เรื่อง/ภาพ ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี
นี่คือทุ่งร้างไกลสุดลูกหูลูกตา แห้งแล้งจนแทบไม่มีต้นไม้ใหญ่ ลมร้อนกลางแดดบ่ายพัดพาฝุ่นดินปลิวฟุ้งไปทั่ว
ชาวบ้านคนหนึ่งชี้นิ้วให้มองไปข้างหน้าและบอกว่า ที่ดินของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL ครอบคลุมยาวเลยเนินเขาที่อยู่สุดสายตาขึ้นไปอีกไกลลิบ แต่ตอนนี้ไม่มีการทำไร่อ้อยมาร่วมปีแล้ว
พื้นที่ อ.สเรอัมเบล อยู่ใน จ.เกาะกง ของกัมพูชา อยู่ติดกับ จ.ตราด ของไทย นับตั้งแต่ปี 2549 บริษัทเอกชนจากประเทศไทยเข้ามาลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อประกอบกิจการน้ำตาล โดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาบนที่ดิน 20,000 เฮกแตร์ หรือ 125,000 ไร่ ในระยะเวลา 90 ปี
ย้อนไปเมื่อปี 2549 มีการขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินโดยไม่มีใครรู้มาก่อนเลยว่า ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยกว่า 5,000 เฮกตาร์ (31,250 ไร่) ของชาวบ้าน 456 ครอบครัวใน 3 หมู่บ้าน กำลังถูกรัฐบาลยึดไปให้บริษัทน้ำตาลจากไทย ซึ่งไม่มีใครยินยอมจึงเกิดเหตุความรุนแรง มีการใช้รถไถเข้าทำลายบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา ตำรวจเข้าทำร้ายชาวบ้าน และชาวบ้านถูกลอบสังหารด้วยปืน
รัฐบาลกัมพูชาและบริษัทเอกชนจากไทย ชี้แจงกับชาวบ้านว่า การเข้ามาแผ้วถางคือการเข้ามาพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมรกร้าง ด้านชาวบ้านพยายามชี้ให้เห็นว่าชุมชนมีอยู่มานาน มีความอุดมสมบูรณ์ และมีการทำการเกษตร สถานการณ์บีบคั้นจนทำให้ชาวบ้านตัดสินใจออกเดินเท้าเข้ากรุงพนมเปญเพื่อชุมนุมเรียกร้องสิทธิที่ดิน เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นข่าวใหญ่อยู่นานนับเดือน จนนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลเกาะกง และยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วงงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา แต่ดูเหมือนเสียงของชาวบ้านจะไร้ค่า ไม่มีสิทธิต่อรอง
ต่อมาปี 2553 องค์กรเอกชนได้นำข้อร้องเรียนของชาวบ้านยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย(กสม.) ให้สอบสวน ทาง กสม.มีมติว่าการดำเนินการของบริษัทน้ำตาลขอนแก่นได้ละเมิดสิทธิต่อประชาชนกัมพูชา นำไปสู่ข้อเสนอต่อบริษัทให้ทบทวนคืนที่ดิน พิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยา และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม
‘เตง กาว’ (Teng kao) จากหมู่บ้านชุก เป็น 1 ในกลุ่ม 200 ครอบครัว ที่รวมตัวยื่นข้อเสนอต่อบริษัท (ชาวบ้านแยกการเรียกร้องเป็น 3 กลุ่ม) เล่าว่า ที่ดินของชาวบ้านถูกยึดรวม 1,375 เฮกตาร์(8,593 ไร่) แต่บริษัทเสนอคืนที่ดินให้เพียง 300 เฮกตาร์(1,875 ไร่) หรือครอบครัวละเพียง 1.5 เฮกตาร์(9.375 ไร่) พร้อมชดเชยประมาณ 60,000 บาทเท่านั้น ชาวบ้านจึงตัดสินใจไม่รับข้อเสนอ เพราะไม่คุ้มค่ากับการสูญเสียที่ดินทำกินที่ทุกตคนช่วยกันหักร้างถางพง กันมา และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต้องถูกทำลายจากการทำไร่อ้อย
“แรกเริ่มมีเพียงหมู่บ้านเดียว คือบ้านจีกอ ต่อมาจึงแยกออกเป็น 3 หมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและป่าทึบ ชาวบ้านมีอาชีพทำนาและหาของป่า โชคดีที่ตลอด 3 ปี 8 เดือนที่เขมรแดงครองอำนาจ ชาวบ้านไม่ถูกส่งไปใช้แรงงาน จึงช่วยกันพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก จนสิ้นยุคเขมรแดงรัฐบาลประกาศว่าใครทำกินเกินกว่า 4 ปี จะได้สิทธิทำกินแต่ยังไม่ให้สิทธิถือครอง เมื่อมีการยึดที่ดินชาวบ้าน จึงนำเอกสารสิทธิทำกินไปยื่น รัฐบอกกับพวกเราว่าชาวบ้านทำกินบนที่ดินของรัฐ เมื่อรัฐจะใช้ประโยชน์ก็ต้องคืนที่ดินให้กับรัฐ” เตง กาว กล่าว
‘เตง กาว’ เล่าว่า หลังโดนยึดที่ดินความเป็นอยู่ของชาวบ้านลำบากมาก แทบไม่มีรายได้ เด็กๆ ต้องหยุดเรียนตามพ่อแม่ไปชุมนุมที่พนมเปญหลายครั้ง บางคนไม่มีทางเลือกต้องไปรับจ้างเป็นคนงานไร่อ้อย เป็นแรงงานบนที่ดินตัวเองเพื่อแลกค่าจ้างวันละ 70 บาท ใช้กินในครอบครัวและใช้เป็นทุนต่อสู้เรียกร้องสิทธิ
“พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตสัมปทานก็ไม่สามารถเพาะปลูกได้เต็มที่ ลำธารหลายสายถูกไร่อ้อยถมทับ สารเคมีไหลลงบึงหรือคลองที่เหลืออยู่ทำให้ปลาตาย เป็ดที่ลงไปกินปลาก็ตาย ทำให้ไม่มีใครกล้าใช้น้ำหรือหาปลามากิน บางคนตอบลูกไม่ได้ว่าทำไมต้องหยุดเรียน ต้องไปหากู้เงิน ตกข้าวสารกิน มืดแปดด้าน เพราะที่ดินที่ทำกินมาทั้งชีวิตถูกยึดไปโดยแทบไม่มีหวังจะได้คืน” เตงกาว
แม้จะยังไม่ได้ที่ดินคืนแต่การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวบ้าน เป็นหนึ่งเหตุผลให้สหภาพยุโรป(EU) พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางการค้าในโครงการ EBA หรือ Everything But Arms นโยบายช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจน ยกเว้นภาษีสินค้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธที่ส่งออกไป EU ซึ่งหากสถานการณ์การละเมิดสิทธิในกัมพูชายังไม่ดีขึ้นจนถูกตัดสิทธิ EBA ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกัมพูชาที่พึ่งพาการส่งออกไป EU เป็นหลัก โดยคาดว่าจะทราบผลพิจารณาภายในเดือนมีนาคม
ขณะเดียวกันโรงงานน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากลูกค้าหลักจากยุโรปงดรับซื้อน้ำตาลจากกัมพูชา ไร่อ้อยนับแสนไร่ของจึงถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้
สำหรับ เตียง ม่วย (Taing Mouy) จากหมู่บ้านจีกา บอกว่า ชาวบ้านหลายคนเข้าใจสถานการณ์ว่าคงไม่มีโอกาสได้ที่ดินคืนทั้งหมด จึงต่อรองกับบริษัทขอที่ดินคืนให้ครอบครัวละ 5 เฮกตาร์ (31 ไร่) พร้อมเงินชดเชย 124,000 บาท เพื่อให้สามารถตั้งหลักสร้างพื้นที่ทำกินอย่างมั่นคง อย่างน้อยต้องมีที่ดินเหลือให้ลูกหลานได้ทำกินในอนาคต โดยตั้งใจทำเกษตรแบบผสมผสานไม่ใช้สารเคมี ซึ่งชาวบ้านมีความรู้การเกษตรแบบอินทรีย์อยู่แล้ว เพราะเดิมก่อนที่ดินถูกเปลี่ยนเป็นไร่อ้อย ชาวบ้านไม่เคยใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีในการเพาะปลูก
‘เปรมฤดี ดาวเรือง’ ผู้อำนวยการโปรเจคเสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงปัญหาโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ อ.สเรอัมเบล ว่า การที่รัฐบาลกัมพูชาพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการให้สัมปทานที่ดินระยะยาวในกิจการต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่ดินอย่างรุนแรง เนื่องจากสิทธิการครอบครองที่ดินระหว่างเอกชน ประชาชน หรือที่ดินของรัฐยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่สัมปทานอุตสาหกรรมน้ำตาล ปรากฏว่าเป็นที่ดินดั่งเดิมของชุมชน ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่ก่อนยุคเขมรแดง แต่กลับไม่มีการให้สิทธิการครอบครองแก่ชาวบ้าน จึงทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินครั้งใหญ่ โดยที่ทั้งรัฐบาลกัมพูชาและบริษัทไทยปฏิเสธความรับผิดชอบ
เปรมฤดี กล่าวต่อว่า ปัญหาการแย่งยึดที่ดินจากชาวบ้านให้นายทุนเคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน แต่ไทยมีการพัฒนาการทางกฏหมายและการคุ้มครองสิทธิที่ดินดีขึ้น พอประเทศในลุ่มน้ำแม่โขงเปิดประเทศ ทุนเหล่านี้จึงไหลออกไปสู่ประเทศต่างๆ ที่ยังไม่มีกฏหมายหรือกลไกปกป้องสิทธิชุมชนที่ดีพอ ซึ่งทุนไทยเป็นหนึ่งในทุนหลักที่ไหลเข้าสู่กัมพูชา เข้าไปกอบโกยทรัพยากรและรับสิทธิพิเศษทางภาษี EBA เมื่อเกิดปัญหาละเมิดสิทธิที่ดินกับชุมชน อย่างน้อยทุนจากไทยควรยึดมาตราฐานความรับผิดชอบเดียวกับในไทย ไม่ใช่อาศัยช่องว่างเข้าไปแสวงหาประโยชน์เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม เปรมฤดี มองว่า การที่อุตสาหกรรมน้ำตาลในกัมพูชาถูกโจมตีเรื่องการละเมิดสิทธิที่ดิน ทำให้ทุนไทยเริ่มชะลอการเข้าไปลงทุน ขณะเดียวกันจีนเข้าไปลงทุนมากขึ้น จนถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุด และไม่จำเป็นต้องส่งออกไปยุโรป เพราะมีตลาดจีนรองรับอยู่แล้ว ดังนั้นแนวโน้มปัญหาความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิที่ดินยังน่าวิตกกังวล
แม้โรงงานน้ำตาลจะหยุดดำเนินการในช่วงนี้ และมีกระแสข่าวมาตลอดว่าทุนไทยเตรียมจะถอนการลงทุน แต่ชาวบ้านได้ข้อมูลมาว่า ลี ยอง พัด นักธุรกิจใหญ่ของเกาะกงและเป็นคนสนิทของสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เตรียมจะจับมือกับนักลงทุนจีนเข้าเทคโอเวอร์ธุรกิจน้ำตาลใน อ.สเรอัมเบล
นี่คือข่าวร้ายของชาวบ้าน ที่อาจไม่มีหวังได้ที่ดินคืน และเป็นการตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลอันหอมหวาน ยังคงเป็นความขมขื่มบาดลึกสำหรับชาวบ้านไปอีกนาน.
————-
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย