
———
โดย Cindy Co สถานีข่าวซีเอ็นเอ
สรุปความโดย บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
——————-
หลังเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายการจัดการแรงงานต่างชาติที่นำไปสู่การค้นพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลักหลายร้อยในแต่วัน หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของสิงคโปร์เริ่มประเมินสถานการณ์หากต้องลดจำนวนแรงงานต่างชาติลงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอะไรบ้างและจะเกิดแรงกระเพื่อมต่อตลาดแรงงานและราคาที่พักอย่างไร ปัจจุบันประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้มีแรงงานต่างชาติติดเชื้อไวรัสโคโรนามากถึง 90% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมด้านการค้าและหอการค้าชาติพันธุ์ต่างๆ ออกให้ความเห็นและยอมรับถึงบทบาทที่สำคัญของแรงงานต่างชาติที่ทำให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์เติบโต และมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้หากต้องลดจำนวนแรงงานประเภทนี้ลง ท่ามกลางความต้องการของประชากรประเทศที่ต้องการแรงงานต่างชาติอยู่ เนื่องจากสิงคโปร์ก็ประสบปัญหาการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและอัตราการเกิดต่ำ และความต้องการที่เป็นทุนเดิมของแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพ การจัดการ การบริหาร และทักษะด้านเทคโนโลยี (professional, managers, executives and technicians: PMET)
ตัวแทนสมาพันธ์ด้านการผลิตสิงคโปร์ (Singapore Manufacturing Federation: SMF) สมาคมอุตสาหกรรมกระบวนการผลิตสิงคโปร์ (Association of Singapore Process Industries: ASPRI) และสมาคมอุตสาหกรรมทางทะเลสิงคโปร์ (Association of Singapore Marine Industries: ASMI) ออกมาแถลงการณ์ร่วมกันในเรื่องนี้
“ด้วยความที่สิงคโปร์มีข้อจำดัดด้านทรัพยากรบุคคล เราจะไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไปหากมีจำนวนแรงงานอพยพไม่เพียงพอที่จะทดแทนแรงงานท้องถิ่นในภาคการผลิต สิงคโปร์ควรสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะอุปสงค์ของแรงงานในแต่ภาคการผลิตจะลดลงและผลที่ตามมาคือตำแหน่งงานที่ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนและธุรกิจที่ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดก็จะกระทบต่อตำแหน่งงานด้าน PMET สำหรับคนสิงคโปร์ด้วย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการส่งออก”
นอกจากนี้ องค์กรด้านรับเหมาก่อสร้างยังประเมินว่าการลดจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคก่อสร้างก็จะทำให้บริษัทต่างๆ ไม่มีความสามารถในการแข่งขันที่จะสร้างโครงการเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น การสร้างอาคารหรือเครื่องมืออุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงงานพลังงานหรือพื้นที่สำหรับโปรโมตการท่องเที่ยว ขณะที่คณะกรรมการด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนา (Housing and Development Board: HDB) แสดงความเห็นในทางเดียวกันว่าโครงการก่อสร้างอาคารหรือที่พักอาศัยก็จะได้รับผลกระทบ ราคาที่พักเหล่านี้จะสูงขึ้นและต้องใช้เวลานานขึ้นในการดำเนินการโครงการหนึ่งให้เสร็จ และได้เปิดเผยว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมก่อสร้างจ้างแรงงานต่างชาติถึง 300,000 คน และแรงงานในท้องถิ่น 100,000 คน
คำถามสำคัญคือสิงคโปร์ยอมรับต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ได้หรือไม่ และความท้าทายที่ตำแหน่งงานที่ทำให้เศรษฐกิจเดินนั้นต้องทดแทนด้วยคนท้องถิ่นที่มีไม่มากนัก” นี่เป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จากสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสิงคโปร์ (Specialists Trade Alliance of Singapore: STAS) ที่มีสมาชิก 11 สมาคมย่อยด้านการผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตท่อน้ำ และการสร้างและติดตั้งลิฟท์และบันไดเลื่อนเป็นต้น สมาคมนี้ยังยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ เช่นการดูแลรักษาลิฟท์และบันไดเลื่อนที่ต้องการแรงงานต่างชาติจะได้พบกับปัญหา และส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายและการดำเนินการที่ปลอดภัยในอาคารที่อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องพึ่งพิงลิฟท์และบันไดเลื่อน
หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น สมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสิงคโปร์ให้ความเห็นว่านายจ้างในสิงคโปร์จึงต้องรับผิดชอบในการดูแลแรงงานอพยพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก สิทธิประโยชน์ในการทำงาน ความปลอดภัยในที่พัก และสุขภาพ ซึ่งก็มีการปรับปรุงมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นายจ้างจำนวนมากพยายามทำตามกฎระเบียบ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความพยายามเหล่านี้ถูกสื่อสารคลาดเคลื่อน เช่นสภาพหอพักของแรงงานที่น่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ หากเปรียบเทียบสิงคโปร์กับที่อื่นในภูมิภาค ที่พักของที่นี่ก็ถือว่าดีที่สุด การนำเสนอภาพผิดๆ เหล่านั้นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ยุติธรรมเลยและอาจนำไปสู่ปัญหาของการผลิตในหลายอุตสาหกรรม
สมาคมนี้ยังแถลงอีกว่าสิงคโปร์ให้โอกาสการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกับแรงงาน นายจ้างเองได้ให้ความรู้และทักษะใหม่ๆ กับแรงงาน สิงคโปร์จึงยังเป็นทางเลือกต้นๆ ในภูมิภาคนี้ แรงงานเองก็สามารถหาเงินได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดหากเทียบกับค่าจ้างที่ได้จากประเทศบ้านเกิด เงินเดือนของที่นี่มากกว่าเป็นสิบเท่าหากพวกเขาไม่ได้ตัดสินใจมาสิงคโปร์ อีกทั้งพวกเขายังได้รับการปกป้องด้วยกฎหมายและช่องทางที่หลากหลายเมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทกับนายจ้าง
ส่วนด้านที่อยู่และหอพักในสิงคโปร์นั้น หลายองค์กรที่กล่าวมายืนยันว่าแรงงานอพยพได้รับสิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ระบบการจัดการด้านที่อยู่อาศัยของประเทศที่ไม่สามารถหาได้ในอื่น จะเห็นว่าแรงงานอพยพเองก็อาสาที่จะอยู่ที่ด้วยความสมัครใจเพื่อทำงานให้ครบตามสัญญา ขณะที่หลายคนก็อยู่มาเกิน 10 ปีแล้ว ทั้งยังชวนให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนมาทำงานในสิงคโปร์อีก ตัวอย่างนี้น่าจะช่วยหักล้างการนำเสนอที่เลวร้ายของหอพักแรงงานอพยพลงได้
นอกจากองค์กรดังกล่าว หอการค้ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในสิงคโปร์ เช่น หอการค้าอินเดีย หอการค้ามาเลย์ และหอการค้าจีน ต่างยืนยันว่าแรงงานต่างชาติจะทำให้สิงคโปร์คงศักยภาพในการแข่งขันต่อไป “แรงงานอพยพเข้ามาทำงานไร้ทักษะ ซึ่งทำให้คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่สามารถทำงานด้านวิชาชีพ การจัดการ การบริหาร และเทคโนโลยีต่อไปได้ นี่จะเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมเป็นฐาน ดังนั้น เราจึงขอกระตุ้นให้รัฐบาลและคนสิงคโปร์ร่วมการพิจารณาอย่างระมัดระวังในการกำหนดนโยบายด้านแรงงานอพยพ”
————-
ที่มา: https://bit.ly/2Aw8pXN
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับ the Department of Southeast Asia Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทย
///////////////////////