
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนารี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง มีการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก “ที่ดินคือชีวิต ทะเลคือหัวใจ ป่าคือบ้าน” เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ภาคใต้ ประจำปี 2563 โดยมีชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ ชาวมันนิ ชาวเลมอแกน ชาวเลมอแกลน ชาวเลอุรักราโว้ย และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในงานครั้งนี้
สำหรับวันนี้ถือวันสองของการจัดงาน ในช่วงเช้ามีการแสดงเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ จากนั้นมีการจัดวงเสวนาสาธารณะเพื่อความเข้าใจอันดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ “ผู้ร่วมสร้างสยาม” โดย นายแพทย์บัญชา พงศ์พาณิชย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า มีหลักฐานทางประวัติศาตร์มากมายที่มีการบันทึกการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในบันทึกของจีน อินเดีย กรีก โรมัน นานกว่า 1 พันปี นอกจากนี้มีการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณที่เกาะชวา ในอินโดนีเซีย ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และที่เกาะคา จ.ลำปาง มีอายุมากกว่า 1 แสนปี สรุปได้ว่าในอดีตดินแดนแถบนี้ ถูกเรียกว่าสุวรรณภูมิมีมนุษย์อาศัยอยู่ก่อนเป็นสยามหรือประเทศไทย โดยการศึกษาประวัติศาตร์พบว่า มีการบันทึกว่าดินแดนนี้เป็นแผ่นดินสำคัญที่มีคนอาศัยอยู่ก่อน เป็นกลุ่มคนแถบทะเลจะชำนาญการหากินในทะเล และในป่าเป็นกลุ่มคนที่ชำนาญหาของในป่าลึก นอกจากนี้เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแหล่งของดีของหายากที่ทั่วโลกปราถนาดั่งชื่อสุวรรณภูมิ

ส่วน พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง อนุกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเล-กะเหรี่ยง กล่าวว่า ประวัติศาตร์ชาติไทยถ้าไม่มีชนเผ่าต่างๆ จะไม่เป็นประเทศไทยอย่างในวันนี้ ตั้งแต่ยุคสงคราม 9 ทัพ ต้องอาศัยคนกะเหรี่ยงนำทัพผ่านป่าลึกไปรบกับพม่า กระทั่งในยุคล่าอาณานิคมหากไม่มีกะเหรี่ยงบนภูเขาหรือชาวเลในอันดามัน เป็นผู้ยืนยันว่าเป็นดินแดนสยามเพื่อปักปันดินแดนเขตประเทศไทย คงต้องตกเป็นดินแดนของพม่า กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นส่้วนประกอบสำคัญในการสร้างประเทศสยามในอดีต แต่ในปัจจุบันหน่วยงานราชการกลับละเลยการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้ และเพิ่งกลับมาเริ่มให้การดูแลในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิ
“การแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยให้กับทั้งชาวเล ชาวกะเหรี่ยง หรือชาติพันธุ์ต่างๆ ก็เพื่อให้สิทธิดั่งเดิมคืนแก่คนเหล่านี้ ไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กฏหมายในปัจจุบัน คือการให้สิทธิที่ดินตามหลักการครอบครองทำประโยชน์ คนกะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียน 7 ปี ชาวเลหาปลาอาศัยอยู่บนเกาะหมุนเวียน เป็นการดำรงชีวิตใช้ที่ดินอย่างต่อเนื่อง เป็นความจริงที่ควรแก้ปัญหาด้วยความเป็นธรรม” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ประกอบไปด้วย มอแกน มอแกลน อุรักราโว้ย และมันนิ ในนามเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(ภาคใต้) ได้ออกแถลงการณ์ต่อรัฐบาล มีเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องมีนโยบายคุ้มครอง ส่งเสริม และแก้ปัญหาที่กระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ที่ระบุว่ารัฐพึงส่งเสริมให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจอย่างสงบ ไม่ถูกรบกวน

2.รัฐบาลต้องดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ให้เกิดรูปธรรมและเกิดแนวททางปฏิบัติได้ รวมทั้งผลักดันให้เกิดพื้นที่รูปธรรมเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่
3.รัฐเร่งดำเนินการตมยุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปประเทศ ดำเนินการให้มี พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ภายในปี 2565
4.รัฐต้องเร่งรัดการแก้ปัญหาที่ส่งปลกระทบต่อวิถึชีวิต วัฒนธรรม ทั้งปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ที่ทำกินทางทะเล ให้สามารถอาศัยในพื้นที่ร่วมกับการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เช่น การออกกฏหมาย กฏกระทรวง ระเบียบ ที่จะออกตาม พรบ.อุทยาน พ.ศ.2562 และกฏกระทรวง พรบ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ต้องคำนึงถึงชนเผ่าพื้นเมืองด้วย
———————————————