
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาเปิดเผยว่า ได้พบหลักฐานสำคัญเป็นขวานหินขนาดใหญ่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุหลายพันปี จำนวน 3 ชิ้น ซึ่งแสดงถึงการมีอยู่ของผู้คนและชุมชนใจแผ่นดินมานับพันปี จนถึงยุคปัจจุบันที่เป็นบ้านเกิดของปู่คออี้ มีมิ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาทำลายบ้านเรือนและเครื่องใช้ในปี 2554 จนศาลปกครองสูงสุดตัดสินในปี 2561 ว่าเจ้าหน้าที่กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ปู่คออี้กับชาวบ้าน
นายระวี บุญเลิศ ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยแห้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ผู้พบขวานหินทั้งชิ้น กล่าวว่า ตนพบขวานวางอยู่บนก้อนหินในถ้ำ บริเวณบ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวกะเหรี่ยงอยู่มาเนิ่นนาน โดยเดินเท้าจากบ้านพุระกำ ขึ้นภูเขาไปหนึ่งวันเต็ม ซึ่งเป็นเส้นทางเดินติดต่อกันของชาวกะเหรี่ยง

ด้านนางสาววลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักโบราณคดีจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์กล่าวว่า ขวานหินที่พบเป็นขวานแบบขวานผึ่ง มีร่องรอยการใช้งาน ขวานผึ่งคือขวานขนาดใหญ่ มีการตัดขอบเป็นสันที่ปลาย เพราะจะใช้สันเจาะดินหรือหิน เพื่อทุบหรือขุดด้านขวาง เป็นขวานสำหรับใช้ในงานหนักมากกว่าขวานหินขัดหรือขวานฟ้าเล็กๆที่ปรากฏตามชุมชนทั่วไป พบในเขตเทือกเขาในทางตะวันตกถึงภาคใต้
นางสาววลัยลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านใจแผ่นดินเป็นหมู่บ้านในเส้นทางข้ามสมุทรแต่โบราณ เป็นเส้นทางติดต่อค้าขายจากฝั่งอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ข้ามมาสู่อ่าวไทย มหาสมุทรแปซิฟิค โดยสินค้าและผู้คนจากตะวันตกมาขึ้นบกที่มะริด แล้วเดินข้ามเขามาทางบ้านใจแผ่นดิน และล่องแม่น้ำเพชรบุรีเข้าสู่เพชรบุรี จากนั้นก็เข้าสู่สุวรรณภูมิหรืออยุธยาต่อไป