Search

ข้อเสนอแนะขององค์กรสิทธิมนุษยชน กับการแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์

สำนักข่าวพลเมืองออนไลน์ (The Online Citizen)

สรุปความโดย บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

———————

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน MARUAH ออกแถลงการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาแรงงานอพยพข้ามชาติในระยะเร่งด่วน และเสนอมาตiการระยะกลางและระยะยาวเพื่อให้เกิดการจ้างแรงานอย่างเป็นธรรมหลังจากการตัดวงจรการระบาดของโควิด-19 ให้ได้ภายใน 1 ถึง 3 ปี โดยได้ส่งข้อเรียกร้องนี้ไปยังนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

    ในแถลงการณ์ระบุจำนวนแรงงานต่างชาติที่อยู่ในสิงคโปร์ซึ่งมีมากถึง 26% ของประชากรในภาคแรงงานทั้งหมดของประเทศ หรือราว 999,000  คนที่มีใบอนุญาตทำงาน (work permit) และอีก 200,000 คนที่ถือผู้บัตรอนุญาตพิเศษ ข้อเรียกร้องขององค์กรนี้ย้ำถึงสถานะโลกที่ 1 ของสิงคโปร์ที่ควรปฏิบัติต่อแรงงานให้เทียบเท่ากับญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป และแคนาดา เป็นต้น

ข้อเสนอแนะในห้วงเวลาปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 5 ด้าน

    1. ด้านสุขภาพ: องค์กร MARUAH แนะนำให้มีการตรวจหาไวรัสโคโรนากับแรงงานทุกคนในพื้นที่ และคนที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงคนที่ทำงานเป็นแรงงานในบ้าน หรือผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ตลอดจนคนที่อาจไม่ได้อาศัยในหอพักที่รัฐบาลกำหนดให้อยู่ โดยหน่วยจัดการและบริหารในการตรวจเชื้อควรทำงานอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์ เพราะเชื่อว่าไวรัสนี้จะอยู่และส่งผลกระทบไปอีกอย่างน้อย 2 ปีหรือมากกว่านั้น ดังนั้น องค์กรนี้จึงต้องการให้รัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลแรงงานเหล่านี้ต่อไป อีกทั้งควรตั้งคลินิกและอุปกรณ์ด้านการแพทย์ แจกจ่ายสบู่ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย และเตรียมแหล่งน้ำสะอาดเพื่อให้พวกเขามีที่ล้างมือได้สะดวกมากขึ้นในช่วงเวลาหลังจากนี้ 

    ส่วนการดูแลด้านสุขภาพจิต รัฐควรมีหน่วยล่ามภาษาบริการสำหรับให้แรงงานได้เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษาหรือเมื่อต้องการคำแนะนำ เช่นเมื่อพบว่าตนเองน้ำหนักตัวลด มีความกังวลที่ไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวหรือจ่ายหนี้สินกับเอเยนต์ที่พามาทำงานหรือแหล่งกู้ยืมอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลควรเตรียมคนที่มีความพร้อมในการให้คำปรึกษา และย้ำว่ารัฐต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของแรงงานในกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสถานะหรือเอกสาร หรืออยู่ในระหว่างการเพิกถอนใบอนุญาตทำงานและปัญหาต่างๆ โดยส่งกรณีของแรงงานเหล่านี้ไปยังส่วนที่ดูแลการตัดวงจรการระบาดก่อน

    2. ด้านที่อยู่อาศัย: องค์กร MARUAH แนะให้รัฐบาลติดตั้งศูนย์กักตัวเพื่อดูแลแรงงานที่ติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อที่เคยอยู่ด้วยกันก่อนหน้านี้ และป้องกันไม่ให้เกิดการสัมผัสระหว่างกันด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หอพักจึงต้องมีการจัดการใหม่ไม่ให้แออัดเหมือนอย่างที่เป็นมา ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาของแรงงานที่ถูกพาไปรักษาหรือกักตัวก่อนหน้าให้อยู่ในสภาพหอที่ดี มีจำนวนคนต่อหนึ่งห้องน้อยลง มีที่ระบายอากาศและแสงแดดส่องถึง เพิ่มจำนวนห้องอาบน้ำและสุขา รวมถึงจัดที่รับประทานอาหารที่พวกเขาสามารถอยู่ห่างกันได้ 1-2 เมตร ที่สำคัญนายจ้ายควรรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดพื้นที่ของแรงงานเหล่านี้รวมถึงสุขภัณณฑ์ เช่น โถส้วม ที่อาบน้ำ อ่างล้างหน้า บริเวณซักล้าง และครัว และพื้นที่ทั้งหมดเหล่านี้ควรขยายให้กว้างขวางมากขึ้น รัฐจึงควรสนับสนุนด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และทักษะด้านนี้มาดำเนินการ

    3. ด้านอาหาร: แรงงานควรได้รับแจกอาหารที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับวัฒนธรรมอาหารของพวกเขา และควรมีรสชาติอร่อยพร้อมสารอาหารครบถ้วน และช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เจ้าหน้าที่ที่ดูแลยิ่งต้องใส่ใจอาหารมื้อเช้าที่ควรจะส่งถึงจุดที่มีการแจกจ่ายอาหารอย่างน้อยก่อนเวลา 30 นาที การจัดการด้านนี้โดยรวมควรสอดคล้องกับแนวทางธรรมาภิบาลในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานความสะอาด ระยะเวลาในการส่งอาหาร และราคา

    4. ด้านการจ่ายเงินเดือน: ปัญหาหลักคือการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างล่าช้าที่รัฐบาลควรลงมาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้แรงงานได้รับเงินเดือนตรงเวลาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพวกเขา ที่ผ่านมา กระทรวงกำลังคน (Ministry of Manpower-MOM) ได้เข้ามาช่วยเหลือผ่านมาตรการด้านภาษีให้กับแรงงานคนละ 750 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติช่วยเหลือไปแล้ว 62,000 คนที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 675 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในรอบแรก อย่างไรก็ตาม องค์กรนี้ระบุว่ายังมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่หมดสัญญาจ้างงานก่อนหน้านี้ที่อาจตกสำรวจ นอกจากนี้ รัฐบาลควรที่จะคำนวณจ่ายหรือให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ต้องได้รับค่าชดเชยในวันที่ปฏิบัติงานไม่ได้หรือคนที่ตกงาน และการสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้ตรงเวลาและเต็มจำนวน

    5. ด้านการให้ความรู้และการสื่อสารกับแรงงาน: องค์กร MARUAH คัดค้านการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิแรงงานโดยคนกลางหรือเอเยนต์ในช่วงที่ควบคุมโรคระบาด ทำให้แรงงานไม่สามารถทำงานหาเงินมาจ่ายคืนคนกลางหรือเอเยนต์เหล่านั้นสำหรับค่าใช้จ่ายที่พวกเขาได้มาทำงานในสิงคโปร์ นอกจากนี้ การสื่อสารกับแรงงานด้วยภาษาของพวกเขาเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรใช้ภาพกราฟิกเข้าช่วยหรือไฟล์เสียงในพอดแคสท์ (podcast) เพื่อให้ข้อมูลส่งต่ออย่างทั่วถึง รัฐจึงควรจ้างคนทำงานที่มีความสามารถทางภาษาที่หลากหลายมาทำหน้าที่ และต้องให้แรงงานเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ สื่อมวลชนกระแสหลักควรตระหนักถึงการรายงานข่าวอย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบเมื่อนำเสนอเรื่องราวของคนกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งรัฐบาลควรแสดงจุดยืนในประเด็นเหยียดผิวหรือความเกลียดกลัวที่มีต่อแรงงานอพยพ เพื่อไม่ทำให้อคติฝังรากลึกลงในสังคมสิงคโปร์ไปมากกว่านี้

“แรงงานอพยพไม่ใช่แค่ตัวแทนของเสียงที่ต่อรองกับสถานะที่เขาเป็นแรงงานเท่านั้น แต่พวกเขาสามารถส่งเสียงเพื่อตัวของเองในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเป็นอยู่ เงินเดือนที่ถูกหักอย่างไม่เป็นธรรม หรือความอยู่ดีมีสุขโดยรวม”

องค์กร MARUAH ยังเสนอให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและภาคประชาสังคม สหภาพการค้า และสื่อมวลชน โดยรัฐต้องไม่แบ่งแยกหรือคัดเลือกองค์กรหรือหน่วยใดโดยเฉพาะ เพราะเชื่อว่าทุกองค์กรและหน่วยงานต่างมีความคิดและบทบาทที่สร้างสรรค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเพื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แรงงานอพยพจึงเป็นกลุ่มที่ต้องสามารถให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องกังวลว่าเมื่อพูดไปแล้วจะส่งกระทบต่อชีวิตพวกเขาในภายหลังหรือไม่ รัฐบาลจึงไม่ควรตั้งป้อมเป็นศัตรูกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยการกล่าวหาว่าสร้างข่าวปลอม (fake news) หรือสร้างบรรยากาศของความกลัวหากองค์กรใดองค์กรหนึ่งต้องการพูดหรือเสนอความจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและปรับปรุง องค์กรเอกชนเองก็ต้องยืนหยัดในการเสนอข้อเท็จจริงด้วยการเช็คข้อมูล และไม่ควรถูกทำลายความเชื่อมั่นโดยรัฐบาลหรือองค์กรด้านการค้า

ข้อแนะนำต่อมาตรการระยะกลางและระยะยาว

    องค์กร MARUAH คาดหวังที่จะเห็นการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะทั้ง 5 ด้านที่กล่าวไปข้างต้นและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการทำงานร่วมมือของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การด้านการค้า และสื่อมวลชน และที่สำคัญคือกลุ่มแรงงานที่ต้องได้รับการปกป้องในระยะกลางและระยะยาวหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมี 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

    1. ข้อมูล การสื่อสาร และการศึกษา: องค์กรนี้เสนอให้ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานที่สูญเสียรายได้ ด้วยการส่งคำร้องเรียนเหล่านี้ไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองพยาน รัฐบาลจึงควรจัดตั้งหน่วยล่ามภาษาระดับชาติในการเป็นปากเป็นเสียงให้กับกลุ่มแรงงาน นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตั้งกลุ่มทำงานที่ประกอบไปด้วยนักการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษา แรงงานอพยพ ผู้ปฏิบัติการด้านศิลปะและการละคร รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในสังคมสิงคโปร์ที่อยู่บนความหลากหลาย

    2. การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง: มิตินี้เน้นไปที่ปัญหาหอพักที่แออัดที่ต้องมีการจัดตั้งกลุ่มทำงานที่ต้องตรวจสภาพหอพักและทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อแรงงานแบบประเทศโลกที่ 1 

    3. ถ้อยแถลงของรัฐ: ประเด็นสำคัญคือรัฐควรทบทวนนโยบาย “ยอมแลกเพื่อให้ได้มา” (trade-off Policy) ในวัฒนธรรมของคนสิงคโปร์ที่มักเชื่อว่าการยอมให้มีการจ้างแรงงานราคาถูกคือการยกระดับประเทศไปสู่ความรุ่งเรือง หลังจากนี้ สิงคโปร์ต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การเคารพสิทธิของคนและเชื่อว่าคนเท่าเทียมกัน

    4. โลกาภิวัตน์: การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงานในห่วงโซ่การผลิตระดับโลกของสิงคโปร์ องค์กร MARUAH กระตุ้นให้รัฐบาลออกมาปกป้องแรงงานท้องถิ่นและแรงงานอพยพด้วยการเข้าไปดูโครงสร้างของอัตราค่าแรง คือกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกประเภทของงาน ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง แรงงานในบ้าน หรือแรงงานให้ความดูแล รวมถึงการยกระดับความเป็นอยู่ โดยเฉพาะประเด็นที่ดินราคาแพงของสิงคโปร์ที่ส่งผลต่อการจัดการพื้นที่สำหรับผู้มีรายได้น้อยและแรงงานอพยพ

—————–

ที่มา: https://bit.ly/2X0w6iD

————–

หมายเหตุ-บทความนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับ the Department of Southeast Asia Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทย

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →