
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ศาลาอเนกประสงค์สวนสุขภาพ หมู่ที่ 2 ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกอาชีพเพื่อบรรเทาปัญหาจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19)ภายใต้โครงการจิตอาสาพระราชทาน จังหวัดนำร่อง : นครราชสีมา หลักสูตรฝึกอาชีพเสริม สาขาการแปรรูปและการถนอมอาหาร
นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา สนับสนุนวิทยากรในการฝึกหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริม สาขาการแปรรูปและการถนอมอาหาร หลักสูตร 30 ชั่วโมง จำนวน 11 รุ่น ดำเนินการฝึกระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2563 มีเป้าหมายดำเนินการ 200 คน ดำเนินการได้แล้ว 225 คน และภายหลังจากการฝึกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่จะเข้าไปเติมเต็มตามภารกิจ อาทิ การส่งเสริมการมีงานทำ การประสานงานกับสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพเข้าไปจำหน่ายในโรงงาน การรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกมีหลักประกันทางสังคม เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อฝึกจบแล้วผู้เข้ารับการฝึกจะนำความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไป

นางสาวเสมียน ประดิษฐ อายุ 49 ปี กล่าวว่า เดิมมีอาชีพขายอาหารตามสั่งอยู่หน้าบ้าน มีรายได้วันละ 2,000 บาท ได้ผลกระทบจากโควิด มีลูกค้าที่ซื้อกลับไปทานที่บ้านทำให้รายได้น้อยลง ทราบข่าวจากผู้นำชุมชนจึงได้เข้ามาสมัครฝึกอาชีพหลักสูตรประกอบอาหารไทยและการถนอมอาหาร ซึ่งได้เรียนรู้การทำอาหารจากวิทยากรโดยตรงหลายเมนู เช่น ผัดหมี่โคราช ผัดหมี่กรอบ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกากหมู กระท้อนลอยแก้ว โดยอบรมเสร็จแล้วจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ โดยการทำน้ำพริกขายออนไลน์

ขณะที่ นายสุรชาติ วาดโคกสูง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนจะประสานเจ้าของตลาดในพื้นที่ เพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพที่ผ่านการฝึกอาชีพโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยการจัดหาและส่งเสริมการตลาดให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าแก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มีงานทำ
ด้านนายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด มีสถานประกอบการที่เป็นเครือข่ายในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะได้ประสานกับสถานประกอบการเหล่านี้ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพเข้าไปจำหน่ายในโรงงาน เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มอาชีพอีกทางหนึ่ง