Search

แม่น้ำอิง ฤดูกาล พื้นที่ชุ่มน้ำ ชีวิต

โดย สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    แม่น้ำอิง..สายน้ำที่ไหลย้อนขึ้นทางทิศเหนือสู่ลุ่มน้ำโขง แตกต่างจากทิศทางการไหลของแม่น้ำ ปิง-วัง-ยม-น่าน สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นัยยะสำคัญ-ข้อเท็จจริงในความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ คือส่วนสำคัญกับการสร้างประวัติศาสตร์ของบ้านของเมือง เป็นพื้นที่สำคัญของการรวบรวมความเป็นปึกแผ่นแห่งอาณาจักรล้านนา พื้นที่ราบลุ่มน้ำอิงนับหมื่น-นับแสนไร่ คือแหล่งผลิตข้าวปลาอาหาร ตั้งแต่ทุ่งดอกคำใต้ ทุ่งลอ-เวียงลอ  ทุ่งหลวง-เมืองเทิง ทุ่งน้ำแพร่ ถึงทุ่งสามหมอน-เมืองเชียงของ 

  

ภาพวาดโดยศิลปินกลุ่มสายน้ำกก เชียงราย โครงการอนุรักษ์แม่น้ำอิง RECOFTC

  ปลาหลากหลายสายพันธุ์ทวนน้ำจากแม่น้ำโขงเคลื่อนย้ายเข้าสู่ปากแม่น้ำอิง กลางฤดูฝนน้ำหลากล้นออกจากฝั่ง ความวิเศษของสายน้ำบนผืนดินราบลุ่มน้ำท่วมถึงเก็บกักน้ำเอาไว้ตามธรรมชาติตามชื่อเรียกของคนท้องถิ่นว่า บวก หลง หนองจำ ป่าข่อย-ชมแสง เมื่อวันเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงจากวิถีของผู้คน กับการพัฒนาที่หลงลืมอดีตสายน้ำ ดงป่า อดีตของบ้าน-เมือง สู่ความเจริญจากนิยามการพัฒนายุคปัจจุบัน ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์กำลังจะเปลี่ยนแปรไป อาจเป็นช่วงเวลาสำคัญกับการเรียนรู้อย่างเข้าใจธรรมชาติ จากภูเขาสู่ผืนดินราบลุ่ม จากต้นสายถึงปลายน้ำตามฤดูกาล-ชีวิต อันควรจะเป็น

1

จุดเริ่มต้นการสืบค้นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในยุคพญามังราย พญางำเมือง พญาร่วง 3 พระสหายลูกศิษย์พระฤาษีแห่งสำนักเมืองละโว้ ผู้ร่วมสร้างนพบุรีศรีนครพิงค์-อาณาจักรล้านนา หลังการดื่มน้ำสาบานตนว่าจะไม่รุกรานกันริมฝั่งแม่อิง 

    ขุนภู-แม่น้ำสายตา ในเขตแคว้นภูกามยาว ชื่อดั้งเดิมก่อนยุคสมัยการก่อเกิดอาณาจักรล้านนา เหตุจากความบาดหมางของพญางำเมือง กับพญาร่วง เรื่องราวทางการเมืองกับการขยายอำนาจอาณาเขต และเหตุของกิเลสตันหาภายใน พญามังรายในฐานะพระสหายเชื้อสายทาญาติ และผู้เรืองอำนาจในเวลานั้นต้องทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยเจรจา ทั้ง 3 พระสหายได้นัดหมายเดินทางไปพบเจอกันริมฝั่งน้ำขุนภู-แม่น้ำสายตา 3 พระสหายนั่งหลังพิงกันกล่าวปฏิญาณต่อกันว่าความบาดหมางกำลังนำไปสู่ความรุนแรงขอเป็นอันยุติก่อนดื่มน้ำสาบานตน หลัง “พิงกัน” แปลเป็นภาษาถิ่นมีความหมายถึง “อิงกัน” ชื่อของแม่น้ำจึงถูกสืบทอดในเวลาผ่านไปว่า “แม่น้ำอิง”

2

    กายภาพจากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ลุ่มน้ำอิงตอนปลายชายฝั่งโขง ลุ่มน้ำอิงมีพื้นที่ 7,238 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,523,750 ไร่ จากต้นน้ำจังหวัดพะเยา ถึงที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงราย รวมความยาวทั้งสิ้นจากการคำนวณล่าสุดโดยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 300 กิโลเมตร

    แม่น้ำอิงต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำในพื้นที่เขตอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ต้นน้ำแม่ใจ-ลำห้วยแม่ใจ ต้นทางสายแรกไหลลงสู่ที่ราบลุ่มหนองเล็งทราย พื้นที่รับน้ำ 6,000 ไร่เมื่อไหลออกจากหนองน้ำยังคงเป็นสายน้ำกว้างไม่ถึง 20 เมตร คือจุดเริ่มต้นของชื่อแม่อิงในปัจจุบัน ห่างออกไปราว 8 กิโลเมตร ก็ได้รับน้ำห้วยแม่ปืมจากดอยด้วน ไหลลงมาลงมาเติมเป็นสายที่สองก่อนไหลลงบึง หรือแอ่งรับน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่เรียกว่า “กว๊านพะเยา” อันหมายถึงน้ำแอ่งกวาดน้ำมาจากลำห้วย 12 สาย ในอดีตมีลักษณะเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติพื้นทีชุ่มน้ำ เป็นแอ่งรับน้ำที่มี บวก หนอง พรรณไม้น้ำหลากชนิด  กอ-พุ่มไคร้นุ่นดอกปุยขาว ดงไคร้นุ่นพืชโดดเด่นเป็นเจ้าถิ่นยังหลงเหลือให้เห็นเพียงหย่อมเล็กๆ

ภาพวาดโดยศิลปินกลุ่มสายน้ำกก เชียงราย โครงการอนุรักษ์แม่น้ำอิง RECOFTC

    พ.ศ.2482 เมืองพะเยาเริ่มเจริญเติบโตมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ภาคเกษตรกรรมก็บอกว่าขาดแคลนน้ำ ผนวกกับกรมประมงในเวลานั้นก็ต้องการที่จะทำสถานีสำหรับการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด จึงเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อสนองความต้องการโดยการสร้างทำนบกั้นน้ำ จากพื้นที่ราว 1,000 ไร่ มีชุมชนดั้งเดิมรายล้อม วัดโบราณ ได้ถูกขยับออกจากบริเวณกักเก็บน้ำ หลักฐานบางส่วนยังจมอยู่ใต้น้ำในเนื้อที่ 1,200 ไร่ ต่อมาใน ปีพ.ศ. 2534 ได้มีการปรับปรุงต่อเป็นเขื่อนกั้นน้ำแบบประตู ปิด-เปิด สร้างบันไดปลาโจนเป็นเขื่อนแห่งแรกในประเทศไทย ปริมาณน้ำถูกเก็บกักเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ไร่

    หลังการพัฒนาสิ่งที่ได้มาคือปริมาณน้ำที่ถูกเก็บกักได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นแต่สิ่งที่หายไปคือ หมู่บ้านเก่าความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากแม่น้ำโขง เราจึงพบเห็นเพียงแค่ปลาไม่กี่ชนิด ปลาได้มาจากการเพาะเลี้ยง เช่น ปลานิล ปลาใน ปลาจีน ไม่เห็นการใช้เครื่องมีจับปลาแบบดั้งเดิม ไม่เห็นคนพายเรือหาปลาพลุกพล่านดั่งเช่นภาพในอดีตดังปรากฏในหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ

    ก่อนตะวันลับหลังเขาหลวง ชุมชนสันแกลบดำ หมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กไม่ถึงสิบหลังอาจเป็น บ้านริมฝั่งติดเมืองยังคงเป็นความหวังของคนคิดถึงอดีต เรือหาปลาลำเล็กถูกผูกทิ้งแกว่งไกวโคลงเคลง ยังพอมีคนหาปลาแจวเรือกลับบ้านท่ามกลางแสงสีของเมือง 

    จากท้ายกว๊านพะเยา แม่น้ำอิงไหลผ่านอำเภอเมือง ดอกคำใต้ จุน เชียงคำ สิ้นสุดเขตจังหวัดพะเยา ไหลเข้าสู่พื้นที่ราบลุ่มผ่ากลางท้องทุ่งเวียงลอ เข้าเขตจังหวัดเชียงรายในเขตอำเภอป่าแดด เทิง ขุนตาล  ไหลลงแม่น้ำโขงที่บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ

3

    ความเคลื่อนไหวของชาวบ้านจากการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำสู่การปกป้องสายน้ำได้เริ่มต้นขึ้นราว ปีพ.ศ.2534 จากปัญหาความแห้งแล้งหลังยุคสัมปทาน และการลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็เกิดการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชนป่าต้นน้ำรอบกว๊านพะเยา ประกาศรวมตัวกับเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดพะเยาทำหน้าที่ปกป้องผืนป่า กันเขตป่าเพื่อแสดงจุดยืนในการดูแลรักษาจึงเกิดนิยามความหมายว่า “ป่าชุมชน” ร่วมขยายเครือข่ายในพื้นภาคเหนือตอนบน

    พ.ศ.2540 กรมชลประทานเสนอโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ผันน้ำ กก อิง น่าน นำไปสู่การรวมตัวของชาวบ้านต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลอย่างเท่าเทียม กระทั่งโครงการได้ยุติลงในระยะเวลาราว 5 ปี หลังผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งสามลุ่มน้ำ

    กระแสการอนุรักษ์ต่อเนื่องถึงการจัดการป่าชุมชน เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา พื้นที่ชุ่มน้ำ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ขยายพื้นรูปธรรมการอนุรักษ์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กระทั่งปัจจุบันรวมตัวกันในนาม “สภาประชนลุ่มน้ำอิง” กับภารกิจสร้างรูปธรรมด้านการอนุรักษ์ สร้างความเข้มแข็งขององค์การภาคประชาชน จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำอิงของชุมชน

    เขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชาย 10 จังหวัด สร้างแรงกระเพื่อมถึงพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง จังหวัดเชียงรายคือหนึ่งในพื้นที่ปฏิบัติการทางนโยบายในอำเภอแม่สาย เชียงแสน และเชียงของ พ.ศ.2558 พื้นที่ป่าริมน้ำ-พื้นที่ชุ่มน้ำ 3,706 ไร่ ถูกเสนอให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ ใช้พื้นทีสาธารณะเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุน 

    ชาวบ้านบุญเรืองในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่างแสดงตัวคัดค้านการทำลายป่า แลกกับเขตอุตสาหกรรมเกิดการเคลื่อนไหวทั้งในพื้นที่ชาวบ้านนอกพื้นที่ที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดอย่างเข้มข้น กลายเป็นการต่อสู้ยกระดับเป็นสาธารณะ ทำให้เครือข่ายลุ่มน้ำในนามสภาประชาชนก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว พร้อมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน จุดประกายให้สังคมได้เข้าใจในสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องของชาวบ้าน รับรู้เข้าใจป่านอกนิยาม-ระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำ

    หากสืบค้นความรู้เรื่องป่าในระบบนิเวศน์ของประเทศไทยก็จะพบว่าประเภทของป่านั้นได้แบ่งสังคมพืชออกเป็นสองประเภทคือ ประเภทไม่ผลัดใบมีความเขียวตลอดฤดู ซึ่งแบ่งออกอีก 7 ประเภท  ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าชายเลน  ป่าพรุ ป่าชายหาด ประเภทสองคือ ป่าผลัดใบ แบ่งออกอีก 3 ประเภท ป่าเบญจพรรณป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าหญ้าหรือป่าเสื่อมโทรม

4

ป่านอกนิยาม-ป่าริมน้ำ ป่าริมอิงคือป่าอัตลักษณ์พิเศษ อันเกิดจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศดินดอนปากแม่น้ำโขง เมื่อแม่น้ำสองสายบรรจบกันในระดับเดียวกันหรือแม่น้ำโขงยกระดับขึ้นสูงกว่า กระแสน้ำไหลย้อนกลับล้นออกจากชายฝั่งในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงในลุ่มน้ำอิงตอนล่างมวลของน้ำจากต้นน้ำรอบกว๊านพะเยา ลำห้วยสาขาตั้งแต่ท้ายกว๊าน-ป่าดอยยาว กว่า 90 สาย กลายเป็นระบบนิเวศน์ในรัศมี 5 กิโลเมตร สองฟากฝั่งแม่น้ำอิงตอนล่างตามความยาว 136 กิโลเมตร จากอำเภอเทิง พญาเม็งราย ขุนตาล เชียงของ บนเนื้อที่ 317,359 ไร่ ในอดีตอาจไม่เกินหนึ่งร้อยปีจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเคยมีป่าริมน้ำแม่น้ำผืนใหญ่ตลอดสองฝั่ง ซุกซ่อน บวก หลง หนอง จำ บันทึกในแผนที่มีมากถึง 400 แห่ง

    ปัจจุบันป่าริมน้ำเหลือกระจัดกระจายอยู่ 26 แปลง พื้นที่โดยรวมเหลืออยู่ไม่ถึง 10,000 ไร่ ยังอยู่ระหว่างการสำรวจของนักสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ นิเวศน์บริการ สังคมวัฒนธรรม การถูกเปลี่ยนแปลงสภาพ ความสำคัญที่ค้นพบ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ผสมพันธุ์วางไข่ของปลา-สัตว์น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยและพักหากินของนกประจำถิ่น นกอพยพ เป็นแหล่งอาศัยหากินของสัตว์ป่าหลายชนิดที่อาศัยลำห้วยเป็นเส้นทางเดินจากดอยยาว สะพานเชื่อมระหว่างป่าบกกับพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งสมุนไพร พื้นที่รับน้ำธรรมชาติ ชุมแสง-ข่อย-แซะ และไม้ยืนต้นอีกหลายชนิดเติบโตได้ในน้ำท่วมขังนานเกิน ๓ เดือน

    พบความหลากหลายของพันธุ์พืชกับไม้ยืนต้น 162 ชนิด  ปลา 112 ชนิด สัตว์ป่า เช่น เสือปลา อีเห็น ลิ่น กระรอก งูจงอาง ลิ่นชวา ผึ่ง ต่อ ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน 13 ชนิด สัตว์สะเทิ้นน้ำ-สะเทิ้นบก 13 ชนิด และตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของปลา นากใหญ่ธรรมดา นากใหญ่ขนเรียบ พบนก 63 ชนิด นกอพยพในฤดูหนาว 35 ชนิด นกประจำถิ่น 27 ชนิด

5

ป่าริมอิง-พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงตอนล่าง กับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำในระดับความสำคัญระหว่างประเทศ พื้นที่จะถูกกำหนดอาณาบริเวณให้เป็น “แรมซ่าร์ไซด์” ให้ได้รับการคุ้มครองสภาพ การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดตามวิถีดั้งเดิมของชุมชน

2 กุมภาพันธ์ 2511 มีการประชุมรับรองมติ ณ เมืองแรมซ่าร์ ประเทศอิหร่าน มีสมาชิกเข้าร่วม 167 ประเทศ มีเป้าหมายความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ และได้ขยายเป้าหมายกว้างถึงการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ตลอดถึงยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำโลก

ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เป็นสมาชิกลำดับที่ 110 ภายใต้เงื่อนไขต้องเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ 1 แห่ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งได้เสนอ พรุควนขี้เสี้ยน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เป็นแห่งแรกลำดับที่ 948 ของโลก และล่าสุดปีนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่างก็ได้รับการขึ้นทะเบียน ลำดับที่ 16 ของประเทศไทย

ระหว่างการทำงานตามขั้นตอนในการเสนอพื้นที่ขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ “ป่าบุญเรือง” จากป่านอกนิยามได้รับรางวัลระดับโลก Equatoy prize 2020 ของโครงการพัฒนาแห่งประชาชาติ ภายใต้หัวข้อ ธรรมชาติเพื่อชีวิต ให้ความสำคัญในการริเริ่มของชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากการต่อสู้ ปกป้องฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน 

ในขณะที่รัฐบาลไทยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่า ให้ได้ถึง 40% พื้นที่ป่าในลุ่มน้ำอิงนับจากป่าสงวนแห่งชาติ 34 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง เขตห้ามล่า 1 แห่ง ป่าขึ้นทะเบียนป่าชุมชนของกรมป่าไม้ 263 แห่ง พื้นที่กว่า 17,000 ไร่ รวมกันแล้วมีพื้นมากถึง 57% แต่ความสมบูรณ์ยังต้องได้รับการตรวจสอบ แต่ถ้าพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงตอนล่างได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ จัดประเภทป่าริมน้ำเป็นป่าที่มีอัตลักษณ์ใหม่หนึ่งเดียวของไทย หรือหายากในลุ่มน้ำโขง เราจะได้เนื้อที่ป่าในนิยามเพิ่มขึ้นพร้อมกับหัวใจสำคัญของอนุรักษ์คือคน คนในชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง อดทน เสียสละ คือคุณค่าทางจิตญาณในการปกปักษ์รักษามายาวนานหลายชั่วคน

————————–

เอกสารอ้างอิง : สถานภาพแม่น้ำอิง สผ. วว. พ.ศ. 2558 : ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอิง พ.ศ.2563

/////////////////////////////////////

หมายเหตุ-งานเขียนได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

On Key

Related Posts

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →

วัวควายเดือดร้อนถ้วนหน้าหลังน้ำกก-สายปนเปื้อนสารหนู-ใช้น้ำทำการเกษตรไม่ได้ “ครูแดง”แนะเร่งแก้ปัญหาต้นเหตุ “ดร.ลลิตา”เผยว้าตั้งหน่วยให้สัมปทานเหมืองแร่ จี้หารือทางการจีนช่วยปราม

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตRead More →

สนามรบในรัฐกะเหรี่ยงเดือด ทหารพม่าใช้เรือส่งกำลังพลเสริมทางแม่น้ำจาย หลังถูกปิดล้อมค่ายใหญ่ในเขตกอกะเร็ก KNUออกประกาศเตือนชาวบ้านเลี่ยงเดินทาง หวั่นตกเป็นเป้าทหารพม่า

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ชาวเมืองล่าเสี้ยวสุดเซ็ง ทัพโกก้างคืนเมืองล่าเสี้ยวให้ทัพพม่า-เล่นเกมอำนาจการเมืองกัน เปรียบเหมือนหมาแย่งบอลแต่ชีวิตชาวบ้านไม่มีอะไรเปลี่ยน

สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 19 เมษายน 25Read More →

ผู้เชี่ยวชาญหวั่นผลกระทบสารหนูในน้ำกก-น้ำสายกระจายตัววงกว้าง-รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รีบแก้ที่ต้นทาง ชี้เป็นสารพิษสะสมก่อเกิดมะเร็ง จี้ ทส.ตั้ง กก.เฝ้าระวัง-ตรวจผลอย่างน้อยทุกเดือน เจ้ากรมกิจการชายแดนทหารทำหนังสือประสานพม่าร่วมแก้ไข

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวRead More →