Search

74 ปี “จอนิ โอ่โดเชา”

โดย พฤ โอ่โดเชา

วันนี้(2 สิงหาคม)เมื่อ 74 ปีก่อนเป็นยุคก่อเกิดของพ่อ “จอนิ โอ่โดเชา” ช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ปีสุดท้ายที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามและต้องนำทัพกลับบ้านเกิด โดยที่บ้านหนองเต่าหมู่ 4 ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เคยเป็นเส้นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นที่ใช้มุ่งไปสู่เขตแดนพม่า 

ช่วงทหารญี่ปุ่นนำทัพกลับประเทศนั้น เป็นจังหวะเดียวกับที่นายดิปุ๊นุกับนางโต๊ะตุ ได้ให้กำเนิดลูกคนที่ 5 พอดี โดยก่อนหน้านั้น ครอบครัวนี้มีลูกสาว 3 และลูกชาย 2 คน ช่วงนั้นเกิดโรคระบาด ทั้งโรคห่าและมาลาเรีย ทำให้เกิดความอดยากไปทั่ว ข้าวยากหมากแพง ทั้งหมดเป็นผลจากพิษสงคราม

เนื่องจากมีการตายเกิดขึ้นมาก ชาวบ้านต่างแยกย้ายหมู่บ้านกันหลบเพื่อหนีโรคระบาด ทำให้ชุมชนบ้านหนองเต่าแตกกระจาย แยกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ เหลือบ้านจุดละ 2 หลัง 3 หลัง หลาย 10 จุด 

หนึ่งในนั้นคือครอบครัวปู่ที่อยู่กัน 8 คน ตายไป 4 คน เหลือ 4 คน ยามที่ปู่ออกไปรับจ้าง พ่ออยู่กับพี่สาว 3 คน ช่วงนั้นที่บ้านแทบไม่มีข้าวกิน จนบางครั้งพี่สาวพ่อต้องกินดินใต้ถุนบ้านแทนข้าว 

มีเพื่อนบ้านที่อื่นมาเยี่ยมครอบครัว อีกนัยหนึ่งคือมาดูว่าตายกันหมดยังเพราะเห็นว่าเงียบหมดแล้ว พร้อมนำข้าวใส่จานมาหนึ่งก้อน แต่พี่สาวไม่ยอมกิน พี่ๆบอกว่า “เก็บข้าวก้อนนี้ให้น้องเล็กเถิดเพราะเขาเล็กสุด” ส่วนพี่หากินพืชผักกินดินแทนข้าว ขณะที่ปู่บางครั้งก็หายไปหลายวันกว่าจะกลับมาเยี่ยม 

ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่สมาชิกขบวนการเสรีไทย 3 คนได้กระโดดร่มมาลงในทุ่งนาของชาวบ้านห้วยตองซึ่งห่างจากที่พ่ออยู่ไม่กี่กิโลเมตร เขาตั้งใจจะกระโดดลงแถวจอมทอง แต่พลาดมาลงที่ดอยพระธาตุ “กล้อมอโข่” ซึ่งเป็นป่า พอทหารญี่ปุ่นทราบได้มาตามหา แต่ชาวบ้านได้ช่วยกันพาสมาชิกเสรีไทยไปซ่อนตัวไว้ได้ทัน ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงท้ายๆ ที่ทหารญี่ปุ่นเรืองอำนาจ

ต่อมาพี่สาวคนโตของพ่อเสียชีวิต จนปู่แทบใจสลายหลังจากที่พี่สาวคนที่ 2 เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น ปู่เสียลูกติดๆกัน

แม้ทหารญี่ปุ่นกลับประเทศและสงครามสร่างซาไปแล้ว แต่ยังเหลือร่องรอยของสงครามที่มนุษย์สร้างไว้มากมาย โดยเฉพาะอาวุธที่ใช้ห้ำหั่นกันเพื่อแย่งชิงต่างๆ สร้างความหดหู่เศร้าหมองทิ้งไว้ให้ชื่นชม

พอพี่สาวคนสุดท้ายที่รอดชีวิตคอยดูแลพ่อต้องจากไปอีก ปู่หัวใจสลายฝังลูกสาวคนโตเสร็จ ยกพ่อขึ้นขี่คอเดินตระเวนขอข้าวกินตามบ้านเรือนต่างๆ พอชาวบ้านเห็นว่ามีเด็กมาด้วยก็แบ่งอาหารให้กิน 

ตอนนี้ใช่ว่าชาวบ้านจะมีข้าวกินกันทุกบ้าน ทุกหนแห่งต่างแร้นแค้นเหมือนกันหมด ชาวบ้านต้องเอาข้าวสาลีมาหุงกับข้าวบ้าง เอาหน่อไม้มาหุงผสมกับข้าวบ้าง แกง “ต่าพอพ๊อ” บ้าง ชาวบ้านเห็นว่าปู่เสียสติไปแล้ว หลังคนรักต้องจากไปติดๆต่อกันถึง 6 คน ชาวบ้านต่างก็เข้าใจและเห็นอกเห็นใจเอ็นดูปู่ ทุกครอบครัวต่างก็สูญเสีย แต่สิ่งสำคัญสุด ณ เวลานั้นคือความเห็นอกเห็นใจ และน้ำใจการมอบกำลังใจ 

ทีนี้พ่อได้อะไรจากการขี่หลังปู่ไปขอข้าวกินกับการตระเวนทั่วดอย พ่อได้พบปะผู้คนที่หลากหลายและได้ฟังผู้คนที่สนทนากัน พ่อจดจำเรื่องราวต่างๆและประติดประต่อประวัติผู้คนได้ค่อนข้างเยอะและชัด ไม่ว่าเป็นเหตุการณ์บ้านเมือง หรือเรื่องราวของคนท้องถิ่นต่างๆ 

จากที่พ่อได้ไปพบเห็นน้ำใจของเพื่อนบ้านที่คอยแบ่งปันข้าวให้พ่อกิน บางบ้านแม้มีข้าวไม่เพียงพอ แต่เมื่อเห็นพ่อมาเยือนในฐานะที่เป็นแขก เขาก็ยอมหุงหาอาหารให้กินในยามที่หิว ทำให้พ่อไม่เคยลืมเรื่องราวเหล่านี้ และเลือกเป็นแนวทางยึดหลักการนี้ของชีวิตต่อมา ที่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้มีอาหารกิน 

ในยุคที่มีพ่อค้าจากข้างนอกขึ้นมาซื้อฝิ่น ราว พ. ศ. 2516 -2519 พวกเขาเข้ามาในหมู่บ้าน ตั้งร้านค้าและขูดรีดชาวบ้าน ค้ากำไรอย่างโหดร้าย อย่างชาวบ้านยืมข้าวเปลือก 1 ถัง ถ้าเกิน 6 เดือนจะต้องใช้คืน 3 ถัง แต่พ่อไปรู้จักอีกหมู่บ้านหนึ่งของชุมปกาเกอะญอ ที่มีน้ำใจ หากใครยืมข้าว 1 กระบุง พอสิ้นปีจะให้ผู้ยืมนำข้าวมาคืนเท่าตัวคือแค่ 1 กระบุงเท่าเดิมเท่านั้น ไม่ต้องมีการบวกดอกเพิ่ม

ก่อนหน้านั้นเมื่อ พ.ศ. 2506 มีกลุ่มมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกตอนนั้นน่าจะเป็นยุคของการสัมปทานไม้สักหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นจังหวะที่ปู่ได้ตัดสินใจเข้านับถือศาสนาคริสต์ เพื่อให้พ่อได้ไปเรียนต่อที่ศูนย์โรงเรียนบ้านแม่ปอน อ. จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่บาทหลวงคณะเบธารามจากชาวฝรั่งเศสได้ตั้งขึ้น เพื่อให้คนบนดอยได้ศึกษากะเหรี่ยง “ลิ โร เหม่(ภาษากะเหรี่ยงที่ดัดแปลงจากตัวหนังสือโรมันคาทอลิก)” ภาษาไทยและคําสอนของศาสนาคริสต์ 

ช่วงนั้นพ่อได้ไปเรียนอยู่ 2 ปีระหว่างอายุ 17-18 ปี ดีอย่างหนึ่งคือ ทางโรงเรียนแม่ปอนได้เปิดเทอมช่วงที่ว่างจากการทำนาและทำไร่ พ่อจึงได้มีโอกาสไปเรียน แต่พ่อได้เรียนแค่ 2ปีก็ไม่ไปเรียนต่อ เพื่อช่วยงานทางบ้านและกลับมารับจ้าง งานรับจ้างที่ได้เงินช่วงนั้นคือ ขุดไร่ฝิ่นให้พ่อค้าฝิ่น ทำช่วงฤดูเตรียมปลูก 1 ปี ทำสุดแรง ได้เงิน 500 บาท และตอนนี้เองที่พ่อได้เจอแม่และเกิดชอบแม่อย่างแรงจึงตัดสินใจขอแม่แต่งงาน ตอนพ่ออายุ 20 ปี

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เมื่อมีมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสคณะเบธาราม เข้ามามีบทบาทต่อปัญหาชองชาวบ้านที่เผชิญในตอนนั้นช่วงเข้าในมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์คาทอลิกกับชาวกะเหรี่ยง พวกเขาช่วยให้หมู่บ้านมีเงินตั้งเป็นกองทุนขึ้น โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น จึงทำให้ชุมชน บ้านห้วยตองได้เงิน มา 6,000 บาทในการจัดตั้งเป็นกองทุนธนาคารข้าว ถือได้ว่าเป็นการทำงานชุมชนในช่วงแรกๆของพ่อที่ได้เข้ามามีบทบาทต่อจุดเปลี่ยนของการฟื้นชีวิตของชุมชนวังคมของชาวกะเหรี่ยงในช่วงนั้น

พ.ศ.2512-2513 ได้มีการขยายกำไรของกองทุนที่บ้านห้วยตองแบ่งปันมายังบ้านหนองเต่า 100 ถัง พอช่วงปี2514 กลายเป็นกองทุนข้าวที่ตั้งขึ้นแข่งขันกับพ่อค้าโดยไม่คาดคิดของพ่อ  คือให้ชาวบ้านยืมข้าวเปลือก 10 ถัง พอสิ้นปีมาใช้คืน 12 ถัง กำไรที่เกิดขึ้นต้องนำข้าวไปแบ่งให้กับชุมชนอื่นๆ ตั้งเป็นกองทุนธนาคารข้าวต่อไป เช่น บ้านป่ากล้วย พอได้กำไรก็นำกำไรแบ่งให้กับชุมชนอื่นๆต่อไปอีก เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนธนาคารข้าวของหมู่บ้านอื่นๆ

ช่วงพ.ศ 2515-2516 ได้มีพระธรรมจาริกและกรมประชาสงเคราะห์เข้ามาตั้งสำนักงาน และได้ช่วยสมทบกองทุนข้าวอีก พอถึง 2517 ได้มีเงินผันจากรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ที่ต้องการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านที่บ้านหนองเต่านำเอาเงินที่ ได้จาก การรับจ้างวันละ 30 บาทโดยทำ 2 วัน นำมาเป็นกองกลางซื้อข้าวข้าว 1 วัน สมทบให้ธนาคารข้าวเพิ่มเติบใหญ่ขึ้น

แต่จากการที่ได้มีการจัดตั้งธนาคารข้าวนี้ได้ส่งผลกระทบถึงรายได้ของพ่อค้าคนนอก อย่างที่กล่าวมาซึ่งพ่อค้าที่เข้ามาประกอบร้านค้า(คนจีน)ในชุมชน ในขณะเดียวกันสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเองในชุมชนโดยชาวบ้านบางคนถือตัวเองเป็นพ่อค้าและได้ตั้งตัวขูดรีดชาวบ้านด้วย คนกลุ่นนี้ก็ไม่พอใจพ่อเช่นกัน 

พ่อค้าให้ชาวบ้านยืม 1 ถัง ต้องใช้คืน 3 ถัง  ขณะที่ชาวบ้านที่มีอันจะกิน ให้ชาวบ้านยืมข้าวเปลือก 1ถัง ต้องใช้คืน 2ถัง ถูกว่าพ่อค้าจีน 1ถัง ส่วนธนาคารข้าวที่ให้ชาวบ้านยืม 10 ถัง หลังเก็บเกี่ยวให้ใช้คืน 12 ถัง พวกเขาจึงรู้สึกไม่พอใจมากและเกิดการทะเลาะกันอย่างรุนแรง ถึงขนาดต้องไปโรงพักและขึ้นโรงขึ้นศาล เมื่อชาวบ้านต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทางการมากขึ้น จึงให้พ่อเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเป็นผู้ใหญ่บ้านในเวลาต่อมา เพราะจากที่พ่อได้มีพื้นฐานได้เรียนหนังสือไทยมาบ้างนั้น พ่อจะถูกผู้เฒ่าผู้แก่เรียกใช้ให้ช่วยดูเอกสารภาษาไทยบ่อยๆ ยามที่มีหนังสือจากทางการมายังชุมชน ประมาณว่าผู้เฒ่าแต่ละชุมชนจะนัดเจอกันมาดูเอกสารจากต่างดาวว่าเขาส่งข้อความอะไรมาประมาณนั้น

 ถือเป็นอีกประสบการณ์ที่พ่อได้สัมผัสถึงความลำบากของชาวบ้านในยุคนั้น จึงทำให้พ่อเห็นถึงความสำคัญที่จำเป็นที่ต้องศึกษาบริบทเรื่องราววิถีหลักคิดชีวิตผู้คนอื่นๆบนโลกใบนี้  ที่กว้างขึ้นและกว้างกว่าที่ชาวบ้านเรารู้จักตอนนี้อีก ซึ่งทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าที่แม่บ่นพ่อว่า พ่อทิ้งให้แม่ต้องอยู่บ้านตามลำพังเพื่อดูแลเลี้ยงลูกตามลำพังเป็นเดือน พ่อเลือกเที่ยวท่องโลกทำไม 

ผมเคยถามพ่อว่าทำไมพ่อทำอย่างนี้ พ่อตอบว่า “อยากไปเห็นไปรู้จักผู้คนบนโลกใบนี้ว่าเขาเป็นใคร เจอปัญหาและแก้ไขกันอย่างไรกันแน่” ผมถามอีกว่าพ่อไปเห็นแล้วได้อะไร พ่อหัวเราะและตอบว่า “พอได้ไปเห็น ได้รู้ว่าเขาไม่วิเศษวิโสกว่าเราแต่อย่างใด แต่ละที่ที่เข้าใจว่ามีแต่คนดีๆ ก็มีคนไม่ดี บางที่คิดว่ามีแต่คนไม่ดีเอาเปรียบคนอื่น แต่ก็มีคนดีมีน้ำใจช่วยคนอื่น”

 “ทำให้พ่อชัดขึ้นในตนเองที่เข้าใจโลกที่พ่อไปรู้จักมานั้น ส่งผลให้เรากลับมาเข้าใจสถานการณ์สถานะของชาวบ้านชุมชนเราของเราที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และเห็นตัวเราเองชัดขึ้นที่เกิดมาเป็นปกาเกอะญอใช่ไหม เพราะมันช่วยให้เราชัดเจนขึ้นในการเลือกทางเดิน”พ่อตอบ

 “ประมาณนั้นแหละ ไม่มีอะไรหรอก มันต่างกันตรงก่อนไปไม่รู้กับเมื่อไปแล้วรู้ แต่สุดท้ายอยู่ไหนก็ตาย”พ่อหัวเราะ

ยุคนั้นชาวบ้านมีข้าวกินและสามารถทลายระบบขูดรีดกำไรจากพ่อค้าได้ไปยกหนึ่ง ต่อมาเหล่าชาวบ้านที่ไม่พอใจขอแยกแบ่งข้าวเพื่อไปตั้งธนาคารข้าวให้กับตระกูลของตัวเองโดยขอไปตระกูลละ100 ถัง 2 ตระกูล เอาไป 200 ถัง อ้างว่าจะแยกไปจัดตั้งเอง มันไม่จบแค่คนมีฐานะขอแยกแบ่งกองทุนข้าวไป กลุ่มคนที่ไม่มีข้าวไม่พอกินบางครอบครัว ที่ยืมข้าวไปแล้วชักดาบไม่ยอมคืน แต่พ่อพยายามประคับประคองหลักการที่ว่าต้องให้คนมีข้าวกินได้อย่างทุลักทุเลมาได้ แม้จะล้มลุกคลุกคลานหลายครั้ง

—————————

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →