
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ตัวแทนชาวบ้านกว่า 10 หมู่บ้านรอบผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทั้งจาก อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ อ.แก่งกระจานและอำเภอหนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้ทางทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส.เพื่อเรียกร้องในการจัดการที่ดินแบบแปลงรวมเพื่อทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิม โดยมีนายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัด ทส.เป็นตัวแทนรับหนังสือ

ทั้งนี้ในหนังสือระบุว่า พวกเราคือกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยและทำกินในผืนป่าแก่งกระจานมาหลายชั่วอายุคนตามวิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิมก่อนจะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติดำรงชีวิตด้วยวิถีการทำไร่หมุนเวียนแบบพึ่งพาอาศัยป่า ดูแล ป่าต้นน้ำเป็นอย่างดี ในการทำไร่หมุนเวียนนั้นจะเป็นการปลูกพืชผสมผสานหลากหลายเพื่อให้มีไว้ใช้กินตลอดทั้งปีตามวิถีแบบพอเพียงด้วยการพึ่งพาตนเอง พึ่งพาธรรมชาติและผสมกับการดูแลป่าควบคู่กันไป
ในหนังสือระบุว่า ที่ผ่านมาพวกเราได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยเฉพาะการไม่เข้าใจในภูมิปัญญาของการทำไร่หมุนเวียนแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นวิถีเกษตรที่พยายามรักษาความสมดุลระหว่างการดำเนินชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงและการรักษาความสมบูรณ์ของสภาพดิน ป่าไม้ เพื่อให้ดำรงอยู่ต่อไป

“แนวคิดและนโยบายของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ปฏิบัติต่อชุมชนดั้งเดิมในผืนป่าแก่ง มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและประชาชนที่อยู่ในผืนป่าแก่งกระจานอย่างมาก เช่น การอพยพ เผาบ้าน ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย – ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม ยังมีกรณีชาวบ้านที่เป็นชุมชนดั้งเดิมถูกจับกุมดำเนินคดีในพื้นที่ไร่หมุนเวียน เกิดเป็นคดี ความจนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา”ในหนังสือระบุ
ในหนังสือระบุด้วยว่า พวกตนได้ยื่นหนังสือต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการจัดการพื้นที่ทำกินแบบแปลงรวมเพื่อทำไร่หมุนเวียนโดยการมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานกับชุมชนกะเหรี่ยง แต่การยื่นข้อเสนอดังกล่าวยังไม่เกิดผลที่จะนำไปสู่การจัดการที่ดินแบบแปลงรวมของชุมชน เนื่องจากหัวหน้าอุทยาน
แห่งชาติแก่งกระจาน ปฏิเสธข้อเสนอในการจัดการที่ดินเพื่อทำไร่หมุนเวียนแบบแปลงรวมของชุมชน โดยอ้างว่าการให้สิทธิแก่ชุมชนกะเหรี่ยงจะต้องทำด้วยเงื่อนไขการให้เป็นรายแปลงรายบุคคล และจะต้องขอดำเนินการรังวัดให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน เท่านั้น มิฉะนั้นจะถือเป็นการสละสิทธิในที่ดิน
“พวกเราเห็นว่า กฎหมายมิได้มุ่งหมายให้ผู้ที่ไม่สามารถทำการแจ้งหรือรังวัดภายใน 240 วัน ถือเป็นผู้เสียสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีดั้งเดิม การอ้างว่ามีประกาศดังกล่าวจึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องพวกเราเห็นว่า การจัดสรรที่ดินให้กับชุมชนในผืนป่าแก่งกระจานด้วยการให้สิทธิเป็นรายบุคคลในแต่ละแปลงแยกจากกัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมลงของทรัพยากรป่าไม้และไม่สามารถดำรงวิถีทางวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้เนื่องจากประกาศของกรมอุทยานฯกำหนดให้ทำกินต่อเนื่องเต็มแปลงติดต่อกันทุกปี หากมีการเว้นการทำประโยชน์ในส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะทำให้เสียสิทธิในที่ดินทั้งหมด เมื่อกลับไปทำประโยชน์อีกครั้งจะถูกดำเนินคดีเป็นผู้บุกรุกป่า ซึ่งต่างกันกับการทำกินแบบวิถีไร่หมุนเวียนที่ใช้พื้นที่เพียงบางส่วนในการทำเกษตรกรรม เว้นพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ให้เป็นพื้นที่พักฟื้นเพื่อให้สภาพป่า พันธุ์ไม้ได้มีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ จึงทำให้สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้อย่างยั่งยืน”หนังสือระบุ

ในช่วงท้ายชาวบ้านได้เขียนข้อเรียกร้องไว้ว่า 1. ขอให้พิจารณาปรับปรุงแนวทางปฏิบัติของการใช้สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตามแนวทางที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของบทบัญญัติมาตรา 64 และ 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 โดยการออกระเบียบคำสั่งในการรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตามวิถีวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนในเขตพื้นที่ทำกินในอุทยานแห่งชาติ
2. ขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาในการสำรวจแนวเขตพื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าใช้สอย พื้นที่ป่าพิธีกรรมพื้นที่สาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นสาระสำคัญของวิถีวัฒนธรรมไร่หมุนเวียน จำนวนครัวเรือน และชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออกไปจนกว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจะทำการสำรวจจนได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนในทุกพื้นที่
3. ขอให้ ทส.ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติและตัวแทนชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ไร่หมุนเวียน เพื่อร่วมกันกำหนดรายละเอียดของการทำประโยชน์ในที่ดิน การใช้ประโยชน์และดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ในผืนป่าแก่งกระจาน
4. ขอให้ ทส.มีคำสั่งไปยังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องระงับการกระทำใด ๆ ที่จะเป็นการรบกวนสิทธิของชุมชนในเขตพื้นที่ไร่หมุนเวียนและชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั้งหมดในเขตผืนป่าแก่งกระจาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการจับกุมหรือดำเนินคดีกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงรายใดก็ตามให้ระงับการดำเนินคดีไว้ก่อน และตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงกับตัวแทนชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ไร่หมุนเวียนทำการตรวจสอบทบทวนทุกกรณี
//////////////////////////