู่ฝั่งไหนก็บอกว่าอยู่ฝั่งสยาม
“ชาวเลมีบ้านอยู่บนเรือล่องอยู่ในทะเล แต่ทุกวันนี้ชาวเลแทบไม่มีที่อยู่ที่กิน หากไม่ถูกอุทยานฯประกาศทับก็ถูกนายทุนยึด ชาวกะเหรี่ยงก็กำลังประสบสถานการณ์เช่นนั้น พวกเรามีความเชื่อมากมาย บรรพบุรุษบอกไว้ว่าธรรมชาติทุกชิ้น มนุษย์ไม่มีสิทธิครอบครอง จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาต ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์ป่า แต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครทำตามและมักคิดว่าเป็นของกู” นายพฤ กล่าว

นายพฤกล่าวว่า กฎหมายป่าสงวนฯ กฎหมายป่าชุมชน และกฎหมายอุทยานฯต่างทำให้ชาวบ้านประสบปัญหา โดยห้ามเข้าไปใช้ทรัพยากรในป่า ชาวบ้านกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายและกลายเป็นผู้บุกรุก ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้บุกเบิกอยู่มานาน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาและเป็นเรื่องท้าทายให้ปกาเกอะญอร่วมกันอธิบายให้คนในเมืองเข้าใจ
“พวกเราอยู่มาก่อนกฎหมาย สามารถพิสูจน์ได้ ปัญหาที่เราเจอคือกฎหมายที่ไม่เข้าใจและกำลังทำให้กะเหรี่ยงแทบไม่มีที่อยู่ที่กิน เรายืนยันว่าอยู่ที่นี่มานาน บรรพบุรุษสร้างให้พวกเราอยู่กับธรรมชาติ” นายพฤ กล่าว

หลังจากนั้นได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “วิถีชีวิตคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืนได้อย่างไร” โดยพะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านสบลานกล่าวว่า ป่าแม่ขานถูกสัมปทานมาแล้ว 2 ครั้งโดยครั้งแรกฝรั่งตัดเอาแต่ไม่สักใหญ่ ส่วนครั้งสองเป็นคนไทยที่ตัดไม้ใหญ่ทุกประเภท เราถูกคุกคามมาโดยตลอด แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลฟื้นฟู ช่วงปี 2516 ทางการมาประกาศป่าสงวนแห่งชาติสะเมิง ชาวบ้านแทบไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยและไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อมามีหน่วยจัดการต้นน้ำสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้และหลอกว่าจะได้กินผล แต่ไม้ที่เขาให้ปลูกคือกระถินเทพา แถมยังมีการแอบตัดไม้ในป่าชุมชนไปขายจำนวนมาก จนชาวบ้านไล่จับได้และไม่มีการดำเนินคดีเพียงแต่ถูกโยกย้าย
พะตีตะแยะกล่าวว่า ปี 2532 มีการสร้างสำนักงานอุทยานแห่งชาติออบขานเพื่อเตรียมจัดตั้งอุทยานฯ และได้มีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านสบลานโดยบอกว่าสำรวจป่าซึ่งมีเนื้อที่กว่า 2 แสนไร่ ปี 2537 เขาเตรียมประกาศเขตอุทยานฯแต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยและรวมตัวกันประท้วงกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯสมัยนั้นคือนายประจวบ ไชยสาร์น ต้องมาเจรจา โดยชาวบ้านอธิบายว่าอยู่กันมาหลายชั่วอายุคนและดูแลป่าเป็นอย่างดี โดยมีคณะกรรมการและมีกฎระเบียบ
“สถานการณ์ตอนนี้เราต้องเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ถ้าอยู่นิ่งก็อยู่ไม่ค่อยได้เพราะวิถีชีวิตไม่ปกติ หัวหน้าอุทยานฯกี่คนเราก็ต้องเข้าไปเจรจาด้วย เรามีป่าชุมชน 24,500 ไร่ จิตวิญญาณของพวกเราอยู่ในป่านี้หมด ทั้งเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เลี้ยงผี ป่าช้าผู้ใหญ่ ป่าช้าเด็ก อยู่ในนี้หมด แต่ตัวแทนอุทยานฯบอกว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องจิตวิญญาณ เราเดินสำรวจอยู่ 24 วัน และเขาก็เขียนออกมาดี แต่บอกว่าไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจอยู่ข้างบน” พะตีตาแยะ กล่าว

นายสมชาติ รักษ์สองพลู ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่าคำว่าป่าชุมชนไม่ครอบคลุมความหมายที่ปกาเกอะญอมีอยู่ จึงต้องใช้คำว่าป่าจิตวิญญาณ ตนอยู่ในพื้นที่ถ้ำผาไท จ.ลำปาง ขอพื้นที่ทำกิน 2 พันไร่ให้ชาวบ้านทั้งหมด แต่เขาหาว่าขอเยอะทั้งๆที่ไม่ยังเท่ากับที่ดินที่ ส.ส.คนหนึ่งครอบครองอยู่ เราขอป่าชุมชนเขาก็ไม่ยอม ทั้งๆที่เราไม่ได้ขอป่ามาเป็นของเรา แต่ขอการมีส่วนร่วมในการจัดการ
“วันนี้ความยุติธรรมมันไม่เกิด ทุกพื้นที่ที่พวกเราอยู่มีแต่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 หมด เราคัดค้านกฎหมายตั้งแต่ร่าง แต่เขาก็เบรกไว้ เขาบอกให้แสดงควาคิดเห็นทางเวปไซต์ เราจะทำได้อย่างไร ในเมื่อแม้แต่คลื่นสัญญาณโทรศัพท์เราก็ยังไม่มี แถมยังเข้าไปแสดงความเห็นในจุดที่เราทำไม่เป็น ดังนั้นชาวกะเหรี่ยงจึงไม่มีโอกาสแสดงความเห็นเรื่องนี้เลย” นายสมชาติ กล่าว
ขณะที่ผู้แทนอุทยานแห่งชาติออบขานกล่าวว่า กล่าวว่าพรบ.อุทยานฯฉบับใหม่มีบทลงโทษหนัก และในมาตรา 64 จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องตกหล่นการสำรวจ และรูปแปลงโดยข้อมูลที่ได้มี 2 กลุ่มคือคนที่ทำกินก่อน 2541 โดยมีร่องรอยการทำกินและกลุ่มที่บุกรุกหลัง 2541 แต่มีร่องรอยการทำกินก่อน 2557 ซึ่งต้องพิสูจน์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพิเศษคือกลุ่มไร่หมุนเวียน เช่น พื้นที่อำเภออมก๋อย พื้นที่ห้วยน้ำดัง โดยต้องสำรวจและให้ชาวบ้านลงชื่อทั้งหมู่บ้าน เมื่อนำการสำรวจเสร็จก็สู่คณะกรรมการระดับพื้นที่ ส่วนมาตรา 65 นั้น ระบุถึงเรื่องการสำรวจพื้นที่หาของป่าที่ขึ้นทดแทนได้ เช่น หน่อไม้ เห็ด เพื่อให้อุทยานฯได้แบ่งโซนและประกาศเป็นกฎกระทรวงและเป็นช่วงๆ ในการอนุญาตให้หาของป่า
หัวหน้ากล่าวว่า สำหรับพื้นที่เตรียมการที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานฯนั้น กรมอุทฯมีนโยบายว่าห้ามขัดแย้งต่อชุมชนโดยการลงพื้นที่และประชุมชี้แจง โดยนัดหมายชาวบ้านเพื่อชี้แนวเขต หากมีพื้นที่ป่าชุมชนก็ต้องกันไว้ให้ ซึ่งหัวหน้าอุทยานฯต้องเสนอไปยังกรมอุทยานฯและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
นายสุวรรณ แสงประสิทธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลสะเมิงใต้ กล่าวว่า รู้ดีว่าชาวบ้านหวงแหนพื้นที่ แต่เมื่อมีกฎเกณฑ์ของชาติก็ต้องปฎิบัติซึ่งในกฎเกณฑ์นี้ก็มีช่องทางอรุ่มอร่วย ซึ่งท้องถิ่นจะทำทุกรูปแบบให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข แต่ยังติดขัดขั้นตอนของบ้านเมือง เช่น ถนนที่เข้าบ้านสบลานยังเป็นทางลูกรัง ซึ่งได้ของบประมาณจนได้เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังสร้างไม่ได้เพราะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงต้องขออนุญาตกรมป่าไม้ก่อนและต้องใช้เวลา
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา กล่าวว่ารัฐไทยไม่เข้าใจความจริงอย่างน้อย 2 เรื่อง 1.ภาคเหนือตอนบนไม่เหมือนกรุงเทพฯ หรือภาคอื่นๆ เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลลงสู่เจ้าพระยาและอ่าวไทย แม่น้ำกกและอิงไหลลงสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำเมยและยวมไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน โดยภาคเหนือมีที่สูง 60% ที่ราบลุ่ม 10% ดังนั้นส่วนใหญ่จึงเป็นป่าและจะจัดการแบบเดียวกับภาคอื่นๆ ไม่ได้จึงต้องมีการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งโดยเข้าใจระบบนิเวศและสภาพพื้นที่อย่างถ่องแท้ การทำในรูปแบบเดียวกันหมดจะเกิดความ “พัง” 2.คนปกาเกอะญอมีความเคารพธรรมชาติซึ่งเป็นหลักหมุดในการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่รัฐบาลมักมองธรรมชาติเป็นเงินและชอบแปลงธรรมชาติให้เป็นทุน จึงส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยว แต่ไม่เข้าใจวิถีที่อ่อนน้อมถ่อมตนกับธรรมชาติ
นายชัชวาลย์กล่าวว่า วิถีเคารพธรรมชาติควรถูกพัฒนาให้เป็นวิถีของโลก เพราะแก้ปัญหาโลกร้อนและปัญหาหมอกควันได้ ดังนั้นควรมาเรียนรู้วิถีของคนสบลาน ทั้งนี้ในเรื่องของปัญหาฝุ่นควัน เดิมทางการใช้วิธีห้ามเผาก่อน 60 วัน หากใครเผาถูกจับ แต่เราบอว่าไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เกิดจากการจัดการทรัพยากรทั้งระบบ เช่น ส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยว แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็มีแต่พืชเชิงเดี่ยว รวมทั้งการพัฒนาเพิ่มขึ้นของปัจจัยต่างๆในเมือง เช่นรถยนต์เพิ่มขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สุดท้ายคือสภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความกดอากาศบล๊อคไว้ทำให้เมืองเชียงใหม่เหมือนอยู่ในฝาชี เราจึงเสนอว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาฝุ่นควันต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ กรณีไร่หมุนเวียนเรามีวิธีจัดการให้มีควันน้อยที่สุดอย่างไร เช่น ปล่อยให้พืชที่ตัดแห้งสนิทจริงๆ ก็จะใช้เวลาเผาน้อยลงมากซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการเผาโดยไม่มีควัน
ทั้งนี้ในช่วงท้ายเยาวชนบ้านสบลานได้ร่วมกันอ่านข้อเสนอของชุมชน โดยระบุว่า 1.ขอให้แก้ไขพรบ. 3 ฉบับคือพรบ.อุทยานฯ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พรบ.ป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถปล่อยวัวควายเข้าไปเลี้ยงในป่าได้ และให้สามารถทำไร่หมุนเวียน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ 2.ขั้นตอนการเผาเพื่อปลูกข้าวไร่ ชุมชนมีวิธีจัดการโดยการทำแนวกันไฟซึ่งมีสมาชิกร่วมมือกันดับไฟป่าทุกปี และเราไม่ใช่ต้นเหตุของไฟป่า 3.ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับขอให้ยุติการบังคับใดๆ
————–