
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนารี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง มีการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก “ที่ดินคือชีวิต ทะเลคือหัวใจ ป่าคือบ้าน” เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ภาคใต้ ประจำปี 2563 โดยมีชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ ชาวมันนิ ชาวเลมอแกน ชาวเลมอแกลน ชาวเลอุรักราโว้ย และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในงานครั้งนี้

สำหรับบรรยากาศของงานในช่วงเช้า ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ได้จัดซุ้มแสดงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ต่างๆ มีการแสดงทางวัฒนธรรม จัดนิทรรศการให้ความรู้ และออกร้านนำผลิตภัณท์ชุมชนมาจำหน่าย
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายมีการจัดเวที “ทางเลือกทางรอดกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้” โดยวงเสวนาที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ได้นำเสนอปัญหาของแต่ละกลุ่ม และมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นางเนาวนิตย์ แจ่มพิศ ผู้ประสานงานชาวเลมอแกน เกาะเหลา จ.ระนอง กล่าวว่า สถานการณ์ชาวเลบนเกาะเหลามีความเป็นอยู่แย่มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชน เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เด็กๆ ไม่ได้รับการศึกษา ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัยกำลังถูกนายทุนที่อ้างสิทธิที่ดินของชุมชนขับไล่อย่างหนัก จนชาวบ้านไม่กล้านอนในบ้าน บางคนต้องหนีไปนอนบนเรือ เพราะกลัวถูกแจ้งจับข้อหาบุกรุกที่ดิน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ที่ลุงสิดิษ ผู้นำชุมชนเสียชีวิต นายทุนไม่ยอมให้ฝังศพลุงสิดิษบนเกาะ มีการข่มขู่ชาวบ้าน ปิดบ่อน้ำบาดาลไม่ให้ชาวบ้านใช้ ต้องไปซื้อน้ำจากบนฝั่งมากิน และมีความพยายามแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นความทุกข์ที่ชาวบ้านอย่างมาก

“นายทุนร่วมมือกับราชการและตำรวจบางคน พยายามหลอกให้ชาวบ้านไปเซ็นหรือพิมพ์ลายนิ้วมือยืนยันว่าเป็นที่ดินของนายทุน จนชาวบ้านกลัวไม่กล้าเจอตำรวจ ไม่กล้านอนบนบ้านกลัวถูกจับ จากบ้าน 43 หลัง ตอนนี้เหลือ 10 หลัง ต้องหนีหรือคอยหลบเจ้าหน้าที่” นางเนาวนิตย์ กล่าว
นางจิตติ ประมงกิจ ชาวเลชุมชนบ้านสะปำ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า กลังจากเหตุการณ์สึนามิทำให้ชุมชนต้องประสบปัญหากรมเจ้าท่า ที่เข้ามาอ้างสิทธิว่าชุมชนอยู่ในพื้นที่ของกรมเจ้าท่า โดยในปี 2561 มีการออกเอกสารให้ชาวบ้านเสียค่าเช่าที่ดิน ทั้งที่ชุมชนอยู่กันมาดั่งเดินตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถขยายที่อยู่อาศัย ต้องอยู่อย่างแออัด บางบ้านอยู่กัน 2-3 ครอบครัว
ตัวแทนชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า ปัจจุบันชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กำลังเดือดร้อนด้านที่ดินจากปัญหาถูกเอกชนออกสารสิทธิ์โดยมิชอบทับที่ชุมชน โดยมีการอ้างสิทธิ์ที่ดินไปออกเป็น นส.3 จากจำนวน 9 ไร่ กลายเป็น 23 ไร่ จนมีการฟ้องร้องชาวบ้าน ที่ล่าสุดศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้อง แต่ผลของการถูกนายทุนรุกไล่ ผู้ประกอบการมีการรุกล้ำชายหาด ถูกปิดกั้นเส้นทางสาธารณะของชาวบ้าน และยึดที่ฝังศพของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวงและลำบาก เพราะชาวบ้านสู้กับนายทุนเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่ได้สู้เพื่อเอาที่ดินไปขาย แต่นายทุนใช้เงินสู้กับชาวบ้าน
ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวมันนิบางส่วนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับสังคมภายนอกมากขึ้น ไม่ใช่ล่าสัตว์หากินอยู่แต่ในป่าเหมือนก่อน ต้องอาศัยการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยหรือถูกสัตว์มีพิษกัด ทำให้เริ่มต้องการที่อยู่อาศัยที่มั่งคงให้กับชาวมันนิที่มีอยู่ประมาณ 375 คน แต่ติดปัญหาเป็นพื้นที่ป่าไม้ หากรัฐให้ที่ดินชาวมันนิก็เกรงชาวบ้านจะไม่เข้าใจเกิดความขัดแย้งได้ และยังไม่กล้าพัฒนาทำสวนครัวหรือเลี้ยงไก่ เพราะกลัวเป็นการรุกล้ำที่ป่าไม้

พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ะื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล กล่าวว่า มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ชาวมันนิกับชาวเลเป็นเจ้าของที่ดินเดิมมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ถ้าไม่มีกลุ่มคนชาติพันธุ์เหล่านี้ก็ไม่อาจมีการยืนยันในการปักปันอาณาเขตของประเทศไทยในภาคใต้ และจะไม่มีพื้นที่ป่าหลงเหลืออยู่อย่างในปัจจุบัน ดังนั้นสมควรอย่างยิ่งที่รัฐต้องดูแลคนเหล่านี้
นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ กล่าวว่า ชาวมันนิปัจจุบันแบ่งตามวิถีชีวิตได้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ยังอาศัยอยู่กลางป่าสมบูรณ์ 2.กลุ่มที่อยู่พื้นที่ชายป่า 3.กลุ่มที่มีที่อยู่อาศัยถาวร การแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่มต้องให้สิทธิในการดำเนินชีวิตหรือทำมาหากินแบบดั้งเดิม ไม่ได้มีเพียงปัญหาที่ดิน แต่หมายถึงการดูแลด้านคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะการให้บัตรประชาชน เพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงอยากเสนอให้มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยชาวมันนิ
นายบำรุงรัตน์ พลอยดำ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ป่ามีชาวมันนิอาศัยอยู่กว่า 300 คน ถือเป็นคนไทยเหมือนกัน มีบัตรประชาชน มีสิทธิในที่ดิน ตอนนี้กำลังเร่งรังวัดที่ดินของกลุ่มที่มีที่อยู่อศัยถาวร มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เพื่อเตรียมเสนอให้กันที่ดิน ส่วนกลุ่มที่ไม่มีที่อยู่ถาวรก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ขอยืนยันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดไม่เคยจับกุมดำเนินคดีกับชาวมันนิในพื้นที่
นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร กล่าวว่า เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ที่มีมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และมติ ครม. 2 มิถุนายน เรื่องแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล แต่ปัญหาหลายเรื่องยังไม่ถูกแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาที่ดิน แม้มติ ครม.จะไม่มีผลเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อยทำให้เกิดประโยชนใน 3 เรื่อง คือ 1.เกิดการรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออกในการเรียกร้องสิทธิ 2.หน่วยงานรัฐเริ่มเปิดใจต่อการแก้ปัญหามากขึ้น มีความพยายามตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เกิดกลไกการรับฟังปัญหา และกระบวนการชะละปัญหา 3.รูปธรรมที่เห็นชัด คือ นโยบายรัฐเริ่มเปิด จนมีความผลักดันให้นำไปสุ่การยกระดับไปสู่กฏหมาย เพื่อเป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม เพราะทุกชาติพันธุ์เป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นต้องทำให้ มติ ครม. ยกระดับไปสู่กฏหมาย โดยร่วมกันผลักดันร่าง พรบ.ส่งเสริมอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้สำเร็จ
——————————