สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

แห่ให้กำลังใจหมอสุภัทรหลังถูกกลุ่มสนับสนุนเมืองอุตสาหกรรมจะนะขับไล่ เจ้าตัวเปิดใจยันมีหน้าที่ดูแลสุขภาพกาย-ใจประชาชน กลุ่มรักษ์ถิ่นยื่นหนังสือยูเอ็นร้องถูกคุกคาม

ขอบคุณภาพจาก เพจติดตามแผนพัฒนาสงขลา-สตูล

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่โรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ชาวบ้านกว่า 200 คน เดินทางมาให้กำลังใจ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ หลังจากมีชาวบ้านกลุ่มสนับสนุนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ออกมาเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าสังเกตุการณ์และบันทึกภาพชาวบ้าน

สำหรับชาวบ้านที่มาในวันนี้จากพื้นที่ อ.จะนะ และ จากพื้นที่ จ.สงขลา จ.ปัตตานี รวมทั้งตัวแทนนักศึกษา ร่วมให้กำลังใจ มีการแสดงป้ายผ้าระบุข้อความ หมอสุภัทรเป็นผู้เสียสละของชุมชน พร้อมทั้งมีการมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่ นพ.สุภัทร

ขณะที่ในสังคมสื่อโซเชียลมีการแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจจากบุคคลและกลุ่มองค์กรต่างๆ จำนวนมาก โดยมีการติดแฮชแท็ก #saveหมอสุภัทร #SaveSupat

นพ.สุภัทร กล่าวกับชาวบ้านว่า หน้าที่และบทบาทของการเป็นหมอสำคัญมาก ครูอาจารย์สอนมาว่าเป็นบุคลากรทางการแพทยน์ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจโรคเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งใดที่ป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้นั่นคือสิ่งที่ดีและสำคัญที่สุด สุขภาพสำคัญที่สุด หากป่วยเป็นมะเร็งหรือโรคปอดแล้วจึงมารักษาจะช้าไปแล้ว และจะเป็นความทุกข์ของผู้คน ครอบครัวชุมชน ดังนั้นถ้าป้องกันได้จะดีที่สุด สิ่งที่ตนและทีมงาน รพ.ทำอยู่คือ พยายามทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

“โรงพยาบาลจะนะ ยังยืนยันจะดูแลสุขภาพทุกคน ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายคัดค้านเหมือนเดิม เพราะถือเป็นหน้าที่ ขอให้สบายใจ เพราะทุกคนเป็นพี่น้องคนจะนะ หรือไม่ใช่คนจะนะก็ตาม เราต้องอยู่ร่วมกันได้ ไม่อยากให้บาดแผลกว้างออกไป สุดท้ายอยากชวนเขามาใคร่ครวญไตร่ตรองว่าอนาคตจะนะควรเป็นอย่างไร” นพ.สุภัทร กล่าว

นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่า เราพยายามทำการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่คำถามใหญ่คือการมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร พื้นที่อุตสาหกรรม 16,753 ไร่ ท่าเรือน้ำลึก 3 ท่า ยื่นลงทะเลยาว 4 กิโลเมตร โรงไฟฟ้า 3,700 เมกกะวัตต์ ดังนั้นจะเปลี่ยนจะนะตลอดไป จึงเป็นเรื่องที่คนจะนะต้องมีการตัดสินใจว่าอนาคตจะมีชีวิตแบบไหน แม้ทุกวันนี้มีสิทธิในการเลือกน้อยลง แต่หัวใจในการทำหน้าที่ของบุคลาการทางการแพทย์ยังคงเป็นเรื่องการทำให้พี่น้องมีสุขภาพและจิตใจที่ดีซึ่งมีความหมายมาก หากโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอุตสาหกรรมเข้ามามิติสังคมวัฒนธรรมจะเกิดความวุ่นวาย

นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่า ตนเคารพและมีความสนิทสนมกับ นพ.ราเมศร์ อำไพพิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จึงถามท่านว่า คิดอย่างไรกับโครงการพัฒนาในภาคตะวันออก และนิคมอุตสาหรรกมที่แหลมฉบัง คุณหมอราเมศตอบชัดว่าถ้าเลือกได้อย่าให้มี ซึ่งโรงพยาบาลแหลมฉบังใหญ่มาก มีหมอ 50-60 คน แสดงว่ามีผู้ป่วยมาก ชัดเจนว่าการมาของนิคมอุตสาหรรม ท่าเรือ โรงพฟฟ้า นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็ข สุขภาพแย่ลง มลพิษแย่ลง มาแบบวันละนิดสะสมในร่างกายที่ละน้อยแต่ยาวนาน 5-10 ปี เราจะอยู่กันอย่างไร บ้านเราจะอยู่ไหนซึ่งปัจจุบันเราเลือกได้ ส่วนตัวตนได้เลือกแล้ว

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า ดีใจมากที่พี่น้องมาเยี่ยมมาให้กำลังใจ เพราะความหมายคือเราเลือกในทางเดียวกัน ที่พัฒนาความสุขอย่างยั่งยืน เราไม่เอาการพัฒนาที่มีแต่คอนกรีต ต้นไม้หายไป ทะเลแย่ลง เป็นสิ่งความหมายกับจะนะอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้ทำเพื่อพี่น้องจะนะเท่านั้น แต่เรากำลังต้องการเปลี่ยนควมไม่ธรรมในไทย เช่น เวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 ก.ค. นี้ ให้เวลา 3 ชั่วโมงเพื่อเปลี่ยน อ.จะนะ ไปตลอดการใช่หรือไม่ และกำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ แม้แต่ที่ หาดม่วงงาม หรือ จ.สระบุรี ในภาคเหนือ อีสานเกิดขึ้นเหมือนกัน เราไม่เห็นด้วยกับพิธีกรรมรับฟัง 3 ชั่วโมงนี้ เพราะต้องการเปลี่ยนให้กระบวนการรับฟังเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เราต้องการการพัฒนาอีกแบบ การสร้างเขื่อนก็ทำลายป่า เราไม่ต้องการ แต่เราต้องการแบบไหน ต้องการสร้างสังคมแบบไหน คนรุ่นใหม่ต้องช่วยกันสร้าง พี่น้องจะนะส่วนหนึ่งเริ่มแล้ว มีการตั้ง ศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน หรือ ศอบจ. เชิญชวนพี่น้องทุกคนช่วยคิดว่าจะพัฒนาจะนะให้ยั่งยืนได้อย่างไร 

“ผมเป็นคนหาดใหญ่ แต่มาอยู่จะนะ 22 ปี ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง เอื้ออาทร มีทรัพยากรสมบูรณ์ และพี่น้องดูแลผมอย่างดี อยากขอบคุณพี่น้อง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสร้างจะนะที่เราอยากให้เป็นไม่ใช่แบบที่คนอื่นอยากให้เราเป็น” นพ.สุภัทร กล่าว

ครูเอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสุเหร่า อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจมาให้กำลังใจหมอสุภัทร เพราะที่ผ่านมาได้เห็นการทำงานในฐานะหมอที่ดีมาโดยตลอด ยากที่จะหาหมอทั่วไปมาเทียบ ในด้านการรักษาผู้ป่วยไม่เคยบกพร่อง ทั้งยังมีการเกื้อกูลต่อการทำงานด้านการศึกษามาโดยตลอด โรงพยาบาลจึงทำงานร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่มาโดยตลอด หมอสุภัทรให้แนวคิดการศึกษาแนวใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชน

“นับตั้งแต่ปี 2541 ที่หมอสุภัทรเข้ามาอยู่ที่จะนะ เราไม่เคยเจอหมอที่เข้าใจชุมชนท้องถิ่นหมอสุภัทรมาก่อน การทำงานแก้ปัญหาสุขภาพเด็ก งานป้องกันสุขภาพชุมชน และเกื้อกูลงานการศึกษา เมื่อปีปัญหายาเสพติดในโรงเรียน หมอสุภัทรเข้ามาช่วยทำกระบวนการกับเด็กนักเรียน งานของหมอจึงไม่ได้อยู่แค่การรักษา แต่เป็นงานพัฒนาสุขภาพร่างกายและจิตวิญญาณให้แก่ชาวบ้าน เราจึงปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากหมอหรือโรงพยาบาลได้ทุกเรื่อง” ครูเอกจิตรา กล่าว

ครูเอกจิตรา กล่าวอีกว่า ทุกคนเห็นการกระทำของหมอสุภัทรมาโดยตลอด มีความรักในท้องถิ่น ทุกคนจึงร่วมกันออกมาปกป้องหมอสุภัทรในครั้งนี้ ส่วนคนที่ออกมาขับไล่อาจเป็นคนส่วนน้อย ที่ยังไม่เคยได้สัมผัสหรือได้รับข้อมูลผิดทำให้ไม่เข้าใจในการทำงานของโรงพยาบาลหรือตัวหมอสุภัทร เพราะหมอไม่เพียงแต่รักษาคนไข้ แต่เป็นการเฝ้าระวังสุขภาพ สร้างอุดมการณ์ให้คนรักในทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ไม่ให้เอาทะเลไปย่ำยี เหมือนตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง 

ขณะเดียวกันช่วงเช้าวันนี้ คณะทำงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น นำโดย น.ส.ไซหนับ ยะหมัดยะ ได้เดินทางไปยังอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กทม. เพื่อยื่นหนังสือถึงสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (UN Resident Coordinator) และผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย (EU) เพื่อขอให้ตรวจสอบรัฐบาลไทยและติดตามโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

ในหนังสือระบุว่าตามที่รัฐบาลไทย โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบหลักการจะนะเมืองต้นแบบฯ โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งโครงการฯนี้ ต้องการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยอ้างว่าจะจัดสรรพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท คือ 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่ 2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 แห่ง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่ 6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่ และได้อนุมัติการใช้งบประมาณก้อนแรก 18,680 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และได้ดำเนินการเชิญชวนประชาชนในพื้นที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ โดยอ้างว่าประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์ และทางรัฐจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถขออะไรก็ได้ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างดีที่สุด 

ในหนังสือระบุว่า หากในข้อเท็จจริงแล้วโครงการนี้จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนในอนาคตในหลายมิติ คือ 1. การเริ่มต้นโครงการนี้กำลังสร้างความขัดแย้งอย่างหนักในพื้นที่ อันเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างจากความไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงของโครงการของประชาชน ซึ่งมีความกังวลว่าโครงการนี้จะสร้างความเจริญหรือจะเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับคนในพื้นที่มากกว่า และท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้ประโยชน์แท้จริงคือกลุ่มทุน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น 2. เจ้าหน้าที่รัฐได้สร้างความหวังเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยบอกว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นก็จะดำเนินการให้มีการอนุมัติกรรมสิทธิ์ที่ดินกับประชาชนในกรณีรายที่ไม่มีกรรมสิทธิ์มาก่อน จึงเสมือนเป็นการล่อลวงให้หลงเชื่อ เพื่อหวังจะใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนโครงการ ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนจะมีการจับจองเพื่อขอซื้อที่ดินเหล่านั้นของชาวบ้านเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรม และยิ่งไปกว่านั้นวิธีการนี้คือการเอื้อประโยชน์นายทุนผู้ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ที่ต้องการขายที่ดินให้กลุ่มทุน

ในหนังสือระบว่า 3. ศอ.บต. และกลุ่มทุนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ พยายามรวบรัดขั้นตอนกระบวนการดำเนินงาน โดยไม่สนใจระเบียบปฏิบัติทางกฎหมาย และไม่สนใจต่อสภาวะทางสังคม วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อันรวมถึงวิกฤติด้านสุขภาพในปัจจุบัน ดังเช่นความพยายามที่จะจัดเวทีแก้ไขผังเมืองในช่วงการที่มีการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม และยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 อย่างรุนแรง 4. โครงการนี้จะสร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง อันรวมถึงสภาพอากาศจากมลพิษโรงงานจำนวนมาก และน้ำเสียที่จะปล่อยลงสู่ทะเล ที่จะทำลายระบบนิเวศโดยรวมของสัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเล ทั่วทั้งจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง อันจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบล ของอำเภอจะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ในหนังสือระบุว่า 5. ประชาชนในพื้นที่จะขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อันเป็นผลพวงจากที่ดินจำนวนมากที่จะต้องเปลี่ยนสภาพเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม และที่ทำกินในทะเลอันเป็นพื้นที่ทำการประมงสำคัญของจังหวัดสงขลาก็จะได้รับผลกระทบจากการมีท่าเรือขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง และเชื่อว่ากิจกรรมจากการเดินเรือขนส่งสินค้าจะส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านแห่งนี้ยากลำบากมากขึ้น และอาจจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป 6. มีการคุกคามผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงออกแสดงความเห็นคัดค้านโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจไปถึงที่บ้าน เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมการรับฟังความเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ หรือไม่การจัดตั้งกลุ่มบุคคลไปถือป้ายเป็นขบวนขับไล่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะเนื่องจากคัดค้านโครงการ และการสร้างเพจเฟซบุ๊กในลักษณะ Information Operation(IO) หรือ “ปฏิบัติการข่าวสาร” คุกคามผู้คัดค้านโครงการ 7. มีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายจังหวัดในภาคใต้เพื่อไปอารักขาการประชุมรับฟังความคิดเห็นวันที่ 11 กรกฎาคม นี้ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่คัดค้านโครงการที่จะไปแสดงความเห็นในเวที

“การกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบตามหลักกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง จึงขอให้ได้โปรดติดตามการกระทำของรัฐบาลไทยที่ได้ดำเนินการในโครงการนี้ดังนี้ 1. ติดตามและให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการของคณะรัฐบาลไทยว่าได้ดำเนินการภายใต้แนวคิดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และหลักสิทธิมนุษยชน หรือไม่ 2. ติดตามตรวจสอบและทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ในกรณีที่มีละเมิดสิทธิชุมชน และหลักการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภายใต้สนธิสัญญา กติการะหว่างประเทศ ที่รัฐไทยได้ผูกพันไว้ 3. ขอให้ติดตามและสังเกตการณ์ที่ ศอ.บต.จะจัดประขุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามสถานการณ์มิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน”ในหนังสือ ระบุ

////////////////////////////////////

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →