เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่บริเวณป่าชุมชนบ้านบุญเรือง ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดกิจกรรมวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกลุ่มน้ำอิง:สืบชะตาป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง โดยมีชาวบ้านประมาณ 200 คนเข้าร่วม ทั้งนี้นายทรงพล จันทะเรือง ประธานป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรืองกล่าวรายงานว่า ป่าบุญเรืองเป็น 1 ในป่าพื้นชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิง โดยชุมชนได้มีกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์ 1.เป็นแหล่งกักเก็บน้ำของชุมชน 2.เป็นแหล่งอาหารหรือซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชนตลาดทั้งปี 3.เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาในแม่น้ำโขง 4.เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 6.เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนไดออกไซ 7.เป็นแหล่งสันทนาการในพื้นที่ 8.เป็นแหล่งศึกษาของคนไทยและต่างประเทศ
นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสจ.)จังหวัดเชียงราย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่าต้องเก็บพื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้เพื่อลูกหลาน ถ้าพวกเราไม่ต่อสู้หรือแสดงออกว่าจะปกป้อง ที่ดินก็จะกลายเป็นสิ่งก่อสร้างหมด ป่าผืนนี้กว่า 3.7 พันไร่ มีอากาศที่ดีซึ่งใครๆก็อยากมาเที่ยว บนรากฐานของเศรษฐกิจพอเพียง เราจะทำอย่างไรให้น้ำกลับคืนมาและรักษาป่าชุ่มน้ำตั้งแต่อำเภอพานเป็นต้นมาไว้ให้ได้ เพื่อให้บ้านเมืองน่าอยู่ และหลังจากกิจกรรมวันนี้ เราจะมีการจัดประชุมเพื่อขยายพื้นที่กว่า 3.7 พันไร่แห่งนี้ออกไปอีก ตอนนี้กว้านพะเยาถูกบุกรุกไปกว่า 4 พันไร่ ควรรักษาไว้ให้ได้เช่นเดียวกับป่าบุญเรือง ตนพร้อมร่วมผลักดันให้ป่าแถบนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโดยเร็ว
นายเตชภัฒน์ มะโนวงศ์ เลขาธิการสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงกล่าวว่า มีชุมชนริมแม่น้ำอิงร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาอยู่ 66 หมู่บ้าน บางแห่งเมื่อจับปลาเพื่อเอาเงินเข้าหมู่บ้านได้ถึงกว่า 1 ล้านบาท สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของป่า โดยมีคนกว่า 8 แสนคนอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำอิง หากเราสามารถรักษาป่าไว้ได้ก็จะช่วยหล่อเลี้ยงคนเหล่านี้ โดยตั้งแต่ปี 2545 ชาวบ้านตลอดลำน้ำอิงได้มาคุยกันเพื่อรักษาแม่น้ำอิงโดยก่อกำเนิดเป็นสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงขึ้นมา
ทั้งนี้สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการปกป้องและคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงโดยระบุว่า แม่น้ำอิงมีความยาวประมาณ 260 กิโลเมตร ตลอดความยาวมีพื้นที่ชุ่มน้ำมากมายโดยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รรับการขึ้นทะเบียนระดับนานาชาติ ได้แก่ กว๊านพะเยา หนองเล็งทรายและพื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่นประมาณ 400 แห่ง ซึ่งพบว่าป่าริมน้ำอิงเป็นป่าที่น้ำท่วมถึงโดยมีพืชที่อยู่ในป่าน้ำท่วมหลากได้เป็นเวลานานและพืชเฉพาะถิ่น ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาที่สำคัญในช่วงน้ำหลาก ปลาจากแม่น้ำโขงและในแม่น้ำอิงจะขึ้นมาวางไขและอาศัยเป็นแหล่งอนุบาลปลาขนาดเล็ก
“ป่าริมน้ำอิงสำคัญต่อสัตว์ป่าเพราะเป็นระบบนิเวศรอยต่อของป่าบกและน้ำอิง ป่าแห่งนี้ยังเป็นแหล่งสำคัญในการรองรับนกอพยพต่างถิ่นในช่วงฤดูหนาว การศึกษาป่าริมแม่น้ำอิง 17 แห่งพบพื้นที่ชุ่มน้ำ 8,590 ไร่ เราจึงขอประกาศเจตนารมณ์ในการปกป้องและคุ้มครองป่าริมน้ำอิงตอนล่างโดยผลักดันขึ้นทะเบียนป่าริมน้ำอิงตอนล่างให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีควาสำคัญระหว่างประเทศต่อไป” คำประกาศเจตนารมณ์ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าชุ่มน้ำอิงกำลังถูกบุกรุกอย่างหนัก โดยที่กำลังกลายเป็นข้อพิพาทใหญ่คือบริเวณป่าชุ่มน้ำบ้านห้วยสัก หมู่ 9 ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย โดยมีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของประเทศ เข้ามากว่านซื้อที่ดินนับพันไร่เพื่อสร้างศูนย์เพาะเมล็ดพันธุ์ทั้งๆที่ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารสิทธิเป็นที่ดินสาธารณะ อย่างไรก็ตามล่าสุดทางบริษัทเอกชนได้ประกาศห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะเลี้ยงวัวควาย ต่างได้รับความเดือดร้อน และชาวบ้านได้ร้องเรียนให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเข้ารังวัดที่ดินใหม่ แต่กลับไม่มีการตอบสนองใดๆ
นายวิชาญ พิวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก กล่าวว่าชาวบ้านรู้เท่าไม่ถึงการได้ขายพื้นที่จับจองและถูกบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรกว่านซื้อไปกว่า 2 พันไร่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าหวงห้าม แต่การต่อสู้ยังไม่สำเร็จ อยากให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตาปกป้องเรื่องที่ดินสาธารณะเพราะมักมีการฉกฉวยโอกาสโดยเฉพาะทางการที่จะเอาไปทำนิคมอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย
“เดิมทีที่ห้วยสักเรามีป่าชุมชนและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2505 จำนวนกว่า 2 พันไร่และมีการออกใบจับจองให้ชาวบ้านทำกิน อยู่มาวันหนึ่งสำนักงานที่ดินได้ออกเป็นนส.3 ให้โดยที่ไม่ได้ร้องขอ จนปี 2532 บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ได้ให้นายหน้ากว่านซื้อ จึงมีการขายให้นายทุนไร่ละประมาณ 3 พันบาท บางคนไม่ขายก็ซื้อทีดินข้างนอกแลก จากนั้นได้มีการปลูกข้าวโพดอยู่พักใหญ่ ที่ดินบริเวณใดที่ว่างต่างๆก็มีการชี้ขายกัน ตอนหลังเขาหยุดทำกิจกรรม ชาวบ้านจึงใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเลี้ยงวัวควายอีก แต่บริษัทเอกชนได้ปิดป้ายขับไล่ชาวบ้าน จึงเกิดข้อพิพาทกัน ต่อมาได้มีการร้องเรียนไปยังอำเภอ ซึ่งตรวจพบว่ามีการขึ้นทะเบียนเลี้ยงสัตว์จริง ชาวบ้านต้องการให้กลับมาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เหมือนในอดีต และรวมทั้งหนองน้ำสาธารณะที่เขาอ้างกรรมสิทธิ 4 แห่ง พวกเราอยากให้เป็นของสาธารณะเช่นเดิม”นายวิชาญ กล่าว
นายวิชาญกล่าวว่า เคยร้องเรียนไปที่คณะกรรมาธิการในสภาซึ่งได้มีมติขอให้ผู้ว่าราชการตรวจสอบ ซึ่งพบว่าเป็นที่ดินสาธารณะ แต่ก็ไม่มีการจัดการใดๆ ล่าสุดเขาให้ชาวบ้านไปชี้แนวเขต 5 หมู่บ้าน อย่างไรก็ตามกำลังจะร้องเรียนไปที่ยุติธรรมจังหวัดเพื่อให้มีการตรวจสอบอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าถ้าเอาภาพถ่ายทองอากาศก่อนปี 2532 มาเทียบเคียงก็จะเห็นข้อเท็จจริงว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าว สมัยก่อนเคยมีต้นไม้เยอะ แต่เขาเอาแบล็คโฮมาขุดทิ้งหมดเลย
//////////////////