
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ศาลาประชาคม อำเภอปากชม จังหวัดเลย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเชื่อมร้อยองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและเครือข่ายประชาชน เพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงและโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

นายวีรศักดิ์ จันทร์วิไล ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือองค์กรชุมชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมล้อม กล่าวว่า มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนติดตามและส่งเสริมเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน และมีโอกาสติดตามการพัฒนาบนแม่น้ำโขง ทั้งการสร้างเขื่อนและอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการประมงของชาวบ้าน โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทรัพยากรธรณีที่จะให้ข้อมูลด้านแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวบ้านในพื้นที่สร้างเขื่อนมีข้อกังวลมากรวมถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้ามาให้ข้อมูล
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) กล่าวในหัวข้อ “การพัฒนาลุ่มน้ำโขงของประชาชน” ว่า แม่น้ำโขงจะเกิดประโยชน์หากการพัฒนาเป็นไปเพื่อประชาชน โดยยึดหลักสิทธิชุมชนและมีอัตลักษณ์เป็นแม่น้ำของประชาชน แม่น้ำโขงถูกทำลายเพราะว่า รัฐเป็นเจ้าของโดยเอกชนคิดว่าเอาเงินมาซื้อได้ กลายเป็นแม่น้ำโขงถูกทุบทำลายและทำร้ายโดยประชาชน ทั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและGMS ไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องแม่น้ำโขงเลย
“สิ่งที่เราต้องยืนยันคือต้องทำให้ระบบกรรมสิทธิชุมชนทั้งลุ่มน้ำ ที่ดิน ทะเล ชายฝั่งและสินแร่ต่าง ๆ อีสานมีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งอาหาร สินแร่ทองคำ โปแตช ปิโตรเลียม แต่ถูกตราหน้าว่าแห้งแล้งมาตลอด ทรัพยากรเหล่านี้ต้องถูกจัดการแบบระบบสิทธิชุมชน ไม่ควรมีใครมีอำนาจมาจัดการว่าเป็นทรัพยากรของส่วนบุคคล การตัดสินใจการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนอย่างแท้จริงนั่นคือสิทธิการมีชีวิตอยู่”อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าว
นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายในการจัดการลุ่มน้ำโขงต้องมาจากประชาชนในวิถีของประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชนต้องอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันได้ ต้องมีการบูรณาการจัดการ สถาบันวิชาการมีความสำคัญเพื่อการจัดการกันเอง การพัฒนาโดยภาคประชาชน ต้องทำงานอยู่ 3 อย่าง คือตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง รวมกันด้านสิทธิชุมชน และต้องทำการศึกษาองค์ความรู้วิชาการตลอดทั้ง 7-8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเพื่อผลักดันนโยบายรวมกันกับหน่วยงานรัฐทำให้เกิดรูปธรรมในทางปฏิบัติ
ดร.วชิราภรณ์ กำเนิดเพ็ชร ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่าเดิมมีการปรับปรุงข้อมูลลุ่มน้ำจาก 25 ลุ่มเหลือเพียง 22 ลุ่ม และหลักเกณฑ์การคัดสรรตัวแทนประชาชนกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ และกำลังมีอนุกรรมการลุ่มน้ำจังหวัดซึ่งจะสามารถทำให้จังหวัดทำงานได้ง่ายมากขึ้นโดยมีสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชน 4 คน และมีผู้ว่าราชการฯ เป็นประธาน ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาโครงการต่าง ๆ และเสนอแผนตให้อนุกรรมการระดับจังหวัดวิพากษ์วิจารณ์ก่อน
ดร.วชิราภรณ์กล่าวว่า ส่วนของต่างประเทศคือ ฝ่ายเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โอนมาจากกรมทรัพยากรน้ำปี 2562 มีงานหลายส่วนคือ งาน PNPCA กรณีมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน ที่ผ่านไปแล้วคือ กรณีเขื่อนหลวงพระบาง และต่อมาคือ เขื่อนสานะคาม และทางสทนช.เรายืนยันชัดเจนว่า รายงานทางเทคนิคนั้นเก่ามาก 10 ปี มีการตีคืนข้อมูลกลับไปขอให้มีการศึกษาใหม่ ขณะที่ทางลาวยืนยันว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการเขื่อนสานะคาม แต่ทางไทยยืนยันว่า ไม่สามารถจัดเวทีได้ และกำลังคัดง้างกันอยู่

“ตอนนี้ในไทยยืนยันชัดว่า เราจะไม่จัดเวที PNPCA เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ ภารกิจที่ได้รับคือ รายงานศึกษาปี 2557 เรื่องผลกระทบติดตามตรวจสอบ TNMC Study เนื่องจากจะมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทั้งก่อนและหลังการสร้างเขื่อน มีการศึกษารายปี จนปี 2562 และยืนยันชัดเจนว่า มีการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ทั้งการผันผวนของระดับน้ำ ปลาลดลง และการกัดเซาะตลิ่ง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ สิ่งที่เรายังไม่ฟันธงว่ามาจากเขื่อนหรือไม่ เพราะเขื่อนพึ่งเปิดดำเนินการ 1 ปี สภาพลำน้ำสาขาก็มีส่วน ปริมาณฝนที่ตกก็มีผลต่อระดับน้ำที่ผันผวน แต่ระดับน้ำที่ผันผวนก็มาจากการบริหารจัดการเขื่อนจริงๆ”ผู้แทน สทนช. กล่าว
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่ากรมทรัพยากรธรณีเคยมีการศึกษาในลาว จริง ๆ แล้วรอยเลื่อนแผ่นดินไหว เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ มีข้อเท็จจริง รอยเลื่อนของเปลือกโลกทั้งมีพลังและไม่มีพลัง ถ้ามีพลังจะมีตำแหน่งที่ตื้นมากประมาณ 10 กิโลเมตรจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก ในเขตอุตรดิตถ์มีรอยเลื่อนที่มีพลัง แต่รอยเลื่อนในเลยทางหน่วยงานยังไม่มีข้อมูล และปี 2565 จะสำรวจในพื้นที่จังหวัดเลยเพื่อทำรายงานการศึกษาขุดร่องสำรวจ ล่าสุดคือเกิดแผ่นดินไหวใกล้โรงไฟฟ้าหงสา โดยทุนไทยไปทำถ่านหินลิกไนต์ มีแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์กว่าๆ แรงสั่นสะเทือนทำให้เสียหายเยอะ
ผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า นอกจากนี้ในพื้นที่ของลาวยังพบรอยเลื่อนปากลาย ใกล้กับเขื่อนปากลายและเขื่อนปากชม ในลาวคือ รอยเลื่อนเมืองเม็ดซึ่งแถบนั้นลาวมีแผนการสร้างเขื่อน ใกล้สุดคือรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ เกิดแรงขนาด 7 ได้ สถิตการเกิดขึ้นที่จังหวัดเลย โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ในจังหวัดเลยมีข้อมูลแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ขนาด 3.4- 3.9 ริกเตอร์ ซึ่งเราตั้งชื่อว่ารอยเลื่อนเลย ซึ่งเป็นแนวเส้นตรงที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าขนานกับแม่น้ำเลยไปถึงตรงปากแม่น้ำเลย
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า กรณีโครงการโขงเลยชีมูล จุดยืนของตนคือ ถ้าใช้น้ำตามศักยภาพที่มีอยู่ ฝนตกเท่าไหร่ มีน้ำท่าเท่าไหร่ ใช้เท่านั้น ต้องใช้อย่างคุ้มค่า และต้องมีส่วนร่วมทุกระดับ ตั้งแต่วางแผน การตัดสินใจ การรับผิดชอบ โดยระหว่างราชการและชาวบ้านต้องติดตามร่วมกัน ถ้าจะผันน้ำข้ามลุ่ม หมายความว่า ลุ่มน้ำนั้นมีวิกฤติที่สุดถึงจะผัน วันนี้เราต้องการผันน้ำโขงไปใช้ในลุ่มน้ำชีมูล เราเคยคิดว่าจะได้ชลประทาน 21 ล้านไร่ มีเขื่อนในลำน้ำชีและมูล 13-14 ตัว แต่ได้พื้นที่เพียง 5 แสนไร่ โดยลงทุนไปแล้วถึง 20,000 ล้านบาท
นายหาญณรงค์กล่าวว่า กรณีรายงานฉบับใหม่ระบุว่า จะได้มีพื้นที่ชลประทาน 31 ล้านไร่ ในระยะ 12 ปีโดยใช้งบ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งคำนวณต้องใช้น้ำ 62,000 ล้านลบ.ม. โดยเขื่อนลำปาวจุน้ำได้ 1.6 พันล้านลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน 3.4 แสนไร่ ตอนนี้มีน้ำอยู่เพียง 2,000 ล้านลบ.ม. แต่ยังไม่มีตัวเลขพื้นที่ชลประทาน รายงานของสทนช.และรายงานกมธ. ไม่มีระบุผลกระทบเรื่องดินเค็มเลย และกรณีการสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก เพื่อให้น้ำไหลจากแม่น้ำโขงเข้าไปในแม่น้ำเลย และยังไงต้องมีการก่อสร้างเขื่อนปากชม กั้นแม่น้ำโขงเพื่อดันน้ำให้เข้าอุโมงค์ ถ้าหากต้องเอาน้ำกว่า 60,000 ล้านลบ.ม. คิดว่าประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างคือเวียดนามและกัมพูชา จะยอมหรือไม่ จะคิดถึงเขาบ้างหรือไม่
“ต้องถามว่าจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงได้หรือไม่? จะผันได้ปีละกี่เดือน? กรณีโครงการเขื่อนศรีสองรัก เมื่อสร้างแล้วค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำในการชลประทาน ใครจะเป็นผู้จ่าย? กรณีการเพิ่มพื้นที่ชลประทานในอีสาน มันจะเพียงพอไหม ในฐานะคนไทย ผมคิดว่าเราต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน ประชาชนต้องมีความรู้และข้อมูลเท่าทันกับราชการเพื่อที่เราจะต้องมีส่วนร่วมด้วย ประเด็นใหญ่ของอีสานคือดินเค็ม และการขุดอุโมงค์มันจะผ่านโดมเกลือหรือไม่ หรือจะต้องจัดการอย่าไร หากพบเกลือ จะต้องจัดการอย่างไร ผมพึ่งทราบว่า โครงการโขงเลยชีมูลทำ EIA เสร็จแล้ว”นายหาญณรงค์ กล่าว
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า ปรากฎการณ์แม่น้ำโขงแตกต่างจากแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีต้นกำเนิดเดียวกันโดยเกิดการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงมาก ขณะที่แม่น้ำสาละวินยังไหลอิสระและไม่มีการสร้างเขื่อนเลย เราจะทำความเข้าใจเรื่องปริมาณน้ำ โครงการสร้างเขื่อน การผันน้ำ แผ่นดินไหว วิธีบริหารจัดการแม่น้ำโขง จึงอยากชวนติดตามแง่มุมการสร้างเขื่อนซึ่งเป็นอำนาจทางการเมือง
ดร.ชยันต์ กล่าวว่าการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนล่างมีการผลักดันกันหนักมาก ตอนนี้ทั้งไทย ลาว พยายามจะสร้างเขื่อนเพิ่ม ในขณะที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยสูงมากถึง 50 % การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงนั้นเกินความต้องการและเราจะใช้ไฟฟ้าทำอะไร และพลังงานจากแหล่งอื่นก็สามารถทดแทนได้ การสร้างเขื่อนกลายเป็นสัญลักษณ์การพัฒนาเพราะถึงผลประโยชน์
“พี่น้องประชาชนต้องมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดชะตาชีวิตมีความจำเป็นของชีวิต ต้องมีเวทีแบบนี้เรื่อยๆ และต้องมีรายละเอียด และข้อมูล ต้องมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและให้ชาวบ้านมาซักถามได้ เพื่อให้ประชาชนได้ซักถามได้มากขึ้น” ดร.ชยันต์ กล่าว
นายประพันธ์ ภาชู ตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอราษีไศล ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราศีไศล กล่าวว่าเราสูญเสียที่ดิน วัฒนธรรมเสียหาย และทรัพยากรหมด วิถีชีวิตเราเป็นชาวประมงอย่างเดียว เพราะว่าน้ำเยอะ ค่าชดเชยที่เราได้ 32,000 บาท ก็ไม่ได้ช่วยชีวิตให้เราดีขึ้น ถ้ามีการสร้างเขื่อนแล้ว มันไม่ยั่งยืน จัดการไม่ได้ เสียหายมาก แม้รัฐจะมีการฟื้นฟู แต่เป็นเงินเพียงนิดเดียว ไม่อยากให้มีการสร้างเขื่อนอีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในเวที ประชาชนที่มาเข้าร่วมได้มีการตั้งคำถามจำนวนมาก เช่น เขื่อนปากชม เป็นหนึ่งในโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูลหรือไม่ หากมีการสร้างเขื่อนปากชมจะส่งผลกระทบต่อพรมแดนไทย-ลาวอย่างไร ผลประโยชน์ของเขื่อนปากชมใครจะได้ประโยชน์ เพราะพลังงานไฟฟ้าสำรองมากเกินกว่า 50 %แล้ว ทำไมถึงไม่หาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ หากมีความเสียหายชาวบ้านจะได้รับความเยียวยาอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ก่อนปิดการประชุมชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านประกาศเพื่อแสดงจุดยืนว่าจะร่วมกันปกป้องแม่น้ำโขงท่ามกลางภัยคุกคามจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
////////////////////////////