Search

ติงค่าใช้จ่ายสูง-เข้าไม่ถึงระบบออนไลน์-ประชาสัมพันธ์ไม่ลึก หวั่นจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติยุคโควิดเหลว รัฐบาลดีเดย์ 15มค.-13 กพ.เปิดออนไลน์ ชำระค่าใบอนุญาตที่เคาน์เตอร์ 7-11

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 15 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2564 นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง  และคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้างแจ้งข้อมูลบุคคล  ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th เป็นขั้นตอนแรก เพื่อเข้าสู่กระบวนการ ตรวจสุขภาพ/ซื้อประกันสุขภาพ  ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต่อไป รวมถึงคนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานและผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี  

นายสุชาติกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด  รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมกับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จากภายนอกประเทศ 

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า สำหรับขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แบ่งเป็น 2 กรณี โดยกลุ่มแรกกรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้ 1.แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวโดยให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ซึ่งต้องแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน 2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ โดยให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า 3.ยื่นคำขออนุญาตทำงาน โดยให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และ4.จัดทำทะเบียนประวัติ โดยให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง  โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564   

นายสุชาติกล่าวว่า  กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้ 1. คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th  2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ  3.จัดทำทะเบียนประวัติ  4.คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน โดยให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th  5.ปรับปรุงทะเบียนประวัติ  โดยคนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564    

“นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด  สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10  หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit  หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ”อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า การลงทะเบียนในวันที่ 15 มกราคมนั้น ขณะนี้แรงงานข้ามชาติยังกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายกว่า 9,000 บาท ซึ่งแต่ถ้าบวกกับนายหน้าหากต้องใช้บริการก็สูงกว่า 10,000 บาท ที่สำคัญตัวระบบออนไลน์สำหรับลงทะเบียนนั้น ต้องผ่านระบบคอมพิวเตอร์และไม่สามารถกรอกผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ดังนั้นหากเป็นเป็นนายจ้างขนาดเล็กก็ต้องผ่านระบบนายหน้า นอกจากนี้ยังต้องกรอกเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแรงงานทำเองได้ยาก ขณะเดียวกันยังมีความสับสนของแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่พลาสปอร์ตกำลังจะหมดอายุว่าจะมาขึ้นทะเบียนครั้งนี้อีกหรือไม่

“ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจูงใจให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมาบนดินได้ การควบคุมโรคจะลำบาก สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ 1.ดึงคนที่อยู่ในระบบไว้ให้ได้คือหากยังไม่พร้อมตรวจโรค ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน รัฐควรขยายการต่ออายุให้พวกเขาไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 เลย 2.แรงงานข้ามชาติกลุ่มใหม่ที่อยากให้ขึ้นทะเบียนครั้งนี้ ควรปรับฟังก์ชั่นใช้กับมือถือให้ได้และลดค่าใช้จ่ายลงอีกเพราะค่าตรวจโควิดประมาณ 3 พันบาท ไม่ควรให้คนงานตรวจเอง และยังแพงเช่นเดียวกับค่าประกันสุขภาพที่บังคับให้ซื้อ 2 ปี รวม 3.2 พันบาทซึ่งควรลดลงได้อีก”นายอดิศร กล่าว และว่าการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐในครั้งนี้ ยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควร และส่วนใหญ่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อไทยที่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึง

ด้านน.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ยากที่แรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบจะมีเงิน 9 พันบาทเป็นค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน และส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งนายหน้าทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และการจะไปเข้าระบบออนไลน์ก็ไม่รู้จะไปที่ไหน และส่วนใหญ่ไม่รู้เข้าอย่างไร เท่าที่ได้ลงพื้นที่พบว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ลงลึกให้แรงงานข้ามชาติได้รับทราบ

“แรงงานข้ามชาติที่อยู่ใต้ดินเขาเข้าสู่ระบบออนไลน์ของรัฐบาลเองไม่ได้หรอก ควรมีอาสาสมัครเข้าไปทำงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ไม่เช่นนั้นคนงานก็ตกเป็นเหยื่อของนายหน้า ตอนนี้พวกเขากำลังสับสน เขาไม่เข้าใจว่ากรณีผู้ติดตาม เช่น เป็นเด็ก หรือคนแก่ จะต้องทำอย่างไร”น.ส.สุธาสินี กล่าว

————————-

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →