
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 กลุ่มพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในลุ่มน้ำโขงจาก ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนามออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศแม่น้ำโขง 4 ประเทศและคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง(MRC) ทบทวนการพึ่งพาด้านพลังงานของภูมิภาคแทนเขื่อนไฟฟ้าที่สร้างผลกระทบ
ในแถลงการณ์ระบุว่า เขื่อนสานะคามไม่ควรจะถูกสร้างเพราะมีมูลค่าการก่อสร้างสูง ไม่มีความจำเป็น และมีความเสี่ยง เขื่อนแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 684 เมกะวัตต์ มีค่าก่อสร้างกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 8 ปี หากเฉลี่ยเวลาในก่อสร้างแล้ว เขื่อนจะติดตั้งพลังงานได้เพียง 90 เมกะวัตต์ต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับการติดตั้งพลังงานทางเลือกอื่นในภูมิภาค เช่น การติดตั้งพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามพบว่า เฉพาะเดือนเมษายน – กรกฎาคม มีกำลังการผลิตติดตั้งมากถึง 4,400 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าเขื่อนสานะคามถึง 6 เท่า การสร้างเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่นเขื่อนสานะคาม มีความเสี่ยงมากขึ้น ใช้เวลาก่อสร้างนาน ใช้เงินลงทุนสูง และจะกลายเป็นทรัพย์สินที่สร้างภาระ ความเสี่ยงต่าง ๆ นี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสร้างเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขงในตอนบน ซึ่งจะทำให้การไหลและระดับน้ำไม่สามารถคาดการณ์ได้อันส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนสานะคามและเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก
แถลงการณ์ระบุว่า พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงขอเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนสานะคามและเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักอื่นที่มีแผนจะสร้าง แทนที่จะมีการนำโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือที่บกพร่องนี้ และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศแม่น้ำโขงและคณะกรรมธิการแม่น้ำโขง ให้จัดการปัญหาตามข้อกังวลหลักต่อเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ประเมินทางเลือกด้านพลังงานอย่างรอบด้านและโดยการมีส่วนร่วม จัดลำดับความสำคัญของการเดินหน้าเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาค ที่คำนึงถึงระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและความต้องการของชุมชนในภูมิภาค จัดการปัญหาตามข้อกังวลหลักต่อกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า
“เราไม่จำเป็นต้องเอาแม่น้ำโขงมาแลกกับความต้องการด้านพลังงานและน้ำของภูมิภาค เพราะไทยซึ่งเป็นประเทศหลักที่จะรับซื้อไฟฟ้ามีพลังงานสำรองที่ล้นเกิน เมื่อเมษายน 2563 กระทรวงพลังงานของไทยระบุว่าในปี 2563 เรามีพลังงานสำรองที่อาจสูงมากถึง 40 % หรือประมาณ 18,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิตของเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักทุกแห่งรวมกัน ขณะที่มีนาคม 2563 กัมพูชาได้ประกาศเลื่อนการสร้างเขื่อนซำบอและสตรึงเตร็งออกไปอีก 10 ปี ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างถาวร และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเท่าเทียมกันด้านพลังงานทางเลือกที่เคารพสิทธิของชุมชน ภูมิภาคแม่น้ำโขงมีศักยภาพและความยั่งยืนด้านพลังงานทางเลือกสูงมาก”ในแถลงการณ์ระบุ
ขณะเดียวกันสำนักข่าว Nikei ASEAN Review ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ว่า รัฐบาลลาวกำลังเผชิญภาวะหนี้สินจากการกู้ยืมเงินกองทุนของรัฐบาลจีน ขณะนี้รัฐบาลลาวกำลังประเมินท่าทีว่าจะจัดการขายกองทุนของรัฐบาลหรือไม่ ธนาคาร Societe Generale ของฝรั่งเศลระบุว่า 80% ของหนี้เมื่อปี 2562 ของลาวมามีผลจากสกุลเงินตราต่างประเทศและถูกควบคุมจากภายนอกและเกือบครึ่งหนึ่งของหนี้สาธารณะนั้นเป็นของจีนอย่างเดียว ร่องรอยการลงทุนของเศรษฐกิจจีนที่ปรากฎในลาว เช่นการลงุทนโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การสร้างเขื่อนขนาดเล็กและใหญ่บนแม่น้ำต่างๆ การลทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างทั่วประเทศของลาว การทำถนนไฮเวย์จากคุนหมิง-เวียงจันทร์ที่ลาวถือหุ้น 30 % และลาวต้องจ่ายเงินงวดแรกจำนวน 250 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ผ่านกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำของจีน ลาวยังมีการสร้างเขื่อนทั้งขนาดเล็กและใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยคาดว่าในลาวจะมีเขื่อนผลิตไฟฟ้ามากถึง 400 แห่งทั่วประเทศ
นายแกรี่ ลี ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำสากลกล่าวว่า เขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใช้เงินกู้ลงทุนมหาศาล การเพิ่มขึ้นของเขื่อนไฟฟ้าในลาวยิ่งจะทำให้เกิดภาระหนี้สินบานปลายและกลายเป็นความกดดันของประเทศ
น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานกลุ่มติดตามการลงทุนเขื่อนในลาวกล่าวว่า แม้กรณีโครงการเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย รัฐบาลลาวก็ต้องทำสัญญาก็ยืมเงินจากธนาคารส่งออกและนำเข้าของเกาหลีใต้เพื่อมาเป็นหุ้นส่วนในโครงการดังกล่าว ซึ่งนับเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการแล้ว