Search

เผยตรวจพบโควิดในแรงงานข้ามชาติอื้อเหตุรัฐไร้ระบบสุ่มตรวจตั้งแต่ต้น นักวิชาการหวั่นแผนขึ้นทะเบียน-ตรวจเชื้อลูกจ้างผิดกฎหมายเหลว ชี้ค่าใช้จ่ายสูง-ประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ประเทศไทยเปิดเผยว่า ได้รับการประสานงานจากแกนนำแรงงานข้ามชาติในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร ว่ารู้สึกสับสนในตัวเลขยอดผู้ที่ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด- 19 เพราะทางการใช้ยึดเอาแต่ตัวเลขเป็นกลุ่มก้อน ขณะที่คนงานในบริเวณดังกล่าวได้กระจายกันอยู่ในหลายๆแห่ง นอกจากนี้ยังมีครอบครัวทั้งภรรยาและลูกเล็กด้วย ทำให้แยกไม่ออกว่าใครเป็นผู้ป่วย ใครได้รับเชื้อหรือใครที่ไม่ได้รับเชื้อ

ผู้ประสานงาน MWRN กล่าวว่า ในจังหวัดสมุทรสาคร มี 7 พื้นที่ที่ราชการตั้งเป้าตรวจคัดกรอง แต่ละพื้นที่ใช้วิธีจัดคิว ใครไปก่อนได้ตรวจก่อน และตรวจในจำนวนจำกัด โดยแรงงานข้ามชาติที่เดินออกมาส่วนใหญ่อยู่อย่างถูกต้อง ส่วนคนที่ทำงานไม่ถูกกฎหมายก็ไม่กล้าออกมาเพราะไม่กล้าแสดงตน เนื่องจากกลัวถูกจับ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าแรงงานนอกระบบเหล่านี้ต่างมีผู้ติดตาม โดยเฉพาะลูกหลาน เด็กๆ จำนวนมากที่อยู่ตามศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ

“ล่าสุดเห็นจัดหางานจังหวัด ทำโปสเตอร์ ให้หยุด ไม่จับ แต่ห้ามเคลื่อนย้าย คนงานเห็นก็ผวาแล้ว การที่จะให้คนงานข้ามชาติเดินออกมาแสดงตน ควรเร่งประชาสัมพันธ์ด้วยที่เขาเข้าใจว่าเราจะตรวจคัดกรองทุกคนและคนที่ออกมาไม่มีความผิด แต่ไปขึ้นป้ายเช่นนี้พวกเขาไม่อยากมาหรอก ยิ่งมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานคอยยืนดู โดยเฉพาะตำรวจ ก็ยิ่งไม่มีใครกล้าแสดงตน” น.ส.สุธาสินี กล่าว

น.ส.สุธาสินีกล่าวว่า ยังไม่เห็นนโยบายเชิงรุกในพื้นที่ของราชการสักเท่าไหร่ ประกันสังคมที่จะจ่ายให้คนตกงาน 90 วัน แต่ปัญหามันจะยืดเยื้อยาวนานกว่านั้นหรือไม่ จริงๆแล้วประกันสังคมควรขยายสิทธิเรื่องการป้องกัน โดยให้ผู้ประกันตนตรวจหาเชื้อได้ แต่ล่าสุดโทรไปถามโรงพยาบาลที่ทำประกันตนไว้ เจ้าหน้าที่บอกว่าแค่รักษาให้ตอนป่วย ตอนนนี้คนงานเดือดร้อนกันมากเพราะถูกนายจ้างบังคับให้ตรวจโควิด หลังหยุดปีใหม่ โดยนายจ้างจะจ่ายค่าตรวจให้ก่อน แล้วหักเอาจากค่าจ้าง กลายเป็นการเพิ่มภาระให้ลูกจ้าง คนละ 4 พันกว่าบาท

ผู้ประสานงาน MWRN กล่าวว่าคนงานข้ามชาติจำนวนมากเขาไม่เคยได้รับการตรวจตั้งแต่รอบแรก ตอนนี้เมื่อทางการมาตรวจจึงพบทีละเยอะ ที่น่ากังวลสำหรับแรงงานในสมุทรสาคร คือ มีแรงงานจำนวนไม่น้อยถูกสั่งพักงานตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด บางส่วนถูกกักตัว ซึ่งถ้าเป็นโรงงานใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเขาดูแลกันดี แต่สถานประกอบการเล็กๆ เช่น แกะกุ้ง ตัดหนวดหมึก เมื่อหยุดงานก็ไม่มีรายได้ คนเหล่านี้หาเช้ากินค่ำ ทำให้ต้องพยายามหาถุงยังชีพไปแจกเพื่อให้ประทังชีวิตอยู่รอด ดังนั้นรัฐบาลควรมองในจุดนี้ด้วย ในเมื่อรัฐบาลห้ามพวกออกนอกพื้นที่ และหน่วยงานราชการเองก็ยังเข้าไม่ถึงเพราะราชการมักเข้าไปในเฉพาะพื้นที่ที่เป็นข่าวหรือพื้นที่ดังๆ เช่น ตลาดกุ้ง แต่บริเวณโดยรอบซึ่งมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่อีกมากกลับเข้าไม่ถึง ล่าสุดเมื่อมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ออกมา ทำให้พวกตนไม่กล้าไปแจกถุงยังชีพ เพราะกลัวว่าจะผิดกฎหมายตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก.

ในวันเดียวกัน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย คณะผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงราย นำโดยนายสืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าหารือกับจัดหางานจังหวัดเชียงราย เพื่อหารือแนวทางการทำงานร่วมกันในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่ผ่อนผันให้คน 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่

นายสืบสกุล กล่าวว่าศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงรายจะผลิตคลิปภาษาเมียนมา เพื่อกระจายความเข้าใจ นอกจากนี้ภายหลังจากที่กรมการจัดการงานจัดทำระบบการลงทะเบียนแบบออนไลน์เสร็จเรียนร้อยแล้ว ศูนย์ช่วยเหลือฯจะได้มีการประสานงานให้จัดหางานจังหวัดเชียงรายฝึกอบรมให้ผู้นำของศูนย์ช่วยเหลือมีความสามารถในการลงทะเบียนออนไลน์เป็น ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือให้แรงงานข้ามชาติในจังหวัดสามารถลงทะเบียนได้อย่างทั่วถึง ขณะที่จัดหางานจังหวัดอยู่ระหว่างการทำสื่อประชาสัมพันธ์ 4 ภาษาเพราะต้องลงทะเบียนออนไลน์ โดยจะมีการลงทะเบียนแรงงาน 3 สัญชาติที่อยู่ผิดกฎหมายในวันที่ 15 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ 2564 รวมถึงผู้ติดตาม ทั้งที่อยู่แบบผิดกฎหมาย แบบมีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง ซึ่งรัฐบาลจะไม่เอาผิด แต่ต้องขึ้นทะเบียนในระยะเวลาที่กำหนดและต้องตรวจสุขภาพ 16 เมษายนเพื่อตรวจหาโควิดและโรคต้องห้าม 6 โรคพร้อมทั้งซื้อประกันสุขภาพ แรงงานข้ามชาติที่มีนายจ้างก็ทำบัตรอนุญาตทำงาน ส่วนคนที่อยู่ผิดกฎหมายต้องหานายจ้าง นั่นหมายความว่าจะแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่อยู่ผิดกฎหมายให้ขึ้นอยู่บนดิน ทำให้จัดระบบการจ้างงานใหม่ และเปิดโอกาสให้ทำงานถูกกฎหมายได้ รวมถึงให้การจัดระบบสุขภาพได้เข้าถึง

“มีเรื่องข้อน่ากังวล คือการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอาจจะไม่ทั่วถึง นอกจากนี้การลงทะเบียนออนไลน์จะยุ่งยากหรือสะดวกแค่ไหน พวกเราจะส่งอาสาสมัครช่วยหน่วยงานรัฐในการทำความเข้าใจ โดยผลิตคลิปและจัดทีมช่วยเหลือเรื่องลงทะเบียนออนไลน์ ที่น่าเป็นห่วงคือมีค่าใช้จ่ายยังสูงเกินไป เช่น ค่าตรวจโควิดประมาณ 3,200 บาท ค่าประกันสุขภาพ 3,200 บาท ค่านั่นค่านี้อีก รวมๆ แล้วแรงงานต้องจ่ายคนละร่วม 7,000 บาท เรากลัวว่าแรงงานจะเข้าไม่ถึง ตอนนี้ที่เชียงรายมีนายหน้ามาแจ้งกับแรงงานแล้วว่า หากจ่ายเงินให้เขาหัวละ 12,000-13,000 บาท เขาจะจัดการขึ้นทะเบียนออนไลน์และประสานงานขั้นตอนต่างๆให้หมด หากเป็นเช่นนี้ก็ยิ่งสร้างภาระให้แรงงาน ดังนั้นหัวใจสำคัญคือระบบลงทะเบียนต้องไม่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายควรลดลงมาอยู่ในระดับที่คนงานรับได้” นายสืบสกุล กล่าว

เมื่อถามว่ากำหนดที่จะตรวจสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติคือตั้งแต่วันที่ 16 เมษายนเป็นต้นไป ช้าเกินไปหรือไม่ นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า จริงๆแล้วภายหลังจากการลงทะเบียนในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ สาธารณสุขควรเข้าไปตรวจในทันที ไม่ต้องรอตามกำหนด ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมไทยมากกว่า

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →