สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ย่ำเมืองทวาย ย่ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ (จบ)

dawei1

สิ่งที่ทำให้พวกเราประทับใจและกลับมาเมืองทวายเป็นรอบที่ 2 นอกจากเรื่องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแล้ว ยังมีเรื่องความรู้สึกประทับใจบรรยากาศความเป็น “ทวาย”อีกด้วย

 

ตอนเช้าๆเรามักได้ยินเสียงรถม้าวิ่ง “กั๊บ กั๊บ” ผ่านโรงแรมเล็กๆที่เราพักอยู่เพื่อมุ่งหน้าไปยังตลาดสด แม้ปีนี้รถม้าจะลดจำนวนลงไปมาก แต่ก็ยังพอมีเสียง “กั๊บ กั๊บ”ให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่ภาพที่หายไปจากปีก่อนมากกว่านั้นคือวัวเทียมเกวียนที่ชาวบ้านแถบชานเมืองใช้บรรทุกข้าวของมาขายในเมืองและซื้อกลับไปหมู่บ้าน แม้จะมีเสียงยืนยันจากชาวบ้านว่ายังพอมีอยู่บ้างในตอนเช้ามืด แต่เดินทางไปครั้งนี้ พวกเราไม่เห็นเลย นอกจากตอนขับรถไปนอกเมืองที่ยังเห็นภาพชาวบ้านใช้วัวเทียมเกวียนอยู่บ้าง

 

“เมื่อก่อนมีรถม้ารับจ้างเยอะ แต่เดี๋ยวนี้หายไปมาก เขาหันไปใช้มอเตอร์ไซสามล้อกันหมด”ลุงเซตะ คนขับรถม้า อธิบายการหายไปของเพื่อนร่วมอาชีพ แกอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆห่างจากเมืองไปราวครึ่งชั่วโมง พอรุ่งเช้าแกและเพื่อนๆอีก 6 คนก็จะขับรถม้าเข้ามารับจ้างในเมืองทวาย ตกบ่ายก็ขับกลับ

 

“ขับรถม้ามันไม่สะดวกเหมือนขับมอเตอร์ไซ เราต้องฝึกม้าตั้งแต่ตัวเล็กๆ จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยงขวาก็ต้องส่งสัญญาณให้ม้ารู้ ในหมู่บ้านของลุงเขาฝึกม้ากันเกือบทุกบ้าน เราถนัดใช้รถม้ามากกว่าอย่าอื่น แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีมอเตอร์ไซเข้าไปแล้ว” ผู้เฒ่าเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมทวาย ทุกๆวันแกมีรายได้เฉลี่ยราว 3,000-4,000 จั๊ต หรือคิดเป็นเงินไทยตกวันละ 90-120 บาท ซึ่งแกบอกว่าพออยู่ได้สบายๆเพราะไม่ค่อยได้ใช้จ่ายอะไร

ลุงเซตะไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำสิ่งต่างๆรอบๆตัวแกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาภายหลังจากที่รัฐบาลพม่าปรับเปลี่ยนนโยบายคบหากับต่างประเทศ

 

แกไม่รู้ว่าเสียง “กั๊บ กั๊บ”ที่แกควบอยู่บนถนนในเมืองทวายนั้นมีเสน่ห์เพียงใด โดยเฉพาะในสายตาของคนภายนอก และน่าใจหายเพียงใดที่รถม้าซึ่งอยู่คู่เมืองทวายมายาวนาน กำลังกลายเป็นแค่เพียงอดีต

 

นอกจากรถม้าแล้ว สภาพบ้านเรือนของชาวทวายเป็นอีกหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือเป็นบ้านไม้สองชั้นหลังคาทรงปีกนกที่ข้างหนึ่งเหยียดยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง มีลวดลายต่างๆตามประตูและหน้าต่างสะท้อนความเป็นตัวตนและศิลปกรรมในอดีตของชุมชนแห่งนี้

dawei2

เมื่อความเปลี่ยนแปลงโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว บ้านเรือนทรงทวายถูกรื้อทิ้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและถูกแทนที่ด้วยอาคารพาณิชย์หรือบ้านทรงสมัยใหม่ที่ทำจากปูนซีเมนต์

 

มนต์สเน่ห์ของเมืองทวายกำลังถูกกัดกร่อนไปตามกาลเวลา เพียงแต่ช่วงจังหวะนี้ค่อนข้าง“แรง”และ “เร็ว” เนื่องจากมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจกระแทกเข้ามา

 

ดินแดนแถบทวายเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ซึ่งมีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายที่ถูกทอดทิ้งกระจัดกระจายอยู่แถวชานเมือง

 

คณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย ใช้ช่วงเวลาที่เหลืออีก 1 วันในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณคดีของทวาย โดยมี “ซอทูระ” อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยทวายเป็นผู้อธิบายเรื่องราวต่างๆ

 

“ที่ผ่านมารัฐบาลพม่าไม่ยอมให้มีการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือพูดถึงอดีตอันรุ่งเรืองของชาวทวายและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพราะเขาหวาดระแวงเกรงว่าจะกลายเป็นปมความขัดแย้ง ผมเลยต้องแอบศึกษาเอาเอง” อาจารย์ซอทูระตอบข้อสงสัยของพวกเราที่เห็นแกจบด้านจิตวิทยา แต่กลับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี “ในมหาวิทยาลัยทวายไม่มีอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์โดยตรงหรอกครับ”

 

อาจารย์ซอทูระพาพวกเราตระเวนไปยังจุดต่างๆ ที่เป็นแหล่งโบราณคดี เช่น พระราชวังเก่า กำแพงเมืองเก่า เจดีย์โบราณ ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนอดีตอันรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนี้

 

หลังจากรัฐบาลพม่าปรับเปลี่ยนทิศทางของประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้อาจารย์ซอทูระทำงานง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องคอยหลบๆซ่อนๆศึกษาประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณคดีต่างๆ

 

“โชคดีที่เมื่อมีก่อนมีหน่วยงานราชการยินยอมให้เราศึกษาและสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งได้มีการจัดทำเสาปูนบอกสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี” นักประวัติศาสตร์ทวายทำงานได้สะดวกขึ้น เขาได้จัดตั้งศูนย์แห่งหนึ่งสำหรับรวมรวมข้อมูลและเก็บชิ้นส่วนโบราณวัตถุไว้ในตู้ ซึ่งจากหลักฐานทำให้เขาเชื่อว่าดินแดนแห่งนี้คืออาณาจักรโบราณ “ธาการะ”ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 2 พันปีก่อนยุคพุกามซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์พม่าเสียอีก

 

“ผมเองก็อยากถามนักการเมืองและนักลงทุนเหมือนกัน ว่าพวกคุณจะพัฒนาเมืองทวายกันอย่างไร มาบอกกันบ้างซิ พวกเราเองก็อยากรักษาวัฒนธรรมเก่าแก่ของเรา มานั่งล้อมวงคุยกันก่อนดีมั้ย ก่อนที่จะนำพาทวายไปทางใดทางหนึ่ง ผมอยากทวงถามถึงความโปร่งใสเพื่อให้ทุกคนได้รู้ได้เห็นร่วมกัน ประวัติศาสตร์ของที่นี่ถูกเพิกเฉยมายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว” อาจารย์ซอทูระ กังวลใจเกี่ยวกับพัฒนาเมืองทวายให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกับภาคประชาคมทวาย

 

ในเย็นก่อนกลับที่พัก พวกเราได้กลับไปนั่งชมบรรยากาศชายทุ่งริมถนนต้นตาล ซึ่งเมื่อปีที่ก่อนเคยแวะไปรอบหนึ่งแล้วทำให้ยังรู้สึกประทับใจไม่หาย

 

ถนนหลายเส้นที่ออกจากเมืองทวาย มีต้นตาลใหญ่ยืนเรียงรายเป็นแถวยาวเหยียดยืนตลอดสองข้างทาง โดยต้นตาลแต่ละต้นมีอายุไม่น้อย เราพยายามถามถึงที่มาที่ไปและเหตุผลในการใช้ต้นตาลเป็นไม้ริมทาง แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นสมัยใด มีเพียงข้อสันนิฐานต่างๆเท่านั้น

 

ภาพวัวเทียมเกวียนและรถม้าวิ่งบนถนนต้นตาลผ่านทุ่งนาเขียวชอุ่มเป็นเหมือนฉากในนิยายยุคก่อนของเมืองไทยที่หาดูไม่ได้อีกแล้ว แต่กลับมีให้เห็นในยุคนี้ที่เมืองทวาย

 

ถนนต้นตาลสายที่พวกเราประทับใจและต้องกลับมาแวะนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “ช้าหม่าเย” หรือถนนสุขภาพ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่คนทวายใช้วิ่งหรือเดินออกกำลังกาย

 

ตลอดแนวถนนช้าหม่าเย มีเพิงเล็กๆของชาวบ้านที่ใช้ขายเครื่องดื่มต่างๆ รวมถึง “น้ำตาลเมา” ผลิตภัณฑ์โอท็อปจากต้นตาลของคนย่านนี้ โดยเขาใส่น้ำตาลสดไว้ในกระบอกไม่ไผ่ขนาดใหญ่ เมื่อจะดื่มก็รินใส่แก้วไม้ไผ่

 

อาจารย์ซอทูระเล่าว่า เมื่อปีก่อนหลังจากพวกเราเดินทางกลับไม่นานได้เกิดน้ำท่วมใหญ่บนถนนเส้นนี้ หลังจากกลับสู่ภาวะปกติ รัฐบาลมีนโยบายขยายถนนโดยต้องตัดต้นตาล แต่ชาวบ้านไม่ยอมและร่วมกันคัดค้านพร้อมยื่นคำขาดว่า หากตัดต้นตาลแม้แต่ต้นเดียวก็จะร่วมกันประท้วง ในที่สุดรัฐบาลจึงยอมถอย

 

“ต้นตาลมีความผูกพันกับคนทวายมานาน ผมเกิดมาก็เห็นถนนต้นตาลแบบนี้แล้ว ชาวบ้านพยายามร่วมกันรักษาเอาไว้ หากตายไปสักต้นเขาจะรีบปลูกใหม่ทันที” อาจารย์ซอทูระขยายความวิถีของคนทวายและต้นตาล

 

ค่ำแล้วเสียงไวโอลีนจากเมืองไทยกับกีตาร์จากทวายยังประสานขับกล่อมผู้คนบนถนนต้นตาล ความงดงามอันหลากหลายของ “ทวาย”ตั้งแต่ทะเลไปยันภูเขา ตั้งแต่อดีตนับพันปีมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามมากมาย โดยเฉพาะคำถามใหญ่ที่ว่า “ควรแล้วหรือที่ดินแดงแห่งนี้ถูกพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก”

===============================

โดย โลมาอิรวดี

.

 

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →