เมื่อวันที่24 กันยายน 2563 ที่ศาลปกครองสงขลา ชาวบ้านจาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา เดินทางมาฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาให้ยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นชายหาดมหามหาราชซึ่งเป็นโครงการ เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศชายหาดอย่างรุนแรง แต่ปรากฎว่า กลุ่มสนับสนุนการสร้างเขื่อนกั้นคลื่นชายหาดมหาราชเดินทางมาเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ฟ้องคดีขอให้มีการพูดคุยกันก่อน อย่าพึ่งฟ้องศาลปกครอง แต่กลุ่มผู้ฟ้องไม่ยินยอม ยืนยันยื่นฟ้องศาล
นายนิธิวัฒน์ ชินพงศ์ ตัวแทนประชาชนมหาราช ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กล่าวว่า การฟ้องศาลปกครองให้ยุติโครงการมีผู้สนับสนุนการฟ้องคดีครั้งนี้ จำนวน 218 คนโดยได้ยื่นฟ้องคดี กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมเจ้าท่า เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขาสงขลา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4
นายนิธิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สืบเนื่องจาก กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายฝั่งทะเล(เขื่อนกั้นคลื่นชายหาด) พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสิทงพระ ระยะที่ 1 ความยาว 92 เมตร ระยะที่ 2 ความยาว 1,102 เมตร และระยะที่ 3 ความยาว 550 เมตร รวมทั้งสิ้น 1,744 เมตร โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบขั้นบันได พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ริมชายหาดมหาราช ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว ผู้ฟ้องคดี มีความเห็นว่าโครงการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเชิงเนื้อหา และเชิงกระบวนการ
นายนิธิวัฒน์กล่าวว่า ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงเนื้อหา เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง และเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องกระทำ อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่คุณภาพของสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของชุมชนยิ่งกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ และขัดต่อหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน
“ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงกระบวนการ คือการดำเนินการโครงการมีความบกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ และรอบด้าน โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เข้าข่ายต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือจัดทำรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีลักษณะเป็นการสร้างโครงสร้างแข็งยื่นลงไปในทะเลที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทะเล ชายหาด และส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านด้านน้ำของโครงการ”นายนิธิวัฒน์ กล่าว
ด้านนายวิชัย เเก้วนพรัตน์ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 กล่าวว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์ รักษา และคุ้มครองทรัพยากรหาดทราย แต่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ มีหน้ามีหน้าที่พิทักษ์รักษา คุ้มครองทรัพยากรหาดทรายไม่ให้เกิดความเสียหาย เสื่อมโทรม และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งจากโครงสร้างแข็ง
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ศาลปกครองสงขลาว่า ทางชาวบ้านกลุ่มผู้ฟ้องคดีเดินทางมาที่ศาลปกครองสงขลาช่วงประมาณ 13:00 น หลังจากนั้นกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนได้ขับรถตามเข้ามาในบริเวณศาลปกครองโดยมีรถประมาณ 8-9 คันและมีคนราว 40-50 คนโดยเมื่อกลุ่มสนับสนุนลงจากรถได้มีการเป่านกหวีดพร้อมชูป้ายสนับสนุนโครงการ หลังจากนั้นได้เข้ามาคุยกับชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านและกำลังเตรียมยื่นฟ้องศาลโดยขอเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ต้องการให้ฟ้องคดี แต่ได้รับการยืนยันว่าไม่คุยด้วยและเดินหน้าฟ้องคดี หลังจากนั้นชาวบ้านก็เดินเข้ามายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา
เวลาประมาณ 16.00น.หลังจากชาวบ้านยื่นฟ้องศาลปกครองสงขลาโดยมีคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน แต่ศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเนื่องจากศาลต้องรับฟังคู่กรณีอีกฝั่งก่อน