
โดย จารยา บุญมาก
เป็นครั้งแรกที่ฉันเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่สื่อทั่วโลกต่างรายงานว่า มันเกิดจากการตายของ “จอร์จ ฟลอยด์” ที่ถูกตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนทำให้เขาเสียชีวิต
ฉันตัดสินใจลางาน 1 วันเพื่อเข้าไปสังเกตการณ์และพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่มากกว่าการเอ่ยคำว่า “ Hi , How are you ?” หรือสบายดีไหม ที่คนอเมริกันทักทายกันเป็นเรื่องปกติทั้งกับคนที่คุ้นเคยและคนไม่เคยรู้จักกัน
ศึกษาการเหยียดผิวผ่านสารคดี
ระหว่างการประท้วงฉันพบกับผู้ประท้วงรายหนึ่ง เขาแนะนำให้ฉันไปดูหนังเรื่อง 13th สารคดีที่กล่าวถึงการกดขี่คนผิวดำที่รู้จักกันในนามอเมริกันแอฟริกันให้เป็นทาสตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงทาสสมัยใหม่ พ่วงด้วยการสร้างภาพคนผิวสีให้เป็นอาชญากรที่ฆ่า ข่มขืน ในหนังและทีวี ขณะที่ภาพชายผิวขาวข่มขืนหญิงผิวดำกลายเป็นศิลปะที่ดี และไม่มีการเอ่ยถึงคนผิวขาวในแง่ลบเลย
สารคดีได้เชื่อมเรื่องเล่าโดยเชิญนักกิจกรรม นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาเปิดมุมมองใหม่ของความเหลื่อมล้ำในสังคมสหรัฐฯ และการใช้กฎหมายภายใต้มาตรา 13 ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ซึ่งมีเนื้อหาทำนองที่ว่า ไม่มีผู้ใดถูกปฏิบัติเยี่ยงทาส เว้นแต่ทำผิดร้ายแรงและก่อคดีอาชญากรรมที่ไม่อาจลดโทษได้ หรือก่อคดีซ้ำ ซึ่งทาสยุคใหม่ที่เกิดขึ้นมาในนามนักโทษส่วนมากเป็นคนผิวสี รองลงมาเป็นคนละตินอเมริกา และแรงงานอพยพที่ไม่ใช่คนขาว

นอกจากนี้สารคดียังกล่าวถึง ALEC หรือ American Legislative Exchange Council องค์กรที่สร้างกฎหมายขึ้นและให้อภิสิทธิ์กับฝ่ายการเมืองและฝ่ายทุนนิยมเพื่อต้อนคนเข้าคุกให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันมีประชากรในคุกมากกว่า 2.3 ล้านคน (ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม) โดยนักโทษจำนวนหนึ่งถูกนำไปใช้แรงงานคล้ายทาสในระบบทุนมากมาย เช่น บริษัทที่ผลิตสินค้าแบรนด์เนมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ทั้งนี้แหล่งข่าวในสารคดีเล่าโยงให้เห็นว่า การส่งออกแรงงานทาสในรูปนักโทษนี้ถูกดำเนินการโดย ALEC ที่ทำหน้าที่พร้อมกันทั้งองค์กรทุน การเมือง เพื่อหาแรงงานไปใช้งานและกดขี่คนเหล่านี้ให้มีชีวิตที่ต่ำลง
หลังดูหนังจบฉันนึกย้อนไปถึงเรื่องราวหลายอย่างที่เกิดขึ้นและติดตามชุมชนท้องถิ่นที่พอจะทำให้ฉันระลึกถึงเรื่องราวทั้งที่เป็นเรื่องราวจากการสัมภาษณ์ และเรื่องเล่าจากคนที่ฉันเจอโดยบังเอิญ
สารคดี 13th เป็นสารคดีที่กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมสหรัฐฯ กำกับโดย เอวา ดูเวอเน ( Ava DuVernay) ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมเอมมี่ ปี 2017
อาชญากรรมกับเรื่องเล่าของชายขอทาน
ความหดหู่อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากฉันย้ายมาจากรัฐวอชิงตัน ของสหรัฐอเมริกา มาสู่พื้นที่เบย์ แอเรีย (Bay area) ในรัฐแคลิฟอเนียร์ เพียงแค่สัปดาห์ที่ 2 ของการเป็นประชากรของเมืองนี้ ฉันถูกชายแปลกหน้าเข้ามาเปิดกระเป๋าจากข้างหลังในระหว่างที่นั่งรอรถไฟฟ้าในสถานีซึ่งมีกล้องวงจรปิดแทบจะทั่วทุกมุม ฉันรู้สึกกลัวและเดินไปแจ้งตำรวจด้วยความวิตก แต่สิ่งที่ตำรวจทำ คือ แค่รับทราบแต่ไม่ลงบันทึกประจำวัน พร้อมบอกฉันให้ทำใจว่า “ ที่นี่ตามจับคนร้ายยาก และถ้าคุณไม่ได้ถูกทำร้าย ไม่ได้สูญเสียทรัพย์สิน ผมว่าคุณต้องระวังมากขึ้นนะครับ”
ต่อมาฉันเดินทางไปทำงานในต่างเมือง ครั้งนี้นำจักรยานไปด้วย แต่ปรากฏว่าขากลับจักรยานถูกขโมยล้อไปทั้ง 2 ข้าง จำใจต้องซื้อจักรยานคันใหม่ซ้ำถึง 3 ครั้ง เหตุการณ์มันก็ยังซ้ำรอยเดิม ล้อหายไปอีกเช่นเคย
ฉันได้แต่ทำใจแล้วเดินเท้าไปขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์เสมอมาในทุกๆ เช้า ซึ่งฉันมักเจอคนเร่ร่อนมากมาย วันหนึ่งมีชายแปลกหน้าเข้ามาขอเศษเงิน เขามีรูปร่างสูง ดำ ตาโต หัวฟู
ฉันไม่ได้แบ่งเงินตามคำขอแต่ถามกลับว่าจะให้ช่วยอย่างอื่นไหม เขาบอกให้ฉันออกค่าบัตรโดยสารรถไฟฟ้าให้ แล้วเขาจะเดินทางเข้าเมืองซานฟรานซิสโก ฉันเดินไปซื้อตั๋วราคา 17 เหรียญเขาโดยสารไปยังปลายทางที่เขาต้องการและสำรองค่าบัตรโดยสารไว้ กรณีที่เขาต้องการเดินทางกลับมายังต้นทาง
ระหว่างนั่งรถไฟฟ้าด้วยกัน เขาดูสุภาพและพูดคุยกับฉันปกติ จนฉันยอมเล่าให้เขาฟังว่าฉันเพิ่งย้ายมาอยู่ รวมทั้งเล่าเหตุการณ์ให้เขาฟังว่าฉันเจอคนมาเปิดกระเป๋าแล้วแจ้งตำรวจ แต่ตำรวจไม่ทำอะไรเลย เขาหัวเราะราวกับว่าเป็นเรื่องปกติ
“ผมขอโทษนะที่หัวเราะ แต่คุณคิดเหรอว่า ตำรวจจะสนใจคนผิวแบบคุณ ถ้าให้ผมเดา คุณเป็นเอเชีย หรือ ละตินอเมริกาใช่ไหม ” เขาถามฉันกลับและเดาได้ถูกต้อง
“ใช่ค่ะ ฉันเอเชีย” ฉันตอบเขาแล้วทำหน้างง ไม่นานเขาก็หัวเราะออกมาด้วยเสียงที่ดังกว่าเดิม แล้วตะโกนว่า “น่าเห็นใจคุณจัง ช่างเด็กและไม่รู้อะไรเลย ที่นี่อเมริการนะครับ ตำรวจผิวขาวหรือเปล่า ผมสีทองละสิ”
ฉันไม่ตอบ และแน่นอนเขาก็พูดต่อ “คุณรู้ไหม ก่อนผมจะกลายมาเป็นคนเร่ร่อน ผมเป็นตำรวจมาก่อน เขาให้ผมไปจับโจรปล้นพัสดุที่บ้านของคุณนายผิวขาวคนหนึ่ง ผมตามไม่เจอใคร ผมไม่รู้จะตามที่ไหน แต่แล้วเราก็ไปเจอคนผิวสีนั่งเสพกัญชาอยู่ข้างๆ ร้านขายรถมือสอง ถนนมันมืดไปหมด ตำรวจซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของผมอะนะ..เขาสั่งให้ผมไปจับเธอ ใช่เขาให้ผมตีเธอ ทุบเธอ” เขาไม่หัวเราะอีกแล้ว และน้ำตาเริ่มไหลออกมา
“ผมไม่ทำไม่ได้ เธอเป็นแค่คนเสพกัญชา ทำไมเธอต้องเป็นคนขโมย เพื่อนตำรวจของผมก็เสพกัญชา แต่เขาผิวขาว เขาด่าผมว่าผมเป็นนิโกร เลยไม่จับนิโกร เขาซ้อมเธอแล้วจับเธอเข้าคุกข้อหามีกัญชากับขโมยของ”อดีตตำรวจย้ำถึงบาดแผลของชีวิต
“เขาซ้อมเธอ ผมจ่อปืนไปที่เพื่อนร่วมงาน แต่ไม่ยิง ไม่นานพวกมันอัดผมซ่ะเละเลย ผมตกงานมาตั้งแต่ตอนนั้น ไม่มีงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ผมโดนไล่ออกจากบ้านเช่า ผมไม่สามารถไปเช่าอะไรได้อีก ไปสมัครขับรถแล้วลงทะเบียนรอเช่าบ้านราคาถูกที่เป็นสวัสดิการคนมีรายได้น้อย รอมา 5 ปีแล้ว ก็ไม่เคยได้ มีคนผิวดำรอคิวเพียบเลย เพราะอะไรคุณรู้ไหม เพราะคนผิวดำส่วนมากรายได้น้อยทั้งหมด ไอ้พวกรวยๆ หน่อยเขาอยู่ไหน?” เขายังคงพรั่งพรูความอัดอั้นตันใจ “อยู่ฮอลลีวู้ดมั้ง …ผมไม่รู้สิ ผมไม่มีอะไรให้หวัง ผมนอนในรถจนรถพังลงแล้วก็มาเร่ร่อนนี่แหละ ”
บทสนทนาในเวลาสั้นๆ ระหว่างโดยสารรถไฟฟ้าทำให้ฉันตั้งคำถามหลายอย่างในหัวแต่ก็ไม่เคยได้คำตอบ

คนเร่ร่อน คนป่วยทางจิต ชีวิตที่แขวนบนเส้นด้าย
หลังการระบาดของโควิด -19 ในเดือนมีนาคม 2563 ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้ออันดับ 1 ของโลก หนังสือพิมพ์ลงข่าวมากมายถึงการระบาดของโรคในชุมชนคนดำอเมริกันแอฟริกันที่มีอัตราระบาดสูงกว่าชุมชนทั่วไป และเป็นเหตุให้เขตซานฟรานซิสโก และอีก 8 เขต ในรัฐแคลิฟอร์เนียต้องประกาศปิดเมืองและจำกัดการบริการของห้างร้าน รวมถึงธุรกิจอีกหลายอย่าง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ “เอมิลี่” ต้องย้ายออกจากชุมชนคนเร่ร่อนในเมืองซานฟรานซิสโก ไปสู่ชุมชนอ๊อคแลนด์ เธอถูกเลือกให้ออกจากชุมชนพร้อมกับเพื่อนอีก 25 ชีวิต
“พวกผู้นำเมือง เขาก็แค่ไอ้งั่งที่ไม่ว่าโรคอะไรจะระบาด อาชญากรรมจะเยอะ เขาต้องเลือกเอาคนดำออกก่อน ถ้าคุณเป็นคนดำ วันไหนคุณเป็นคนเร่ร่อนจำไว้เลยว่า แค่เดินข้างถนนธรรมดา คุณอาจจะโดนลากเข้าคุก แต่ตอนนี้คุกมันเต็มไง เขาไม่จับเราหรอก ประมาณว่าแรงงานในคุกมากพอแล้วละมั้ง แต่ถ้าฉันไม่ออกมา ฉันก็อาจจะโดนทุบให้ตายตรงนั้น”
เขาชื่อ “สตีเว่น เทย์เลอร์”
หลังจากการประท้วงในสหรัฐฯ ลุกลามยาวนานกว่า 10 วัน ชาวชุมชนซานลิอันโดร รัฐแคลิฟอเนียร์ ได้ลงข้อมูลในโซเชียลมีเดียและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรื้อคดีความและไต่สวนกรณีการตายของ “สตีเว่น เทย์เลอร์” ชายป่วยไบโพลาร์ ที่ถูกตำรวจยิงตายในห้างเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ไม่ประสงค์จะออกนามโทรแจ้ง 911 ว่า สตีเว่นถือไม้เบสบอลเข้าห้างและทำท่าจะปล้น ข่าวท้องถิ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงสตีเว่นนัดแรก และให้ทิ้งไม้เบสบอลลง แต่สตีเว่นไม่ตอบรับ เขาจึงยิงซ้ำทั้งปืนไฟฟ้าและปืนจริงจนกระทั่งสตีเว่นล้มลง จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เรียกรถพยาบาลมาทำการกู้ชีพแต่สตีเว่นเสียชีวิตแล้ว
เหตุการณ์การตายของสตีเว่น จึงถูกพูดถึงอีกครั้งจากผู้ชุมนุมในเมืองซานลิอันโดร และหลายคนมองว่า เขาไม่ต่างจากจอร์จ ฟลอยด์ นี่ทำให้คนในชุมชนเชื่อว่าไฟไหม้ห้างในซานลิอันโดร อาจจะมาจากกลุ่มผู้ก่อเหตุจลาจล ผู้ประท้วงที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้ สตีเว่น ผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกตำรวจฆ่า
บ่อเกิดประเทศจากการปล้นสะดมและความรุนแรง
การประท้วงลุกลามขึ้นเรื่อยๆ และบางที่มีเหตุรุนแรงจนทั้งเมืองต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะมีการใช้ความรุนแรง มีการปล้นสะดม ทำให้เกิดจลาจล หลายคนออกมาประณามการกระทำของผู้ประท้วง แต่ “โรซี่” พนักงานผิวขาวร้านยาในซิแอทเทิ่ล กลับมองว่าคนที่ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายขึ้น คือตำรวจและผู้ที่ฉายโอกาส เพราะก่อนหน้านี้ผู้ประท้วงใช้ความสันติเป็นแนวทางประท้วงแต่ตำรวจกลับยิงแก๊สน้ำตา ยิงสเปรย์ พริกไทยใส่รวมทั้งทำร้ายผู้ประท้วง อย่างรุนแรง
โรซี่ อธิบายต่อว่า เธอรู้สึกได้ถึงความอ่อนแอของผู้คนที่กลัวการจลาจล แต่กลับวางเฉยกับชีวิตคนที่ตายไปอย่างไร้เดียงสา โดยไม่ผ่านการพิสูจน์ความจริงว่าผิดในข้อหาใดบ้าง ไม่มีใครสนใจคนผิวสีที่ถูกต้อนเข้าคุกจากคดีเล็กน้อย
ทามิกา แมลลอรี นักกิจกรรมรายหนึ่งพูดออกรายการโทรทัศน์ของสหรัฐฯ และถูกแชร์ไปอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์มีข้อความบางส่วนระบุว่า
“ผู้คนโกรธแค้นกลุ่มผู้ปล้นสะดม แต่พวกเขาเรียนรู้มาจากพวกเรา ประเทศเราสร้างขึ้นมาจากการปล้นสะดม ทำลายล้าง และสังหารหมู่ชนพื้นเมืองอเมริกัน ต่อมาบรรพบุรุษผู้กล้าหาญก็ไปปล้นคนดำมาจากแอฟริกาและบังคับให้พวกเขาสร้างประเทศนี้ขึ้น พี่ชายชนพื้นเมืองอเมริกันที่ฉันรู้จัก เล่าเรื่องสะเทือนใจที่รัฐบาลทำกับเขาและครอบครัวในช่วงขณะที่เขามีชีวิต ไม่ใช่ว่านานมาแล้ว มันเป็นเรื่องน่ารังเกียจและน่าขยะแขยง และบาดแผลนี้ก็ฝังลึกลงไปในทุกการรับรู้ของพวกเรา การเหยียดสีผิวอย่างเป็นระบบและการใช้ความรุนแรงของตำรวจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพวกเราเสมอมา และได้กลืนกินจิตวิญญาณของเรามาโดยตลอดตั้งแต่แรก
“ ฉันขอร้องคุณอย่างน้อยช่วยเปิดรับความคิดนี้ พวกที่ปล้นสะดมเรียนรู้พฤติกรรมจากแผ่นดินนี้ จากพวกเราทุกคน เราอาจจะโกรธเวลาเห็นคนวิ่งหนีออกมาจากร้านค้าพร้อมกล่องรองเท้าผ้าใบ แต่คุณจะโกรธได้ขนาดไหน ถ้าคนต้องวิ่งหนีคนด้วยกัน นั่นคือสิ่งที่บรรพบุรุษเราทำ นั่นคือพลังของอเมริกา ประเทศเราปล้นเอาร่างกายของคนผิวสีมาตั้งแต่แรก พวกเราจะต้องเจอกับสิ่งนี้ต่อไปจนกว่าจะรับรู้ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของเรา และทำอะไรก็ตามเพื่อเปลี่ยนแปลง แก้ไข และซ่อมแซมความเสียหายจากรุ่นสู่รุ่นที่พวกเราได้ทำลงไปกับคนผิวสี”
ในตอนนี้ฉันขอนำมุมมองของ“ลีโอนา” หญิงลูกครึ่งอินเดียแดงสูงอายุมาถ่ายทอดโดยเธอ เล่าว่า เธอผ่านชีวิตแต่งงานกับชายผิวสีถึง 2 ครั้งและลูกที่เกิดจากสามีคนที่ 2 ทั้งคู่ล้วนผิวดำ ไม่มีใครสีผิวคล้ายเธอเลย เธอบอกว่า ชีวิตจมลงเพราะสามีอเมริกันแอฟริกันที่ชอบใช้ความรุนแรงและเชื่อสนิทใจว่าความรุนแรงเป็นนิสัยของผู้ชายผิวดำ เธอจึงมักสอนลูกที่เป็นสาวผิวดำให้แต่งงานกับคนขาว เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
“แต่งกับคนดำ แต่งไปก็เท่านั้นเดี๋ยวก็มีคดีตามมา บ้านโดนยึด จะอยู่ให้รอดต้องแต่งกับคนขาว” ลีโอนาทิ้งท้าย คำพูดของลีโอนา ชัดเจนว่าเธอรู้ดีถึงการเอาตัวรอดในสังคมสหรัฐฯ เธอรู้ว่าข้อจำกัดคืออะไร และปัจจุบันหลายคนก็ยังมองคนอเมริกันแอฟฟริกันเช่นนั้น แม้แต่หลายคนที่ฉันรู้จักก็มักเตือนกันเองว่า “ไปไหนมาไหน ระวังไอ้มืดมันปล้นนะ แต่ถ้าผิวเข้มแบบเธอ อาจจะรอด เพราะเธอดำจนแยกไม่ออก ”
หรือภาพลักษณ์ ภาพจำเช่นนี้เองที่ทำให้มีจอร์จ ฟลอยด์ ,สตีเว่น เทย์เลอร์ และอเมริกันแอฟฟริกันอีกหลายคน ถูกตีตราพวกเขาจึงยังคงเป็นคนชายขอบของประเทศที่ยิ่งใหญ่ซึ่งทั่วโลกเชื่อว่ามีความเท่าเทียมและเสรีภาพ
หมายเหตุ-ขอบคุณการแปลบทพูดของทามิกา แมลลอรี โดย รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////