กะ โลนทา (Kalonetar) ตั้งอยู่บนที่ราบกลางหุบเขาปลายเทือกตะนาวศรี เขตเมืองทวาย ประเทศพม่า มี 179 หลังคาเรือน ประชากรราว 900 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในและนอกหมู่บ้านเต็มไปด้วยสวนผลไม้และไร่นาอันอุดมสมบูรณ์
เป็นหมู่บ้านต้นแบบของชุมชนที่มีความรักในถิ่นกำเนิดและสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างจากชาวบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
ต่างกันตรงชาวสะเอียบปักหลักอย่างมั่นคงจนสามารถยับยั้งโครงการเขื่อนแก่งเสือ เต้นได้สำเร็จ แต่ชาวกะโลนทาเพิ่งเริ่มต้นปฐมบทของการพิทักษ์ผืนป่าและวิถีชีวิต
ตาม แผนงานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย จะมีการสร้างเขื่อนพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้ากั้นแม่น้ำตะไลยา (ไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีลงสู่ทะเลอันดามัน) เพื่อป้อนท่าเรือน้ำลึก และนิคมฯ
ปี 2554 ทางการส่งหนังสือแจ้งให้ชาวกะโลนทาลงชื่อยินยอมอพยพออกจากพื้นที่รอบแนวอ่างเก็บน้ำ แต่ชาวบ้านไม่ยอม
ปี 2555 ส.ส.ทวาย ตัวแทนบริษัทไทย ตัวแทนพรรครัฐบาล และตำรวจเข้ามาเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน แต่พวกเขาไม่ยอมอพยพ พร้อมชูป้าย “No Dam” ต่อต้านขณะเจรจา
หลัง จากโดนต่อต้าน เรื่องเขื่อนจึงเงียบไป เหลือเพียงการนำเครื่องจักรเข้ามาตัดถนนสายทวาย-กาญจนบุรี กว้าง 200 เมตร ทีแรกเส้นทางอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก จู่ๆ ต้นปี 2556 บริษัทเกิดเปลี่ยนแนวใหม่จากเส้นตรงเป็นโค้งเข้าหาหมู่บ้าน เส้นทางใหม่แยกเรือกสวนไร่นากับหมู่บ้านออกจากกัน
เดือนเมษายน 2556 ชาวบ้านพากันไปขัดขวางเส้นทางใหม่ หัวหน้าคนงานไม่ยอม เรื่องถึงตำรวจ ระหว่างนั้นนายอำเภอ เจ้าหน้าที่รัฐ ตัวแทนบริษัทผลัดกันมาเจรจาหลายรอบ บ้างเสนอว่ามีถนนแล้วจะมีบ้านใหม่ มีโรงเรียนใหม่ จะพัฒนาอะไรให้ แต่ทุกครั้งที่มาไม่พูดเรื่องค่าชดเชย ยื้อกันถึงเดือนพฤษภาคม บริษัทจึงยอมชะลอเส้นทางใหม่
หลายคนสงสัยว่า นี่เป็นแผนกดดันชาวบ้านหลังต่อต้านเขื่อนหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้ใช้ทั้งวิธีข่มขู่ แจ้งความ และเกลี้ยกล่อมชาวบ้านหัวอ่อน 56 ราย ยอมลงชื่อมาแล้ว
บุคคลสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังการต่อสู้อย่างเข้มแข็งของชุมชน จนสามารถยับยั้งแผนการยึดหมู่บ้านคือ หลวงพ่อเปียงยา โวสะ เจ้าอาวาสวัดกะโลนทา วัย 49 ปี
หลวงพ่อเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว ร่วมวางแผน คิดวิธีต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ตั้งคณะทำงานปกป้องชุมชน, ปล่อยบัลลูน No Dam ขึ้นสู่ฟ้า, เขียนคำร้องแนบรายชื่อชาวบ้าน 375 คนส่งถึงทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อยับยั้งเขื่อน ฯลฯ
บางช่วง ชาวบ้านท้อถอย ท่านก็ช่วยปลุกปลอบขวัญ จนกระทั่งตัวเองโดนขู่แจ้งความดำเนินคดี โดนร้องคณะสงฆ์เขตเมืองทวายให้จัดการฐานละเมิดวินัย แต่หาได้ทำให้หลวงพ่อย่อท้อไม่
นั่นเป็นเพราะท่านตีความหน้าที่ ภิกษุในคำสอนทางพุทธศาสนาว่ามีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ดูแลคนในโลก 2.หน้าที่ต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน มิใช่มีแค่กิจของสงฆ์ข้อเดียว
“ใน ยุครัฐบาลทหาร ชาวบ้านไม่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง เราต้องช่วยตัวเองทุกอย่าง ทำให้ทุกคนหวงแหนทุกอย่างที่นี่ หมู่บ้านเป็นของชาวบ้าน เพราะสร้างมากับมือ อย่ามาขับไล่กัน…ถ้าเป็นที่เมืองไทย ชาวบ้านต่อสู้เองได้ เพราะมีประชาธิปไตย แต่ที่นี่พระต้องช่วยชาวบ้าน”
หลวงพ่ออธิบายให้คณะสื่อมวลชนเข้าใจ เมื่อถามถึงเหตุผลการเป็นแกนนำ
หลวง พ่อนักอนุรักษ์เกิดที่กะโลนทา เป็นเด็กวัดตั้งแต่อายุ 9 ขวบ พออายุ 13 ปี บวชเณรที่นี่ เมื่ออายุ 16 ปี บวชเป็นพระ เรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ในเมืองทวาย จนอายุ 26 ปี เข้าเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ในเมืองหงสาวดี จบชั้นพระครูแล้วจำพรรษาที่วัดในเมืองย่างกุ้งอยู่ 6 ปี ก่อนกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดกะโลนทา
นอกจากนำชาวบ้านต่อต้านเขื่อน แล้ว หลวงพ่อยังเป็นแกนนำพัฒนาชุมชน เช่น สร้างถนนหนทาง ขยายโรงเรียนจากระดับประถมเป็นมัธยม จัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ ฯลฯ โดยไม่ได้พึ่งพาเงินรัฐแม้แต่จ๊าดเดียว
วันนี้…กะโลนทามีผู้นำ อย่างหลวงพ่อเปียงยา โวสะ มีชาวบ้านที่หวงแหนสายน้ำ ผืนป่า และเรือกสวนไร่นา จึงสามารถปักหลักต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนได้อย่างเข้มแข็ง
เพื่อรักษาทุกสรรพสิ่งที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชนให้อยู่อย่างสงบสุขมายาวนาน และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
===================================
โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ปีที่ 36 ฉบับที่ 12894 มติชนรายวัน