สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

อาเซียนบ้านนอก[asean baannog] – โลกุตระของพระอาเซียน

พระนักพัฒนาที่ควรค่าแก่การกราบไหว้
พระนักพัฒนาที่ควรค่าแก่การกราบไหว้

เงื้อมผาและเทือกเขาสูง คือสองข้างทางที่รถของเราไต่ไปตามถนนสายเล็กๆ หลังออกจากตัวเมืองทวายมาไม่นานนัก

 

แลลงไปเบื้องล่างหุบเขาไกลลิบตา สายน้ำงดงามเลื้อยคดเคี้ยวคล้ายการเคลื่อนตัวของพญานาคา เลาะไปตามหุบป่าผาหิน เพื่อนชาวพม่าที่นำทางในครั้งนี้บอกชื่อแม่น้ำสายนี้ว่า

“แม่น้ำตาไลน์ยาร์”[Talineyar] เป็นลำน้ำสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำทวาย จากนั้นตามมาด้วยเรื่องราวเดิมๆในชะตากรรมของสายน้ำ นั่นคือมีโครงการที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายนี้ เพื่อนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

 

ระหว่างทางเราจึงได้เห็นตัวหนังสือเขียนว่า NO DAM อยู่ตรงผาหิน นึกอยู่ว่าหากเป็นช่วงที่การเมืองประเทศพม่าหรือเมียนมาร์ยังไม่คลี่คลายอย่างทุกวันนี้ จะมีโอกาสเห็นจารึกโนแดม

อย่างที่เห็นเด่นชัดอยู่นี่หรือไม่

 

ด้วยโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำงดงามสายนี้ จึงนำพาให้ฉันกับเพื่อนร่วมทางนั่งรถตู้โขยกเขยก ไต่เทือกเขาสูงชัน โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่หมู่บ้านกะลนท่า[Kalontar] หมู่บ้านซึ่งจะได้รับผลกระทบหากมีเขื่อนเกิดขึ้น ณ สายน้ำนี้

 

 

เมื่อเข้าสู่เขตหมู่บ้านกะลนท่าสิ่งที่สะดุดสายตาฉันเป็นอันดับแรก คือต้นหมากที่สูงชะลูดขึ้นฟ้าจนต้องแหงนคอตั้งบ่า ดูเหมือนจะแทบทุกบ้านที่มีบริเวณกว้างพอเขาจะปลูกต้นหมากคละกับต้นไม้อื่นๆ ทำให้บริเวณบ้านร่มครึ้มชวนรื่นรมย์ สวนผสมผสานลักษณะนี้ทำให้คิดถึงสวนสมรมหรือสวนพ่อเฒ่าทางภาคใต้บ้านเรา พ่อเฒ่าแม่เฒ่าจะปลูกต้นไม้คละกันหลายชนิดรวมถึงต้นหมาก ล้วนแต่เป็นต้นไม้ที่ใช้อยู่ใช้กินในชีวิตประจำวัน

 

บ้านแต่ละหลังของกะลนท่าล้วนแต่หลังใหญ่มั่นคง บ่งบอกถึงวันเวลาที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้มาอย่างยาวนาน

 

ก่อนที่จะแวะเวียนชมรอบหมู่บ้าน พวกเราตรงดิ่งไปยังวัดกะลนท่าศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเป็นเบื้องแรก ซึ่งหลังจากได้ฟังพระอาจารย์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสเล่าเรื่องราวหลากหลาย ฉันคิดว่านอกจากเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นกองบัญชาการประจำหมู่บ้านอีกด้วย

 

นั่นเพราะเมื่อรู้ว่าจะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำและจะมีผลกระทบต่อหมู่บ้านแห่งนี้ รวมถึงมีประธานเขตเศรษฐกิจพิเศษกับเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาพยายามให้ชาวบ้านและพระเซ็นเอกสาร เพื่อให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ พระอาจารย์จึงขึ้นไปสำรวจเหนือน้ำพร้อมกับทำแผนที่เสนอให้บริษัทสัมปทานการก่อสร้างย้ายที่ก่อสร้างเขื่อน เป็นทางเลือกว่าควรจะสร้างเขื่อนตรงที่ใดเพื่อไม่ให้น้ำท่วมหมู่บ้าน แต่บริษัทไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ ทั้งยังพยายามเข้ามาแบ่งแยกชาวบ้านออกเป็นสองฝ่าย กระทั่งเจ้าอาวาสต้องเชิญชาวบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อประสานรอยร้าว

 

พระอาจารย์ได้เชิญผู้อาวุโสและผู้ที่ชาวบ้านนับถือมาจัดตั้งเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน และเริ่มประชุมพูดคุยกับชาวบ้านซึ่งเริ่มหวั่นวิตกกับโครงการสร้างเขื่อน โดยทีแรกชาวบ้านรู้เพียงว่าจะมีการตัดถนนใกล้หมู่บ้านเพื่อไปเชื่อมต่อกับถนนที่จะตัดไปจังหวัดกาญจนบุรีของไทย

 

กระแสการสร้างเขื่อนที่กระพือความพรั่นพรึงให้ชาวบ้านมาแรมปีเริ่มเงียบเข้ากลีบเมฆ แต่มีปัญหาใหม่ให้ชาวบ้านเผชิญ นั่นคือการตัดถนนที่จะเชื่อมไปยังหลักกิโลเมตรศูนย์ ถนนจะตัดเข้ามาใกล้หมู่บ้านมากขึ้นเพื่อย่นระยะทาง และอาจจะผ่าแยกหมู่บ้านระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยกับพื้นที่ทำสวนทำไร่ออกจากกัน อีกทั้งการตัดถนนบนภูเขาอาจทำให้เกิดดินถล่ม นี่เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่พระกับชาวบ้านพยายามต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมของตัวเอง

 

ฉันฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่นี่แล้วพาให้คิดถึงชาวบ้านไทยที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้ วิธีการมันช่างไม่แตกต่างกัน ราวกับจบหลักสูตรเดียวกันมา เมื่อเกิดโครงการสร้างเขื่อนหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ก่อผลกระทบสูง ก็จะมีคนพยายามเข้าไปล่าลายชื่อชาวบ้านให้ยินยอมพร้อมใจย้ายออกจากพื้นที่ เมื่อไม่สำเร็จก็จะมีคนพยายามแบ่งแยกชาวบ้านออกเป็นสองฝ่าย มีการกดดันคุกคามนานารูปแบบ และไม่เคยเข้ามาปรึกษาหารือชาวบ้าน ไม่เคยมีข้อมูลแท้จริงให้ชาวบ้าน

 

การต่อสู้ของชาวบ้านก็ไม่ต่างกันนัก นั่นคือรวมตัวยืดหยัดให้มั่นคง ยืนยันว่าจะไม่ย้ายและไม่ขอรับค่าชดเชยใดทั้งสิ้น

หมู่บ้านกะลนท่า Kalontar
หมู่บ้านกะลนท่า Kalontar

 

“ตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารครองอำนาจประเทศพม่าอย่างยาวนาน ชาวบ้านต้องดิ้นรนกันเอง ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ชาวบ้านจึงหวงแหนหมู่บ้าน “ เจ้าอาวาสกล่าว

 

นอกจากเป็นผู้นำคัดค้านเขื่อนและการตัดถนนผ่านหมู่บ้าน พระอาจารย์ยังเป็นนักพัฒนาตัวฉกาจน์ ทั้งสร้างถนน สร้างอาคารเรียนใหม่ และช่วยจัดตั้งโรงเรียนเพิ่มระดับการศึกษาสูงขึ้น จากมัธยมต้นไปมัธยมปลายจนถึงเตรียมมหาวิทยาลัย ทุกอย่างพระอาจารย์ร่วมสร้างทำกับชาวบ้านโดยไม่ใช้งบประมาณจากรัฐ

 

“ทุกอย่างในหมู่บ้านชาวบ้านสร้างมากับมือไม่ใช่ของรัฐ เพราะฉะนั้นรัฐไม่มีสิทธิมาสั่งการ”

 

ประโยคดุเด็ดเผ็ดมันที่ออกมาจากพระสงฆ์รูปหนึ่ง เร้าใจหลายคนให้ใคร่รู้ว่าวิธีคิดและความหาญกล้าของท่านว่ามีแรงบันดาลใจหรือใครเป็นแบบอย่างหรือไม่ แล้วเราก็ได้รับคำตอบชัดเจนว่า ได้มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเองมิใช่ใดอื่น

 

 

คำสอนในโลกุตระธรรมที่เจ้าอาวาสมาตีความว่า ข้อแรกพระต้องมีหน้าที่ต่อโลกและผู้คน ซึ่งถูกต้องแล้วที่พระอาจารย์ต้องออกมานำหน้าชาวบ้านปกปักษ์รักษาวิถีชีวิตตนเอง ข้อสองพระต้องมีหน้าที่ต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ก็เข้าทางในสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่เช่นกัน และข้อสุดท้ายพระต้องมีหน้าที่ต่อตัวเอง นั่นคือการปฏิบัติกิจของสงฆ์มิให้ขาดตกบกพร่อง

 

ทั้งหมดนั้นคือการตีความโลกุตระธรรมของพระสงฆ์ ในยุคทุนอาเซียนรวมเป็นหนึ่ง

 =============================

โดย จิตติมา  ผลเสวก

On Key

Related Posts

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →

กองทัพ KNDF-KNPP ยึดพื้นที่รัฐคะเรนนีได้ 90% โดยเฉพาะหลายเมืองติดชายแดนไทย ส่วนทัพโกก้างเริ่มฟื้นฟูเมืองเล่าก์ก่ายหลังสงครามสงบชั่วคราว ขณะที่ทัพอาระกันรุกคืบพื้นที่-กลไกรัฐยะไข่ราชการหยุดทำงาน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 สำนักข่าว Myanmar Now แRead More →

ชาวบ้านสามพร้าวยื่นหนังสือ 4 หน่วยงาน เผยถูกรัฐขับไล่ออกจากที่ทำกินกว่า 500 ไร่ เตรียมสร้างวิทยาลัยแพทย์ เคยร้องเรียนตั้งแต่ปี 65 ไร้ความคืบหน้า หวังเร่งแก้ปัญหาเยียวยาผลกระทบ

วันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลากลางจังRead More →