Search

กรมโยธายังมึนผังเมืองจะนะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหลังเครือข่ายยื่นหนังสือจี้ถาม-งงอำนาจของศอ.บต. ชาวบ้านหวั่นกระทบวิถีชีวิต-ธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 นางไซหนับ ยะหมันยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอยืนยันการกำหนดพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมในร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะ จังหวัดสงขลา โดยในหนังสือระบุว่า ตามที่ปรากฏว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ออกประกาศเรื่องเชิญชวนประชาชนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2563 อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนโครงการกำหนดให้อำเภอจะนะเป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้า โดยจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ณ โรงเรียนจะนะวิทยา ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 

ในหนังสือระบุว่า ตามร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเอกสารประกอบการปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ อำเภอจะนะ ตามผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา และร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะที่อยู่ระหว่างการวางและจัดทำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในหลายส่วนจากพื้นที่สีเขียวเขตชนทบทและเกษตรกรรมให้เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และท่าเรือน้ำลึก อันจะกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่อำเภอจะนะ ที่ดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน ได้ติดตามใช้สิทธิมีส่วนร่วมนำเสนอข้อมูลศักยภาพความอุดมสมบูรณ์ของอำเภอจะนะและร่วมแสดงความคิดเห็นในการวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะมาโดยตลอด ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินกระบวนการวางและจัดทำร่างผังเมืองในปี พ.ศ.2559 ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง จนทำให้พื้นที่ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ ตามร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะได้รับการกำหนดให้เป็นเขตที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมที่ไม่อนุญาตให้มีการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมและโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทางเครือข่ายฯ จึงมีข้อห่วงกังวลว่าการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ ที่ดำเนินการโดย ศอ.บต. จะทำให้วิถีชีวิตของชุมชนและพื้นที่ที่เคยได้รับการปกป้องคุ้มครองให้เป็นเขตชนบทและเกษตรกรรมต้องถูกรุกรานด้วยอุตสาหกรรมและทำลายลงจนไม่อาจแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนดีได้ดังเดิม หากมีการกำหนดให้สามารถประกอบกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่สีเขียวเขตชนบทและเกษตรกรรม และชายฝั่งทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์

ในหนังสือระบุว่า เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงขอยืนยันเรียกร้องให้กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อำเภอจะนะเป็นไปตามร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาแล้วหลายครั้งอย่างถูกต้องชอบธรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องดูแลรักษาศักยภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ไม่ให้เสียหายถูกทำลายลงโดยมลพิษและผลกระทบจากโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

และเพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนจะนะ จังหวัดสงขลา และการดำเนินโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวม ชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังต่อไปนี้ 

 1.การดำเนินการยกร่างแผนผังและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะและจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ ศอ.บต. กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองนั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีการมอบอำนาจตามกฎหมายให้ ศอ.บต. สามารถดำเนินการได้หรือไม่ 

 2. การดำเนินการยกร่างแผนผังและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ ของ ศอ.บต. มีความเกี่ยวข้องและจะมีผลกระทบกับกระบวนการวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมชุมชนจะนะ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือไม่ อย่างไร    

ขณะที่นายอนวัช สุวรรณเดช  รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่าเรื่องนี้คาบเกี่ยว พ.ร.บ.2 ฉบับคือ พ.ร.บ.การผังเมืองปี 2518 และ พ.ร.บ.การผังเมือง ปี 2562 โดยใน พ.ร.บ บอกว่าผู้ที่มีหน้าที่วางและจัดทำผังเมืองได้คือ กรมโยธาธิการและผังเมือง และท้องถิ่น เช่น อบจ. เทศบาล อบต. ส่วนที่ถามว่าศอ.บต. ทำได้ไหม ถ้าตอบตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 ก็ยืนยันว่าทำได้ 2 หน่วยงาน ถ้าตนเป็นคนทำก็จะออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยผ่านคณะกรรมการผังเมือง  โดยคณะกรรมการผังเมืองในขณะนี้มี 3 ระดับ คือ 1. คณะกรรมการผังเมืองแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  2. คณะกรรมการผังเมือง มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน 3. คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 

“หน่วยงานที่ทำผังเมือง มีข้อแตกต่างกันคือ ถ้ากรมฯ เป็นคนทำจะเข้าคณะกรรมการผังเมืองกลาง ที่มีท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน แต่ถ้าเป็นท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก็จะเข้าคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด เรื่องนี้ทาง อบจ. มาขอเป็นผู้วางผัง ก็ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมืองในสมัยนั้น(2559-2560) ก็ไปดำเนินการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการมาเรื่อย ทำผังเสร็จ มีการประชุมกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย ก็แล้วแต่ มาทำกระบวนการตามกฎหมายประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประชุมไปเมื่อ วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 นี่คือการประชุมตามกฎหมาย ระบุว่าต้องทำ กระบวนการต้องมีการโฆษณา ติดประกาศ 15 วัน ต่างๆ นี่เขาทำไปแล้ว” รองอธิบดีกรมโยธาธิการฯ ระบุ

 นายอนวัช กล่าวว่าเท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ร่างผังตัวนั้นออกมาหลังจากนั้นก็เงียบหายไป ต่อมาก็มีการเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ หลังจากนั้นก็สงบเงียบ จนกระทั่งได้ข่าวหนังสือพิมพ์ว่าจะมีหน้าตาสีม่วงแบบนั้นออกมา

“คำถามของผมก็เป็นคำถามเดียวกับพี่น้องเหมือนกันว่าผังหน้าตาแบบนั้นมันออกมาได้อย่างไร ผู้ที่จะปรับผังนี้ ถ้าจะไม่เอาผังที่เคยรับฟังประชาชน จะปรับใหม่เป็นผังที่มีสีม่วง ก็คือ อบจ. ที่มีอำนาจปรับ สมมุติว่าเขาจะปรับ เขาก็ต้องเอาไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนใหม่ เพราะหน้าตาไม่เหมือนกับผังที่เคยรับฟังมา เพราะตามร่างผังที่รับฟังมาแล้วขั้นตอนต่อไปคือ ต้องเข้าคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ต้องเอาของที่มันผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นนี้เข้าไป ถ้าระหว่างทางเขาบอกเขาไม่อยากได้แบบนี้  เขาจะเปลี่ยน เขาก็ต้องไปจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นใหม่ ได้ข้อยุติถึงจะเอาเข้าเพราะฉะนั้น ถ้าถามกระบวนการต่อไป ก็ต้องเอาผังนี้ที่รับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้วเอาเข้าประชุมคณะกรรมการผังเมืองระดับจังหวัดที่มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน “นายอนวัช กล่าว  และว่า สองถ้าระหว่างทางยังไม่อยากเอาเข้า อยากแก้ เขาก็ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ มีการวิเคราะห์ว่าทำไมต้องเพิ่มสีนั้น ต้องปรับสีนี้ แล้วมารับฟังความคิดเห็นประชาชน ได้ความว่าอย่างไรแล้วค่อยเอาเข้าคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด  

——————

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →