สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

เที่ยว”เมืองทวาย” หอมกลิ่นวัฒนธรรมพื้นถิ่น

dawei

ผู้คนในทวายไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนพม่า แต่เป็นคนทวาย มีภาษาถิ่น มีรากเหง้า มีวัฒนธรรม มีความเป็นมาของตัวเอง

 

ผมได้เห็นความแตกต่างเช่นนั้นจริงๆ หลังจากท่องเมืองทวายอยู่ 3 วัน

 

รัฐตะนาวศรีประกอบด้วย 3 เมือง ได้แก่ ทวาย มะริด และเกาะสอง มีทวายเป็นเมืองเอก เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของพม่า เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งก๊าซ แร่ธาตุ อัญมณี ทรัพยากรทางทะเล แหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม

 

 

หลังจากรัฐบาลเปิดประเทศมาระยะหนึ่ง สภาพเมืองทวายเปลี่ยนไปมาก รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถสกายแล็บเข้ามาแทนที่รถจักรยาน เกวียน และรถม้า ทุกวันนี้เหลือรถม้าวิ่งบริการอยู่ราว 10 คัน และคงสูญหายในไม่ช้า

 

บ้านทรงท้องถิ่นอายุ 80-100 ปี หลายหลังริมถนนใหญ่ถูกทิ้งร้าง บ้างรื้อทิ้งเปลี่ยนเป็นอาคารพาณิชย์ แต่ตามตรอกซอยยังมีให้เห็นมากมาย อาคารสไตล์โคโลเนียล (ยุคอาณานิคมอังกฤษ) ยังมีให้เห็นหลายหลัง ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่ทำการรัฐ และโรงแรม

 

เรื่องอาหารการกินของที่นี่ ไม่เน้นรสจัด ประเภทแกง และยำ มักมีรสชาติและกลิ่นของกะปิ หอมแดง และมะกรูดนำ หลายอย่างมีหน้าตาและรสชาติใกล้เคียงบ้านเรา ทั้งก๋วยเตี๋ยว ข้าวซอย ขนมจีบ ซาลาเปา ปาท่องโก๋ พวกเรากินมื้อไหนมักจะขอพริกสด พริกคั่วมาเสริมเสมอ

 

ของว่างคนทวายคือ “หมาก” ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ เปรี้ยวปากเมื่อไหร่เป็นต้องควักมาเคี้ยวตุ้ยๆ

 

วันนี้ หนุ่มสาวยังแต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก สวมเสื้อผ้าฝ้ายสีอ่อน นุ่งโสร่ง-ผ้าถุง น้อยนักจะนุ่งยีนส์ ยิ่งกางเกงขาสั้นแทบไม่มีให้เห็น

 

แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ คือ “ชายหาดมองมะกัน” หาดทรายขาวสะอาดทอดยาวหลายกิโล คลื่นลูกใหญ่ม้วนเกลียวซัดฝั่ง เม็ดน้ำใสแจ๋วกระเซ็นใส่ น่าแปลกใจตรงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อน

 

จากชายหาด มองเห็น 2 เกาะใหญ่อยู่ไกลลิบ ผู้รู้ในทวายเล่าให้ฟังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย และนายพลเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่าซื้อ (เช่าระยะยาว) ไว้แล้วคนละเกาะ เท็จจริงอย่างไรอีกไม่นานคงรู้

 

แต่พวกเรากลับชอบถนนต้นตาลมากกว่าหาดมองมะกัน ที่นี่เป็นแหล่งพักผ่อนของคนในตัวเมืองหลังเลิกงาน ส่วนหนึ่งจะแวะมานั่งดื่มน้ำตาลเมา หรือ Sky beer ตามเพิงรายทาง

 

นั่งกรึ่มเบาๆ เคล้าสายลมพัดใบตาลโบกไหวหวิว ทิวตาลทอดขนานไปตามถนนสายยาว ดูแปลกตาแต่สุขใจ

 

วันสุดท้าย เราเดินย้อนเวลาสู่อาณาจักรทวายโบราณ ยุคก่อตั้งรัฐที่เมือง “ทาการา” (Thagara) ราว พ.ศ.750 ตั้งอยู่ปลายเทือกเขาตะนาวศรี ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันไปราว 7 กิโลเมตร มีองค์ประกอบความเป็นรัฐโบราณครบทุกประการ อาทิ เจดีย์ใหญ่กลางเมือง เนินปราสาท คูเมือง กำแพงเมือง 3 ชั้น สุสานโบราณ ซากท่าเรือริมลำน้ำโบราณที่ไหลผ่านเมืองลงสู่แม่น้ำทวาย

 

จากการศึกษาค้นคว้าเมืองทาการาในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการทวายพบสถาปัตยกรรม โกศบรรจุอัฐิ ลูกปัด ตราประทับ ฯลฯ คล้ายคลึงและร่วมสมัยกับวัตถุโบราณที่ขุดพบในนครรัฐของ “ชาวพยู” (Pyu) อาณาจักรโบราณทางตอนบน

 

ข้อมูลหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ว่าประวัติศาสตร์ตะนาวศรี และรัฐทวาย ปรากฏตัวและมีฐานะเป็นรัฐอิสระก่อนการเกิดอาณาจักรพุกาม เมาะตะมะ อังวะ สุโขทัย และอยุธยา

 

เมืองโบราณปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่บ้าน Myo Haung (แปลว่า Old City) และยังเป็นที่ตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทวาย ที่นี่เก็บรักษารูปปูนปั้นเทพฮินดู พระพุทธรูป ตราประทับอักษรโบราณภาษาสันสฤต รับอิทธิพลมาจากอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช อักษรบางตัวกลายเป็นต้นกำเนิดอักษรพม่าในปัจจุบัน นักวิชาการสันนิษฐานว่า อักษรดังกล่าวเป็นชื่อย่อของกษัตริย์ หรือผู้ทำบุญถวายสลักไว้เพื่อเสริมดวงชะตา

 

จากสำนักงานไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งเนินปราสาทขนาดเล็ก มีบ้านเรือนล้อมอยู่รายรอบ

 

คณะจากไทยตั้งคำถามว่า ทำไมไม่เห็นการขุดค้นขุดแต่งบริเวณเนินปราสาท หรือสุสานโบราณนอกกำแพงเมือง ทั้งๆ ที่เป็นบริเวณสำคัญยิ่งในการค้นหาหลักฐาน

 

“ซอว์ ทูรา” (Zaw Thura) อาจารย์จิตวิทยาประวัติศาสตร์ นักวิชาการท้องถิ่นแห่งมหาวิทยาลัยทวาย มานำชมเมืองโบราณ ตอบข้อสงสัยว่า พ.ศ.2554 ทีมนักวิชาการทวายขอเงินรัฐบาลกลางมาปรับแต่งเนินจนเห็นฐานรากพระราชวังเก่าอายุพันปี แต่รัฐบาลกลางยังไม่มีนโยบายให้ขุดค้นในบริเวณต่างๆ จึงเรียนรู้เฉพาะสิ่งของที่อยู่บนดิน และโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดพบโดยบังเอิญ

 

“บางครั้งเป็นข้าราชการก็ยากจะทำอะไรขัดนโยบายรัฐบาลกลาง เขาคงไม่อยากให้เราเจอประวัติศาสตร์ ไม่อยากให้ปลุกชาตินิยมทวายขึ้นมา เชื่อมั้ย 10 ปีที่แล้วยังพูดถึงประวัติศาสตร์รัฐทวายไม่ได้เลย” อาจารย์ทูราระบาย

 

เราถามเขาว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทวายจะรองรับการเข้าสู่โหมดพัฒนาอย่างไร

 

อินเดียน่าโจนส์แห่งทวายตอบคมทีเดียวว่า

 

“คุณไม่อยากรู้หรือว่า บรรพบุรุษมาจากไหน คุณเป็นมาอย่างไร เราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ซึ่งมันสำคัญต่อการพัฒนาทวายอย่างมาก พัฒนาทวายก็ต้องพัฒนา แต่ประวัติศาสตร์ของเราก็ต้องรักษาไว้ด้วย เราต้องนั่งล้อมวงคุยกันว่าจะรักษามันไว้อย่างไร”

 

เสียดายจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์ชาวทวายยังคงซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนดิน ความจริงและความรู้มากมายเกี่ยวกับรากเหง้าของชาวทวาย ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผย

 

ชาวทวายวันนี้จึงยังไม่สามารถเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบันเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของตนเองได้อย่างที่หวัง

 

===================================================

 

อาณาจักรชาวพยู

 

ชาวพยู Pyu (ปยุ,เพียว) คือกลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยในดินแดนพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และสถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่พินนาคา (Binnaka) มองกะโม้ (Mongamo) ศรีเกษตร (Sri Ksetra) เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และหะลินยี (Halingyi) ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนพม่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่ามีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวพยู 18 เมือง

 

นครรัฐของชาวพยูไม่เคยรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่นครรัฐขนาดใหญ่มักมีอิทธิพลเหนือนครรัฐขนาดเล็ก ซึ่งแสดงออกโดยการส่งเครื่องบรรณาการให้ นครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ ศรีเกษตร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นเมื่อใด แต่พงศาวดารระบุว่า มีการเปลี่ยนราชวงศ์ใน พ.ศ.637 แสดงว่าอาณาจักรนี้ต้องได้รับการสถาปนาก่อนหน้านั้น

 

ใน พ.ศ.1199 ผู้คนอพยพจากที่นี่ขึ้นไปสถาปนาเมืองหลวงใหม่ทางตอนเหนือ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าคือเมืองใด บ้างว่าคือเมืองหะลินคยี อย่างไรก็ตาม เมืองดังกล่าวถูกรุกรานจากอาณาจักรน่านเจ้าในราว พ.ศ.1200 จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงชาวพยูอีก

 

ชาวพยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนเผ่า

 

 

+++++++++++

 

 

ทวาย ลองจี

 

ผ้าซิ่น (Dawei longyi) นับเป็นสินค้าขึ้นชื่อของเมืองทวายว่ากันว่าสาวทวายมีเสน่ห์ เพราะพวกเธอนุ่งซิ่นที่ทอจากฝ้ายตามอย่างบรรพบุรุษ

 

ก่อนทอต้องทำความสะอาดด้ายแต่ละเส้น ซึ่งต่างก็มีสีสันเป็นเอกลักษณ์ ซิ่นแต่ละผืนมีการออกแบบลวดลายแสนดึงดูดใจ แต่ละลายจะทอเป็นซิ่น 5-8 ผืน ยาวผืนละ 2 หลา โดยใช้เวลา 5 วัน ยิ่งตอนที่เสียงกี่กระตุกดังเป็นจังหวะ ชาวทวายบอกว่าเสมือนบทเพลงพื้นเมืองที่ไม่อาจหาฟังได้ในเมืองใหญ่ทันสมัย

 

นอกจากมนต์เสน่ห์ในกระบวนการทอ ความสวยงามเมื่อได้สวมใส่ ชุดผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิมยังสวมใส่สบายเหมาะกับสภาพอากาศแบบเขตร้อนของพม่าอย่างยิ่ง

 

ว่าแต่บ้านเราก็เป็นพื้นที่เขตร้อน แต่ทำไมผ้าพื้นเมืองถึงไม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง

 

===========================================

โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
หน้า 13,มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2556

 

 

 

 

On Key

Related Posts

ชาวบ้านป่าหมากโวยถูกปักเขตป่าอนุรักษ์ทับชุมชน หวั่นเสียที่ทำกินยกหมู่บ้าน หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรีแจงสำรวจถูกต้อง เตรียมกันเขต-ออกหนังสืออนุญาตให้ชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 นายเยบุ จอเด๊ะโก อายุ 6Read More →

SAC ชี้ “พ.อ.ชิตตู”ตัวอันตราย สื่อพม่าอ้างทางการไทยจับมือทางการพม่ารวบรวมข้อมูลผู้นำ BGF “รศ.ดุลยภาค”เผยกลยุทธ์ทัพพม่าเลาะชายแดนไทยโอบล้อมตี KNU แนะรัฐบาลไทยคุมเข้มพื้นที่ชายแดนแม่สอด-อุ้มผาง-พบพระ

วันที่ 25 เมษายน 2567 สื่อออนไลน์พม่า Khit Thit MeRead More →

หญิงโรฮิงญาเหยื่อค้ามนุษย์ริมน้ำเมยแฉ แก๊งมาเฟียสุดเหี้ยม คุมขัง-ทรมาน-ฆ่าเพื่อเรียกค่าไถ่ มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์คุมเข้ม เผยนานาชาติตกเป็นเหยื่อ-ชาวยูกันดา 23 คนได้รับการช่วยเหลือหลังถูกหลอกเป็นสแกมเมอร์ หนุ่มสาวลาว 14 คนถูกส่งต่อจากคิงส์โรมันส์วอนช่วยด่วน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 น.ส.ไอชะห์(นามสมมุติ) อRead More →